xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนธุรกิจดาวเทียม 'มิว สเปซ' (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรายุทธ เย็นบำรุง
ใครหลายคนอาจมองว่าการทำธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทยไม่มีความหวัง เพราะการทำธุรกิจต้องผูกติดอยู่กับการกำกับดูแลของภาครัฐที่หาความแน่นอนได้ยากเย็นยิ่งนัก แต่คงไม่ใช่กับบริษัทน้องใหม่อย่าง "มิว สเปซ" ที่มีความเชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ไกลไปถึงนอกอวกาศ

ธุรกิจของ มิว สเปซ เริ่มจากการที่เช่าดาวเทียมต่างชาติมาทำธุรกิจ และเริ่มขยายไปสู่การสร้างดาวเทียมของตนเองในอนาคต รวมถึงแผนในการเป็นบริษัทเอเชียบริษัทแรกที่จะพาคนไปท่องอวกาศด้วย

*** เริ่มจากดาวเทียม 2 ดวง

บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2560 โดยมี "วรายุทธ เย็นบำรุง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เป็นผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียมแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และภาคธุรกิจต่างๆในประเทศไทย เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สัญญาณโทรศัพท์มือถือ และการออกอากาศ ประกอบกิจการ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจด้านดาวเทียม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล พาร์ค และธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ

ก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคม 2560 เขาได้ลงนามกับบริษัท Blue Origin ในการส่งดาวเทียมสื่อสารของ มิว สเปซ ไปกับจรวด New Gienn ในปี 2563 และลงนามกับบริษัท SES และ Hughes บริษัทดาวเทียมในการสนับสนุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในพื้นที่ชนบท ภายใต้สัญญาดังกล่าวทำให้มิวสเปซมีดาวเทียม 2 ดวง คือ SES-8 ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติลักเซมเบิร์ก และ ดาวเทียม SES-12 ในการให้บริการด้านบรอดแคสและอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการเช่าระยะสั้นเพียง 5 ปี ต่อครั้ง เท่านั้น รวมทั้งยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ในการสร้างแล็ปวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ

ทั้งนี้ บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่สาม แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเอง เป็นระยะเวลา 15 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเดือนตุลาคม 2560 จึงได้ลงนาม ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพหุภาคีว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุน โครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ สถาบันไอโอที ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในเดือน กันยายน 2560 และทำสัญญาการเช่าใช้สถานีดาวเทียมและการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการเพื่อประโยชน์สาธารณะและบริการสังคม ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในเดือนพฤศจิกายน 2560

***มีแผนสร้างดาวเทียมเอง

ทว่าดาวเทียมสองดวงที่มีอยู่ เป็นการเช่าครั้งละ 5 ปี เปรียบเสมือนการเช่าคอนโดมีเนียมไปทำธุรกิจต่อ ทำให้ บริษัทได้จับมือเป็นพันธมิตร กับ บริษัท SES บริษัทให้บริการดาวเทียมจากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อเช่าคลื่นความถี่ดาวเทียม วงโคจรตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก อีกดวงหนึ่งซึ่งมีระยะเวลาในการเช่าต่อครั้ง 15 ปี เปรียบเสมือนการเช่าที่ดินเพื่อไปทำธุรกิจต่อ

โดยดาวเทียมดวงดังกล่าวจะสามารถให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทย ซึ่งการทำตลาดในแต่ละประเทศนั้นต้องขึ้นอยู่กับพันธมิตรในประเทศนั้นๆ ว่าจะสามารถเปิดสัญญาณได้เมื่อไหร่ ส่วนในประเทศไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอการเปิดสัญญาณจากกระทรวงดีอี ก่อน คาดว่าจะสามารถเปิดได้ภายในไตรมาสสามปีนี้

สำหรับการทำตลาด จะเริ่มที่การทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ด้านโทรคมนาคมก่อน โดยจะเน้นให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ ผ่านดาวเทียม ซึ่งมองว่าเป็นตลาดที่กำลังเติบโตปัจจุบันอัตราการการเติบโตของฐานผู้บริโภคในธุรกิจการให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์มือถือในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น โดย มิว สเปซ มีความพร้อมที่จะให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

อีกทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น โปรแกรมดิจิทัล แอปพลิเคชั่น เทคโนโลยี 5G ไอโอที (IoT) รวมถึงดาวเทียมสื่อสาร ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปบริษัทจะทำตลาดกับผู้บริโภคเอง ด้วยการทำสินค้า IoT เอง โดยการจับมือกับ "ควอลคอมม์" ในการทำงานร่วมกัน
ภายใน 5 ปี (2561-2565) บริษัทจะส่งดาวเทียมสื่อสารของตนเอง
ทั้งนี้จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าประชากรทั้งหมดในประเทศกัมพูชา ลาว มาเลเซีย พม่า เวียดนาม และไทย มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น269ล้านคน โดยที่ 42% ของจำนวนประชากรดังกล่าว หรือประมาณ113ล้านคน เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และมีการลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง359ล้านเลขหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวเลขจากรายงานดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือนั้นมีจำนวนมากกว่าจำนวนประชากรโดยรวมของทั้ง6ประเทศเสียอีก

สำหรับในประเทศไทยมีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือถึง120ล้านเลขหมาย ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของจำนวนประชากร69ล้านคนในประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในด้านส่วนแบ่งการตลาดของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้ก้าวตามไปด้วย มีเพียงแค่ 48% ของประชากรไทย หรือเพียง33ล้านคนเท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

ในอนาคต มิว สเปซมีแผนที่จะให้บริการmobile backhaulผ่านโครงข่ายดาวเทียม รวมทั้งการให้บริการด้านระบบการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์ (Broadcasting Communication System) และการให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น มิว สเปซยังมีแผนที่จะสนับสนุนการให้บริการผ่านโครงข่ายดาวเทียมด้วยการให้บริการอย่างเชี่ยวชาญ ฝึกอบรม รวมไปถึงบริการแบบเบ็ดเสร็จ (Turn Key) พร้อมกับการดำเนินงานด้านเครือข่ายที่เป็นoutsourceรวมทั้งการดำเนินงานในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) สำหรับการสร้างเครือข่ายสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ด้วย

วรายุทธ กล่าวว่า ดาวเทียมสื่อสาร สามารถใช้คลื่นได้ทั้งย่าน 3,500 MHz หรือ คลื่น 28,000 MHz ซึ่งโอเปอเรเตอร์สามารถใช้ดาวเทียมเป็น backhaul ในการให้บริการ 5G ได้ ดังนั้นในระยะยาวบริษัทมีแผนจะขยายการเช่าดาวเทียมดวงนี้ต่อไปอีก 15 ปี และหากรัฐบาลต้องการมีดาวเทียมเป็นของประเทศไทย ก็สามารถมาเช่าใช้ผ่านบริษัทได้

"ภายใน 5 ปี (2561-2565) บริษัทจะส่งดาวเทียมสื่อสารของตนเองที่จะครอบคลุมการให้บริการในพื้นที่เอเชีย แปซิฟิก และแอฟริกา โดยยังใช้โมเดลธุรกิจเดิมคือให้ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นคนจองวงโคจร"

***ให้บริการดิจิทัล พาร์ค

นอกจากธุรกิจการให้บริการดาวเทียมแล้ว มิว สเปซ ยังมีโครงการในดิจิทัล พาร์คโดยในปี 2560ที่ผ่านมา มิว สเปซได้ลงนามในข้อตกลงที่จะสร้างสถานีดาวเทียม (Teleports) และ ศูนย์ควบคุมดาวเทียมในพื้นที่ดิจิทัล พาร์คของประเทศไทย และในปี 2561มิว สเปซได้มีเป้าหมายที่จะสร้างศูนย์ ปฏิบัติการเพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมและอวกาศในพื้นที่ของทรู ดิจิทัล พาร์ค อีกด้วย

เมื่อโครงการดิจิทัล พาร์ค ประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นศูนย์รวมทางด้านข้อมูลในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ประกอบไปด้วย อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เคเบิลใต้น้ำ รวมถึงเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ขนาดใหญ่ อีกทั้ง ดิจิทัล พาร์ค แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีทางดิจิทัลแห่งแรกในประเทศไทย และยังเป็นพื้นที่ที่ริเริ่มระบบทดสอบ (Testbed) และการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล (Adoption) รวมถึงเทคโนโลยี IoT (Internet of Things)และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ภายใต้พื้นที่ 960,000ตารางเมตรในจังหวัดชลบุรี

ในขณะที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค นั้น กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2561 โดยมีพื้นที่ทำงาน Co- working space พื้นที่ให้บริการสำหรับภาคผู้ประกอบการ ภาคนวัตกรรม รวมถึงพื้นที่ในการจัดกิจกรรม และพื้นที่สำหรับการให้บริการทางธุรกิจ บนพื้นที่ขนาด 77,000 ตารางเมตร ในกรุงเทพมหานคร

*** พาคนออกนอกโลกรายแรกในเอเชีย

นอกจากนี้ ยังมีแผนให้บริการการท่องเที่ยวอวกาศ ซึ่งเป็นเป้าหมายทางธุรกิจในระยะยาวของมิว สเปซเช่นกัน ในขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศยังเป็นตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียนั้น มิว สเปซได้ตั้งเป้าในการเป็นบริษัทเอเชีย บริษัทแรกที่สามารถส่งมนุษย์ไปอวกาศในเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ มิว สเปซยังอยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อพัฒนาชุดนักบินอวกาศและถุงมือเพื่อใช้ในอวกาศอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น