xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคเคลียร์คำถามคาใจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลายสิ่งที่กำลังเป็นข้อสงสัย ดีแทค ไม่ว่าจะประมูลคลื่นความถี่หรือไม่ ลูกค้าจะซิมดับหรือเปล่า ไหนจะเรื่องคลื่นรบกวนบีทีเอสอีกว่าจริงหรือไม่ เรื่องเหล่านี้จะทำให้ดีแทคถอดใจออกจากตลาดในประเทศไทยเลยไหม 'ประเทศ ตันกุรานันท์' รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค นั่งโต๊ะ เคลียร์คำถามคาใจ ผ่านรายการ คนเคาะข่าว ทางช่อง NEWS1 กันให้คลายความสงสัย

*** กสทช.ปรับเกณฑ์ประมูลเป็นอย่างไร

เกณฑ์ใหม่ที่ กสทช.ปรับ คือคลื่น 1800 MHz แบ่งเป็น 9 ใบอนุญาตๆละ 5 MHz นั้น เราต้องบอกว่าการตัดสินใจท้ายสุดอยู่ที่บอร์ดของบริษัท ส่วนในทางผู้บริหารเราก็จะนำเกณฑ์ใหม่นี้มาวิเคราะห์ ว่าคุ้มค่า ว่าควรจะร่วมประมูลหรือเปล่า ก่อนเสนอบอร์ดต่อไป จึงไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ถ้ามีคลื่นเยอะก็ดี เพราะสามารถทำอะไรได้มากกว่า แต่สิ่งที่ได้มามันคุ้มค่าหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์

การแบ่งใบอนุญาตเป็นใบละ 5 MHz เป็นเรื่องดี เหมือนที่เราเคยเสนอให้ กสทช. เพราะใบใหญ่คนที่เป็นรายเล็กจะเข้าไม่ได้ เพราะต้องซื้อเหมา และเกินความต้องการ การได้คลื่นไม่ติดกัน ในเชิงเทคนิค การสร้างโครงข่ายอาจจะยุ่งยากนิดหน่อย แต่เมื่อครั้งที่แล้วที่มีการประมูลคลื่น 1800 MHz ก็มีเรื่องคลื่นฟันหลอ แต่เราเชื่อว่าก็มีการช่วยกัน ดีแทคก็เช่นกัน เรายอมจัดคลื่นให้ เพื่อให้กสทช.มีคลื่นที่ติดกัน และผู้ประกอบการเองก็คุยกันได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็น การปรับของกสทช.เป็นการปรับครั้งแรกเพื่อให้มีผู้ให้บริการเข้าร่วมประมูล

ครั้งนั้นที่เราไม่เข้าร่วมประมูล 1800 MHz เพราะดีแทคยืนยันว่ามีคลื่นเพียงพอนั้น เพราะเรามีคลื่นไฮแบนด์ เยอะ คือ 2100 MHz จำนวน 15 MHz เป็นใบอนุญาต และ เราได้จาก ทีโอทีคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 MHz เอาไว้ใช้ให้บริการสปีดสูง เมื่อเทียบแล้วกับจำนวนลูกค้าเราได้เปรียบคู่แข่ง เราจึงไม่จำเป็นในการได้คลื่นไฮแบนด์ เราสามารถให้บริการได้ถึง 70 ล้านคน

ส่วนคลื่น 900 MHz ที่เราแจ้งว่าจะร่วมประมูลคลื่นนี้ นั้น เพราะเราอยากได้คลื่นโลว์แบนด์ กสทช.ก็นำออกมาประมูล เราถือว่าเป็นข่าวดี แต่เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ขึ้นอยู่กับบอร์ด แต่เราก็เสนอกสทช.ไว้ว่า หากมีผู้ชนะก็น่าจะให้ใช้คลื่น 900 MHz ในโหมด 850 MHz และลูกค้าจะต้องใช้เวลาในการย้ายคลื่นก่อน

***ซิมไม่ดับแน่นอน

ลูกค้าของเรามีกลุ่มดีแทคไตรเน็ต 20 กว่าล้านราย และลูกค้ากลุ่มสัมปทานประมาณ 4 แสนราย กสทช.ก็ได้ส่งหนังสือให้เราแจ้งลูกค้าให้เตรียมตัวเป็นเรื่องปกติ ซึ่งที่ผ่านมารายอื่นที่จะหมดสัมปทานกสทช.ก็แจ้งเตือนเช่นกัน

ดีแทคก็เตรียมการมานานแล้ว เราก็ได้เตรียมโปรโมชั่นให้ลูกค้าในการย้ายจาก 2G หากลูกค้าไม่ทำอะไร ที่ผ่านมาก็มีมาตรการเยียวยาเพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ เคยมีผู้ให้บริการรายหนึ่งได้รับการผ่อนผันถึง 2 ปีกว่า บนคลื่น 1800 MHz ถ้าคลื่นไม่ได้ถูกใช้งานทั้งหมดเราก็เชื่อว่าลูกค้าเราก็จะได้รับสิทธิ์เหมือนกัน เท่าเทียมกัน อย่างคราวที่คลื่น 900 MHz หมดสัมปทานแล้วมีรายหนึ่งพลาดการประมูล เราก็ยอมให้เพื่อนของเราโรมมิ่งสัญญาณกับเราได้ ถ้าเป็นแบบนี้ซิมก็ยังไม่ดับแน่นอน

***ปัญหาคลื่นกวนกับบีทีเอสเป็นอย่างไร

กรณีเรื่องบีทีเอสนั้น คลื่นของเราอยู่บน 2300 MHz เรารับจ้างสร้างเสาให้ทีโอที พอเราได้รับข่าวเราก็ทำงานกับทีโอทีอย่างใกล้ชิดและคุยกับบีทีเอสในการแก้ปัญหากันมาตลอด เราก็ตกลงปิดสถานีฐานดูและกสทช.ก็ตรวจวัดสถานีฐานที่หน้างานบีทีเอสเลย เราคิดว่าการที่คลื่นของทีโอทีจะไปกวนแบนด์ 2400 MHz นั้นเป็นไปได้ยาก แต่เราและทีโอทีก็ยินดีให้ความร่วมมือในการทำงานร่วมกับกสทช.และบีทีเอสต่อไป

คลื่น 2300 MHz เป็นคลื่นที่ต้องมีการควบคุม ตรวจสอบ จากกสทช. ส่วนคลื่น 2400 MHz เป็นคลื่นที่ใช้ได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต ใครจะมาใช้ก็ได้ เราเพิ่งจะเริ่มเปิดให้บริการได้ประมาณ 2 อาทิตย์ แต่จากการแก้ปัญหาร่วมกันก็น่าจะดีขึ้น

***ดีแทคถอดใจจากประเทศไทยหรือไม่

ดีแทคขยายเน็ตเวิร์กต่อเนื่อง ปีที่แล้วเราสร้างเสามากที่สุดถึง 4,000 เสา จะเรียกว่าถอดใจคงไม่ลงทุนเพิ่มเยอะขนาดนี้ เราไม่ถอดใจแน่นอน ประเทศไทยเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน คนไทยใช้โทรศัพท์เยอะ การใช้งานดาต้าโตปีละ 70-80% คนไทยใช้สมาร์ทโฟนวันละ 7 ชั่วโมง คนไทยมีศักยภาพสูง ลูกค้าเรามีเกือบ 20 ล้านคน



ตอนนี้เราคงที่ และคุณภาพดี ลูกค้ารายเดือนเราโตขึ้น เติมเงินลดลง เพราะเปลี่ยนเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หากวัดที่จำนวนลูกค้าเราอยู่อันดับสาม ไม่เป็นไร แม้ว่าเราจะเคยอยู่ที่อันดับสองมาก่อน เพราะเราตั้งใจให้บริการที่ดีที่สุดในราคาที่คุ้มค่ากับคนไทยมากกว่าการแข่งกับคู่แข่ง นั่นคือเป้าหมายของเรามากกว่า

แนวโน้มการใช้ เมื่อ 5-7 ปีก่อน ผู้ให้บริการจะรายงานรายได้แบ่งเป็นวอยซ์ส่วนใหญ่ ดาต้า เป็นส่วนน้อย แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นรายได้มาจากดาต้า และยิ่งมีแพกเกจซื้อดาต้า แถมวอยซ์ ก็ยิ่งทำให้รายได้ของดาต้า กับ วอยซ์แยกกันไม่ออก การเติบโตต่อไปดาต้าน่าจะเป็นสิ่งสำคัญ การมีคลื่นมากก็จะให้บริการลูกค้าได้มาก คนที่สามารถให้บริการดาต้าที่ดี ก็จะให้ลูกค้าพึงพอใจที่ดีกว่า

เมื่อเรามีคลื่นที่มากพอในการให้บริการดาต้า กับ ลูกค้า 20 ล้านที่เรามี เราคงไม่แข่งขันว่าใครมีคลื่นเยอะกว่าใคร ตรงนี้หากเพียงพอเราถือว่าเราพอใจ การโทรผ่านแอปพลิเคชั่น และเห็นหน้าด้วย ทำให้พัฒนาการและพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคให้ความสำคัญ แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของดาต้า มากขึ้น เช่น เล่นเฟซบุ๊กแล้วหมุน หรือ กดยูทูปภาพไม่มา ก็จะไม่พอใจมากกว่า

เทคโนโลยีช่วงหลังพัฒนารวดเร็ว 7-8 ปีก่อนคนยังใช้ 2G จากนั้นเป็น 3G และ 4G เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนแรก 2G ใช้กันอยู่นาน แต่พอได้เปลี่ยนเป็น 3G 4G นี่เร็วมาก โครงข่ายพัฒนาเร็ว ขณะที่เราคุยเรื่อง 4G คนก็พูดถึง 5G อีกแล้ว เราก็เตรียมพร้อมเรื่อง 5G แล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องพร้อมกับการใช้งานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงได้

5G เป็นเรื่องที่นำออกมาตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต ณ ปัจจุบัน ยังไม่ถึงขนาดนั้น เรายังใช้แค่ดาต้าผ่านโทรศัพท์ แต่เมื่อถึงยุค 5G เราจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ ทั้งนาฬิกา หม้อหุงข้าว เป็น IoT ทั้งหมด โครงข่ายดาต้าที่เราทำก็ไม่ได้ทำเฉพาะให้คนใช้ แต่จะทำเพื่อสิ่งของ หลายอย่างไปจนถึงรถยนต์ เป็นต้น

มาตรฐานของ5G ก็จะถูกปรับให้ใช้กับอุปกรณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้น เช่น ปกติเวลาเราดูหนังผ่านโทรศัพท์มือถือเราจะใช้แบนด์วิธเยอะ แต่หากตู้เย็นอยากจะคุยกับซุปเปอร์มาร์เก็ตในการสั่งซื้อนมหรือรายงานต่อเจ้าของบ้านว่าไฟดับให้รีบกลับมาเพราะของจะเสียนี่ ดาต้าที่ใช้จะมีน้อยมากไม่ได้ต้องการความเร็วอะไรมากมายแต่ว่าต้องการการเชื่อมต่อที่เยอะในหนึ่งบ้านมีพ่อ แม่ ลูก หรือบางคนถือสองซิม ก็ยังไม่มากเท่ากับเมื่อสิ่งของต้องการเชื่อมต่อจำนวนซิมในบ้านหลังหนึ่งจะเยอะขึ้นมาก เราต้องเตรียมพร้อมในการเพิ่มจำนวนการเชื่อมต่อของสิ่งเหล่านี้ด้วย

***ดีแทคมีความพร้อม 5G อย่างไร

ข้อดีของดีแทคคือมีการพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากสถานีฐานเรา ยังมีชุมสาย ของเราที่เป็นรุ่นใหม่ เป็นลักษณะซอฟต์แวร์มาติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ ไม่ได้เป็นเครื่องเหมือนสมัยก่อน ข้อดีคือทำให้เราสามารถ ปรับปรุงโครงข่ายได้รวดเร็ว หากมีชุมสาย5Gเข้ามาเราก็เอาซอฟต์แวร์ชุมสาย 5G มาใส่มันก็จะกลายเป็น 5G ได้ทันที

นอกจากเรื่องโครงข่ายแล้วสิ่งที่สำคัญของ 5G คือความถี่ ที่เขาคุยกันคือ 3500 MHz 700 MHz และ 28000 MHz เราก็เลยคิดว่าประเทศไทยควรมีแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ เรามีการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz และอนาคตจะมีคลื่นไหนอีกในเวลาไหน ไอทียูได้ทำมาตรฐานในการทำโครงข่าย 5G ว่าเป็นโครงข่ายไหน และคลื่นเดิมใช้งานอะไรอยู่ หรือจะให้ประมูลเมื่อไหร่

เหล่านี้เป็นสิ่งตอกย้ำที่ดีว่าแม้ดีแทคจะเจอวิกฤตมากขนาดไหนแต่ดีแทคก็ยังไม่ถอดใจออกจากประเทศไทยอย่างแน่นอนเพราะประเทศไทยเป็นตลาดที่สำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น