xs
xsm
sm
md
lg

'ทรู' เปิดเกมยึดบัลลังก์ เน็ตบรอดแบนด์ไฟเบอร์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สหรัฐส์ คนองศิลป์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ และคอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การขยับตัวครั้งสำคัญของทรู ออนไลน์ ในตลาดผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ด้วยแพกเกจไฟเบอร์ 1 Gbps ในราคา 2,999 บาท ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ช่วยให้ผู้บริโภคในไทย เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาที่ประหยัดมากขึ้น

โดยถ้ามองย้อนไปเมื่อปีที่ผ่านมา ตลาดไฟเบอร์เริ่มมีการแข่งขันสูงมากขึ้น ด้วยการแข่งขันทางด้านราคาในกลุ่มผู้ใช้งานบรอดแบนด์เริ่มต้นที่ให้ความเร็วระดับ 100 Mbps ในราคาไม่ถึง 1,000 บาท จนปัจจุบันลงทุนเริ่มต้นที่ราว 699 บาท เพียงแต่ในกลุ่มตลาดบนช่องว่างอย่างระหว่างความเร็ว 300 Mbps ที่ราคาราว 1,999 บาท กับความเร็ว 1 Gbps ที่พุ่งสูงขึ้นไปอยู่ในระดับราคา 19,999 บาท ทำให้ยังไม่เป็นทางเลือกของผู้ใช้งานมากนัก ประกอบกับพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขนาดนั้นยังไม่มีความจำเป็น

จุดที่น่าสนใจคือเมื่อทรู ออนไลน์ ที่ปัจจุบันครองอันดับ 1 ในฐานะผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 42% จากจำนวนลูกค้าใช้งานราว 6-7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ต้องการตอกย้ำถึงภาพในการเป็นผู้นำในการให้บริการ จึงได้ออกแพกเกจ 1 Gbps / 100 Mbps มาทำตลาดในราคา 2,999 บาท ในขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นไม่ว่าจะเป็น 3BB ที่มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ในตลาด ปัจจุบันมีให้บริการ FTTx ที่ความเร็ว 1 Gbps / 500 Mbps แบบ Fix IP ในราคา 11,770 บาท

ขณะที่ AIS Fibre ซึ่งชูจุดขายตั้งแต่สมัยเปิดตัวเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว ในการให้บริการไฟเบอร์ความเร็ว 1 Gbps / 200 Mbps ยังทำตลาดในราคาเดิมที่ 19,999 บาท ซึ่งเมื่อสอบถามทางผู้ให้บริการแล้วยังไม่มีแผนจะปรับลดราคาในเดือนนี้

สหรัฐส์ คนองศิลป์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าสายงานการพาณิชย์ทรูออนไลน์ และคอนเวอร์เจนซ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้เหตุผลถึงการทำแพกเกจไฟเบอร์ในราคาดังกล่าวออกมา สืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ของทางกลุ่มทรูคือทำอย่างไรให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ทั้งผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และผู้ที่จะมาลงทุน

ดังนั้น เพื่อตอกย้ำในแง่ของความเป็นผู้นำในการให้บริการโทรคมนาคม จึงต้องสร้างมาตรฐานใหม่ในการให้บริการขึ้นมา ด้วยการให้บริการไฟเบอร์ที่แบนด์วิดท์ 1 Gbps ในราคา 2,999 บาท เป็นรายแรกในประเทศไทย

***เปลี่ยนวิธีสื่อสารด้วยความใหญ่ของแบนด์วิดท์แทนความเร็ว

เพียงแต่การบ้านของกลุ่มทรู ไม่ใช่แค่การออกแพกเกจมาให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเลือกไปใช้งานเท่านั้น แต่ยังต้องสื่อสารถึงการนำเน็ตแบนด์วิดท์ 1 Gbps ไปใช้งานในครัวเรือนด้วย เพราะไม่ใช่ว่าทุกดีไวซ์ที่ใช้งานจะรองรับการเชื่อมต่อที่ 1 Gbps
ไม่ใช่ว่าเราเตอร์ทุกรุ่นในท้องตลาดจะสามารถปล่อยให้ใช้งานความเร็วระดับ Gigabit ได้ ต้องเป็นเราท์เตอร์เฉพาะเท่านั้น
"ในระดับของการให้บริการที่ 1 Gbps ที่ต้องมีการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ ที่ไม่ได้พูดถึงแง่ความเร็วสูงสุดในการให้บริการ แต่พูดถึงความใหญ่ของแบนด์วิดท์ระดับ 1 Gbps ที่เชื่อมต่อเข้าบ้านซึ่งถือว่าใหญ่มาก"

เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์อุปกรณ์ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของผู้บริโภครองรับการใช้งานที่เร็วขึ้น และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และพีซี แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ IoT และดีไวซ์อื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแต่ละอุปกรณ์ก็จะมีการใช้งานแบนด์วิดท์พร้อมๆกัน

"อย่าง iPhone X 1 เครื่อง รองรับการสื่อสารข้อมูลได้ 400 Mbps ถ้าซื้ออินเทอร์เน็ตเข้าบ้านที่ความเร็ว 50 Mbps ก็จะเหมือนกับการเปิดท่อน้ำ แล้วน้ำไหลเพียงนิดเดียว ดังนั้น ถ้าเปรียบการใช้งานใน 1 บ้านพร้อมๆกันหลายๆดีไวซ์ ยิ่งมีแบนด์วิดท์ที่รองรับมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ละดีไวซ์ก็จะสามารถเชื่อมต่อได้เร็วมากขึ้นด้วย"

***เร่งปั้น ช่างติดตั้ง ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรู ออนไลน์ เริ่มการให้บริการซูเปอร์ ไฟเบอร์ 1 Gbps ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปยังต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ในช่วงเดือนถัดๆ ไป คือเรื่องของการเทรนด์ช่างติดตั้งให้มีความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น

"ลูกค้าที่จะติดตั้งใช้งานแพกเกจระดับนี้ เชื่อว่าจะมีสัก 10-15% จากผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ ที่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ช่างทั่วๆไปเข้าไปติดตั้งได้ ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมของทีมช่าง ในการเข้าไปติดตั้งเครือข่ายWi-Fi ภายในบ้านของลูกค้า"

โดยทรู ออนไลน์ตั้งเป้าว่า จากฐานลูกค้าที่ใช้งานทรู ออนไลน์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 1 ล้านราย จะมีลูกค้าราว 10% ที่สนใจสมัครใช้งานแพกเกจดังกล่าวภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งในอีกมุมหนึ่งจะเป็นการเพิ่มค่าเฉลี่ยการใช้งานต่อครัวเรือนของทรูออนไลน์ ให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

***ลดราคาเราเตอร์ให้ลูกค้า 3,000 รายแรก

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงคือเรื่องของอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณ Wi-Fi เพื่อไม่ให้เกิดอาการคอขวด เพราะไม่ใช่ว่าเราเตอร์ทุกรุ่นในท้องตลาดจะสามารถปล่อยให้ใช้งานความเร็วระดับ Gigabit ได้

ในจุดนี้ ทรูจึงได้มีการทำโปรโมชันให้ลูกค้า 3,000 รายแรก สามารถซื้อ D-Link Ultra Wi-Fi Router ในราคา 5,500 บาท จากราคาปกติ 12,900 บาท พร้อมระบุข้อมูลชัดเจนว่าในการใช้งานจริงผ่านสาย LAN จะทำความเร็วได้ราว 80% และผ่าน Wi-Fi จะอยู่ที่ราว 40% ตามแต่มาตรฐานของแต่ละอุปกรณ์

***"คอนเวอร์เจนซ์" บริการเพิ่มมูลค่า

ที่น่าสนใจคือ ทรู ออนไลน์ เลือกที่จะออกแพกเกจ 1 Gbps มาในรูปแบบของการบันเดิล บริการในเครือมาให้ลูกค้าได้เลือกใช้งานเพิ่มเติม โดยในราคาเริ่มต้นที่ 2,999 บาท จะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้งานคู่กับทรูมูฟ เอช 3 ซิม ที่สามารถใช้งานเน็ตได้ซิมละ 35 GB ต่อเดือน หรือคู่กับทรูวิชั่นส์ โกลด์ แพกเกจ บนเงื่อนไขสัญญาการใช้งาน 12 เดือน
หนึ่งในเราท์เตอร์บริการไฟเบอร์ที่แบนด์วิดท์ 1 Gbps ราคา 2,999 บาท รายแรกในไทย
"เราไม่อยากให้มีการแข่งขันเรื่องราคา เพราะถ้าสมมุติ ทรูออกแพก 1 Gbps ในราคา 2,999 บาท พรุ่งนี้อาจจะมีผู้ให้บริการรายอื่นออกมาในราคา 2,500 บาท เลยนำบริการมามัดรวมกันเพื่อให้เป็นประโยชน์ของผู้บริโภค"

นอกจากนี้ ยังมีเบื้องหลังที่น่าสนใจของการที่ทรู ออนไลน์ สามารถให้บริการไฟเบอร์สู่ครัวเรือนในความเร็ว 1 Gbps เพราะก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มทรูได้มีการลงทุนโครงข่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ในเคเบิลใต้น้ำ SJC2 ที่เชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ากับเอเชียเหนือ เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่งผลให้แบนด์วิดท์ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของทรู ที่จากเดิมลงทุนไว้รองรับการใช้งานราว 1 TB จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 18 TB ภายในปี 2020 ซึ่งจะตรงกับช่วงที่คาดการณ์ว่าในประเทศไทยจะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็น 11 ล้านครัวเรือน จากทั้งหมด 23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

***ตลาด "บรอดแบนด์ไฟเบอร์" ราคาไม่ต่ำกว่านี้

สหรัฐส์ กล่าวถึงการแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ไฟเบอร์ในเวลานี้ว่า ในเรื่องของระดับราคาไม่น่าจะต่ำไปมากกว่านี้แล้ว โดยจะยังคงระดับราคาเริ่มต้นไว้ที่ราว 599 บาทเช่นเดิม แต่จะไปแข่งกันในเรื่องของความเร็วในการให้บริการที่เพิ่มขึ้นแทน

โดยทางทรู ออนไลน์ มีแผนที่ปรับจะระดับความเร็วเพิ่มขึ้นยกแผงให้กับลูกค้า นั่นหมายความว่าลูกค้าที่แต่เดิมใช้งานความเร็ว 30 Mbps ในราคา 599 บาท ในอนาคตก็อาจจะมีการปรับความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 50 Mbps และปรับตามเป็นขั้นบันไดขึ้นไปสำหรับแพกเกจอื่นๆ

ในจุดนี้ ผู้บริหารทรู ตั้งข้อสังเกตถึงผู้ให้บริการบางรายที่โฆษณาว่า ให้บริการบนไฟเบอร์ออปติก แต่กลับออกแพกเกจให้บริการความเร็วเริ่มต้นที่ 10 Mbps ซึ่งต่ำกว่าในสมัย ADSL เสียอีก ซึ่งทางกลุ่มทรูไม่มีแผนที่จะลงไปแข่งขันในระดับราคานั้น เพราะมองว่ามีทางเลือกอย่างโมบายอินเทอร์เน็ตของทรูมูฟ เอช ให้บริการอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น