xs
xsm
sm
md
lg

CAT ฝันธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสทำเงินเพิ่ม 3 เท่าตัวใน 3 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ดนันต์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริหาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่าตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสทำรายได้ให้ กสท ราว 600 ล้านบาท สำหรับปี 2561 คาดว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20%
กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ตอกย้ำจุดยืนปรับโฉมสู่ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจร มั่นใจบริการซีเคียวริตี-คลาวด์-สมาร์ทซิตี และโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWan เพื่อให้บริการ IoT จะเป็นบันไดให้ภาพรวมธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสของ CAT เติบโต 3 เท่าตัวภายใน 3 ปี เชื่อ CAT แข่งขันแบรนด์ต่างประเทศสบายเพราะราคา คุณภาพ และจุดต่างเรื่องการเก็บข้อมูลไว้ที่ประเทศไทย 100%

ดร. ดนันต์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริหาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิสทำรายได้ให้ กสท ราว 600 ล้านบาท สำหรับปี 2561 คาดว่าจะทำรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% บนเป้าหมายใหญ่ คือ เพิ่มรายได้ให้ทะลุ 3,000 ล้านบาทในปี 2563

“เราเคยเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม เรามีโครงข่ายเชื่อมโยงโลก แต่วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไป ดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินธุรกิจขององค์กรปัจจุบัน วันนี้ CAT จึงมุ่งหน้าเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลครบวงจร เราได้รางวัลต่อเนื่อง และมีส่วนร่วมตามนโยบายรัฐสร้างสมาร์ทซิตีแล้วที่ภูเก็ต กำลังจะเริ่มในอีกหลายจังหวัด”

การประกาศครั้งนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการปรับวิสัยทัศน์ CAT ที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ดร. ดนันต์ ระบุว่า นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้น เพราะ CAT เริ่มทำตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่เน้นให้บริการดิจิทัลมากว่า 4-5 ปีแล้ว ถือเป็นการปรับตัวจากที่ CAT เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมดั้งเดิมนานกว่า 40 ปี บนดีกรีผู้ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นรายแรกของประเทศไทย

“ก่อนนี้ เราให้บริการลูกค้าโอเปอเรเตอร์ วันนี้เริ่มเข้ามาให้บริการกับลูกค้าโดยตรงมากขึ้น วันนี้เราทำดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ครบ ทำให้เราเข้มแข็ง สามารถสร้างความแตกต่างได้ถ้าเทียบกับผู้ให้บริการอื่นในปัจจุบัน”

คำว่าครบของ CAT คือ วันนี้ CAT มีบริการทั้งไพรเวตคลาวด์ พับบลิกคลาวด์ และไฮบริดคลาวด์ในชื่อ IRIS ยังมีบริการ CAT Cyfence ที่ให้บริการด้านความปลอดภัยซีคียวริตีมานานกว่า 10 ปีผ่าน 14 บริการ รวมถึงบริการ CAT eBusiness อายุ 11 ปี ที่จะปรับให้ช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ มีบริการเครื่องมือช่วยไมโครเอสเอ็มอีให้ค้าขายอีคอมเมิร์ซได้แรงขึ้น

ทั้งหมดนี้ ผู้บริหาร CAT เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับบริการดิจิทัลเซอร์วิสต่างชาติได้ เพราะเน้นที่คนละกลุ่มตลาด ขณะเดียวกัน ก็เป็นบริการที่จัดเก็บข้อมูลในประเทศไทย ปัจจุบัน CAT มีศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ 7 แห่ง ทุกแห่งตั้งในประเทศไทยได้แก่ กทม., ศรีราชา, นนทบุรี, ขอนแก่น และสุราษฎ์ธานี

ความท้าทายที่ CAT มองในตลาดดิจิทัลเซอร์วิสไทยอยู่ที่ 2 ส่วน คือ การทำความเข้าใจธุรกิจของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงลูกค้าให้สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนงานของลูกค้านั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลา และความเชี่ยวชาญสูง

*** ปี 62 มี LoRaWAN ครบทุกจังหวัด

บริการคลาวด์ บริการซีเคียวริตี และบริการวิเคราะห์ข้อมูลดิจิทัลของ CAT จะต่อยอดบนโครงข่าย LoRaWAN เพื่อให้บริการสมาร์ทซิตีในประเทศไทย จุดนี้ผู้บริหาร CAT เชื่อว่า LoRaWAN จะปูพรมติดตั้งทุกจังหวัดทั่วไทยในปีหน้า

“ถ้าพูดถึงสมาร์ทซิตี CAT มีบทบาทในฐานะหน่วยงานอันดับต้นๆ แรกสุด คือ อินฟราต้องมาก่อน เราทำ LoRaWAN ให้อุปกรณ์ส่งข้อมูลถี่ได้ เราติดที่ภูเก็ตที่แรก จะขยาย 10 กว่าจังหวัดหัวเมืองหลัก มี กทม. ด้วย คาดว่าปีหน้าจะมี LoRa Wan ครบทุกจังหวัด”

สำหรับโครงข่ายสื่อสารไร้สาย LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) เป็นโครงข่ายที่ออกแบบมาเพื่อรองรับบริการ IoT (Internet of Things) LoRaWAN รองรับการพัฒนาโซลูชันบริการอัจฉริยะต่างๆ ในเมืองที่เป็นสมาร์ทซิตีที่สำคัญหลายประเทศทั่วโลก โดย LoRaWAN จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับ-ส่งข้อมูลจากอุปกรณ์หรือเซ็นเซอร์รับ-ส่งสัญญาณได้ครอบคลุมระยะทางไกล และใช้พลังงานต่ำ ทำให้การทำระบบไฟอัจฉริยะ หรือระบบเก็บขยะอัจฉริยะในเมืองนั้นมีต้นทุนต่ำ

“ภูเก็ตเป็นที่แรก นำร่อง เราจะนำประสบการณ์ที่ได้จากภูเก็ตเข้าไปเสนอในแต่ละจังหวัด แต่ไม่เอาไปทั้งหมด ต้องให้สอดคล้องกับเมืองนั้น ตอนนี้กำลังไปที่เชียงใหม่, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และระยอง ตามพื้นที่ EEC”

สำหรับความคืบหน้าด้านอื่น ผู้บริหาร CAT เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd) บนพื้นที่ 830 ไร่ ภายในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC : Eastern Economic Corridor (EEC) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยขณะนี้อยู่ในขั้นผลักดัน พ.ร.บ. ร่วมทุนระหว่างรัฐ และเอกชน คาดว่าไม่เกิน 9 เดือนนับจากนี้ จะได้เห็นโฉมหน้าพันธมิตรโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีเจรจาไว้มากกว่า 10 ราย เพื่อให้แล้วเสร็จทันไตรมาส 1 ปี 2562 ที่รัฐบาลมอบนโยบายไว้.


กำลังโหลดความคิดเห็น