ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดโทรคมนาคมประเทศไทยเกิดรูปแบบการให้บริการเครือข่ายรูปแบบใหม่ในระบบดิจิทัลขึ้นมา ด้วยการนำแบรนด์ 'LINE Mobile' เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยจาก 'ดีแทค'
เหตุที่ดีแทค เลือกนำบริการดังกล่าวเข้ามาให้บริการในไทย มาจาก 2 ส่วนหลักๆ คือ เห็นว่าประเทศไทยมีอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นตลาดที่มีการตอบรับเทคโนโลยีค่อนข้างเร็ว ประกอบกับในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย ที่ถือเป็นตลาดหลักของเทเลนอร์ รูปแบบบริการดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
เพียงแต่ว่าผ่านมาเกือบครึ่งปี กลายเป็นว่า LINE Mobile ก็ไม่ได้รับความนิยมในวงกว้างเหมือนที่ดีแทคคาดหวังไว้ โดยอาจจะเกิดจากข้อจำกัดทางด้านเครือข่ายของ ดีแทค ที่มีคลื่นจำกัดในช่วงที่ผ่านมา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ดีแทคได้เรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าคนไทยมากขึ้นด้วย
ก่อนที่จะเกิดความเคลื่อนไหวในตลาดการให้บริการมือถือในรูปแบบดิจิทัลอีกครั้ง จากการเข้ามาทำตลาดด้วยแบรนด์ 'Nu Mobile' ของพี่ใหญ่ในตลาดอย่าง 'เอไอเอส' ที่ถอดรูปแบบให้บริการมาในแนวเดียวกัน บนเครือข่าย AIS 4G ที่ครอบคลุมแล้วทั่วประเทศ
ด้วยการตอกย้ำภาพของความง่ายในการใช้บริการ ไม่มีเงื่อนไขสลับซับซ้อน สามารถใช้บริการได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ผู้ใช้สามารถปรับเพิ่ม-ลดความเร็วอินเทอร์เน็ตในการใช้งาน เช็กยอดนาทีโทร.ที่เหลือ และซื้อเพิ่ม รวมทั้งเช็กประวัติการใช้งาน
ส่วนในแง่ของบริการหลังการขายก็จะให้บริการผ่านช่องทาง Live Chat Support ผ่านแอปพลิเคชัน Nu Mobile ที่ติดตั้งลงในสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นแอปที่ใช้ควบคุมการใช้งานต่างๆ เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ไม่รองรับการให้บริการตามศูนย์บริการต่างๆ
***ยืนยันตัวตนด้วยระบบดิจิทัล
คำถามที่เกิดขึ้นจากการให้บริการในระบบดิจิทัล ที่ผ่านมาจะมีเงื่อนไขของกสทช. ที่กำหนดให้ผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องทำการยืนยันตัวตน สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ และแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายเริ่มจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยวิธีอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล และป้องกันการแอบอ้างหรือปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดได้
โดยการตรวจสอบอัตลักษณ์ทำได้ทั้งการตรวจสอบใบหน้า (face recognition) หรือสแกนลายนิ้วมือ (finger print) ขึ้นอยู่กับว่าจุดรับลงทะเบียนให้บริการแบบใด โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ทั้งแบบรายเดือน และแบบเติมเงิน มีกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2560 พร้อมกันทุกโอเปอเรเตอร์ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงกรณีบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยด้วย
การเปรียบเทียบใบหน้า (face recognition) หรือ ลายนิ้วมือ (finger print) ของผู้ซื้อซิมการ์ดกับข้อมูลที่เก็บในบัตรประชาชนฉบับจริง โดยหากข้อมูลมีความถูกต้องตรงกัน จึงจะอนุญาตให้มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการและเปิดใช้งานซิมการ์ดได้
ดังนั้น ประชาชนที่ต้องการเปิดซิมใหม่ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงไปด้วยเพื่อให้จุดให้บริการตรวจสอบข้อมูล อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบอัตลักษณ์แล้วไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ให้ผู้ใช้บริการติดต่อศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมการเปิดใช้งานซิมการ์ดต่อไป
ในขณะที่ LINE Mobile จะใช้วิธีให้ลูกค้าถ่ายรูปคู่กับบัตรประชาชนเพื่อลงทะเบียน ส่วน Nu Mobile ใช้การยืนยันตัวตนผ่านระบบ VDO Call ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในช่วงเวลา 9.00 - 20.00 ของทุกวันแทน
แม้ว่าในขณะนี้ กสทช. จะยังไม่ทราบข้อมูลว่า มี Nu Mobile อยู่ในตลาด แต่ก็เชื่อว่า สุดท้ายแล้ว กสทช.ก็ต้องได้รับคำชี้แจงว่าเป็นบริการของเอไอเอส เหมือนกับที่ดีแทคเคยชี้แจงกรณี LINE Mobile มาก่อน จึงเป็นหน้าที่ของกสทช.ต่อไปในการเคร่งครัดให้มีการลงทะเบียนซิมให้ถูกต้อง
***เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
เมื่อเห็นถึงรูปแบบการให้บริการแล้ว ทำให้เชื่อได้ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของ Nu Mobile รวมถึง LINE Mobile ก่อนหน้านี้ ออกมาจับกลุ่มลูกค้าที่ใกล้เคียงกันคือ เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการความง่าย และความคุ้มค่าในการใช้งานเป็นหลัก
โดยก่อนหน้านี้ 'ปรัธนา ลีลพนัง' หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เคยให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยมีฐานลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มมิลเลเนียล หรือช่วงอายุราว 18-25 ปี ราว 20 ล้านคน ที่กลายเป็นความท้าทายของ เอไอเอส เนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่เป็นคนรุ่นใหม่มีกระบวนการคิด และวิธีตัดสินใจแบบเฉพาะตัว
แม้ว่าทาง เอไอเอส จะยังไม่มีการเปิดตัว Nu Mobile อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยรูปแบบ และวิธีการสื่อสารที่ออกมา ซึ่งเน้นช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้มองได้ว่าเอไอเอส ปั้น Nu Mobile ออกมาเพื่อจับลูกค้ารุ่นใหม่ และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการ Disrupt ลูกค้าเดิมที่ใช้บริการด้วย
***ลูกค้าใช้ออนไลน์ โอเปอเรเตอร์ลดต้นทุน
ในแวดวงธนาคารการประกาศฟรีค่าธรรมเนียมเมื่อทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค และธนาคารอย่างไร การเปิดช่องทางให้ลูกค้าหันมาใช้งานบริการมือถือในรูปแบบดิจิทัล โอเปอเรเตอร์ก็จะได้ประโยชน์ที่ใกล้เคียงกัน
เพราะเมื่อลูกค้ามาใช้บริการออนไลน์ ต้นทุนที่เคยมีจากการให้บริการลูกค้าที่เกิดขึ้นในศูนย์บริการต่างๆก็จะหายไป เพราะทุกขั้นตอนในการใช้บริการตั้งแต่เลือกซื้อซิมการ์ด สมัครใช้บริการ ยืนยันตัวตน เปลี่ยนแพกเกจ รวมไปจนถึงชำระค่าบริการ ทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมด
***แพกเกจไม่ซับซ้อน
สำหรับรูปแบบในการนำเสนอแพกเกจของ Nu Mobile จะเน้นให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตแบบความเร็วคงที่ เริ่มต้นที่ 2 Mbps ในราคา 299 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นแพกเกจพื้นฐานที่สามารถใช้แชท เล่นเกมส์ และใช้งานทั่วไปได้
ตามมาด้วยแพกเกจความเร็ว 4 Mbps ในราคา 459 บาท 6 Mbps ในราคา 559 บาท และ 10 Mbps ในราคา 959 บาท โดยทุกแพกเกจจะได้รับโทร.ฟรี 100 นาที เข้าไปด้วย ในกรณีที่ใช้หมด สามารถซื้อแพกเสริมเพิ่มได้ 100 นาที ในราคา 50 บาท
อย่างไรก็ตาม แพกเกจดังกล่าวของ Nu Mobile อาจจะไม่ใช่ราคาที่คุ้มค่าที่สุดของเอไอเอสในปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเอไอเอส ก็มีการให้บริการซิมมาราธอน ที่ให้ลูกค้าสมัครใช้งานเน็ตความเร็วคงที่ 4-6 Mbps ในระดับราคาที่ต่ำกว่าอยู่
ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขายใดๆออกมา เพื่อทำให้ Nu Mobile น่าสนใจหรือไม่ เพราะปัจจุบัน Nu Mobile เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการเท่านั้น และยังไม่ได้มีการทำประชาสัมพันธ์ในวงกว้างออกไป
ตัดภาพกลับมาที่ LINE Mobile ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงนำเสนอโปรโมชันลดราคา 50% สำหรับแพกเกจระดับ S ที่ให้เน็ตความเร็วสูงสุด 5 GB โทร. 150 นาทีในราคา 179 บาท ไปจนถึง เน็ตไม่จำกัด โทร.ไม่จำกัดในราคา 749 บาทให้เลือกใช้
โดยยังคงจุดเด่นในกรณีที่ใช้เน็ตความเร็วสูงหมด หรือไม่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ก็สามารถปรับไปใช้งานเน็ตจำกัดความเร็วที่ 256 Kbps ได้ตลอดเวลา ผ่านการควบคุมในแอปพลิเคชัน
ต้องดูกันต่อไปว่า Nu Mobile จะมาแรงแซงทางโค้ง LINE Mobile และตอบสนองลูกค้ากลุ่มมิลเลเนียลใจเร็วที่นิยมทำอะไรผ่านแค่การกดหน้าจอสำเร็จหรือไม่