xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์ติเน็ต ห่วงไทย ไร้แผนกระตุ้นสตาร์ทอัป “แอปมือถือ” ดูแลความปลอดภัยข้อมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แอนโทนีระบุว่า แฮกเกอร์ปัจจุยันก็ทำทรานสฟอร์เมชันเหมือนกัน
ฟอร์ติเน็ต ห่วงไทยล้าหลังประเทศอื่น เพราะไทยไม่มีมาตรการกระตุ้นสตาร์ทอัปผู้สร้างแอปพลิเคชันมือถือให้ดำเนินการ และจัดเต็มระบบรักษาความปลอดภัยบนแอปอย่างจริงจังเหมือนที่ประเทศอื่นมี ระบุวันนี้องค์กรไทยตื่นตัวเฉพาะบางกลุ่ม ถือว่าอันตรายมากในวันที่แฮกเกอร์ยุคใหม่มีพัฒนาการเจ็บแสบกว่าเดิม

เบื้องต้น ฟอร์ติเน็ต ยอมรับว่า องค์กรไทยสนใจลงทุนระบบซีเคียวริตีมากขึ้นหลังมีกรณีมัลแวร์เรียกค่าไถ่ข้อมูล และกรณีที่ไอทรูมาร์ทถูกเจาะระบบ โดยปีนี้ฟอร์ติเน็ต มีแผนเน้นทำตลาดเจาะกลุ่มองค์กรใหญ่มากขึ้นทั้งกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคม สถาบันการเงิน และภาครัฐ คาดว่าจะทำให้ยอดขายปีนี้เติบโตขึ้นอีก 28% หลังจากฟอร์ติเน็ตไทย ครองแชมป์เบอร์ 1 ในอาเซียนด้านโซลูชันซีเคียวริตี ส่งให้บริษัทนั่งเก้าอี้แชมป์ในประเทศไทยปีที่ 6 ติดต่อกัน

***สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย เริ่มแล้ว

แอนโทนี ลิม ที่ปรึกษาอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง บริษัท ฟอร์ติเน็ต ยกตัวอย่างว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นส่วนหนึ่งของตลาดเอเชียที่ภาครัฐเห็นความสำคัญในการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัปรู้ว่าต้องดำเนินเต็มที่เรื่องการรักษาความปลอดภัยบนแอปพลิเคชันที่ตัวเองสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สร้างแอปพลิเคชันด้านฟินเทค ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในยุคที่ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลกดิจิทัล

“คนรุ่นใหม่สร้างแอปพลิเคชันได้ดี ถูกใจกลุ่มมิลเลนเนียล ด้วยกัน แต่การเขียน API ให้รองรับระบบบริหารข้อมูลที่ดี, ระบบซัปพลายเชน และระบบความปลอดภัยอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องยุ่งยาก ทำให้ถูกมองข้ามไป” แอนโทนี ระบุ “ที่สิงคโปร์เริ่มทำให้สตาร์ทอัปรุ่นใหม่ตื่นตัวแล้ว มีการให้ความรู้ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย”

แอนโทนี เล่าว่า รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้กำหนดว่า ทุกแอปพลิเคชันจะต้องพัฒนาแอปตามมาตรฐาน ISO แต่ถ้าจะร่วมโครงการกับรัฐบาล หรือเอกชนอื่น แอปพลิเคชันนั้นจะต้องได้รับ ISO 27001 ทั้งหมดนี้เป็นการบีบให้เอกชนทำตาม ซึ่งถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไม่ได้ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสตาร์ทอัปก็มีการให้ทุน เพื่อให้แน่ใจว่าสตาร์ทอัปมีทุนทำระบบซีเคียวริตีจริงจัง

จุดนี้ ชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต ชี้ว่า พันธกิจลักษณะนี้ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเมื่อยังขาดความปลอดภัย ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของโมบายแอปพลิเคชันไทยก็จะช้าลงไปอีก

“เดือนหน้า ฟอร์ติเน็ต จะร่วมงานกับกลุ่มธนาคาร เชิญกลุ่มฟินเทคทั้งขนาดเล็ก และใหญ่ มาให้ความรู้เรื่องการแฮก แต่ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำกันเองในบางกลุ่ม ไม่เหมือนที่สิงคโปร์ที่รัฐบาลกำหนดมาเลยว่าต้องทำ”
แอนโทนี ลิม (ขวา) ที่ปรึกษาอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และฮ่องกง บริษัท ฟอร์ติเน็ต
*** ยันยันซีเคียวริตีทุนไม่สูง

ฟอร์ติเน็ต ยืนยันว่า ราคาไม่ใช่อุปสรรค์ที่ทำให้สตาร์ทอัปผู้สร้างแอปพลิเคชันที่ต้องเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั้น ไม่ดำเนินการเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย เนื่องจากสตาร์ทอัปสามารถจัดหาระบบซีเคียวริตีแบบจ่ายตามจริง หรือใช้งานระบบพื้นฐานที่มีราคาหลักพันได้

“เราประเมินไม่ได้ชัดเจนว่า ต้นทุนซีเคียวริตีคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์เทียบกับต้นทุนสร้างแอปพลิเคชัน อาจจะแค่เพิ่มขึ้นอีก 10% ขึ้นอยู่กับแต่ละแอปพลิเคชัน แต่ละธนาคารที่แอปพลิเคชันนั้นเชื่อมต่อ”

ในภาพรวม ฟอร์ติเน็ต ระบุว่า ไม่มีตัวเลขชัดเจนว่าการโจมตีโมบายแอปพลิเคชันในปัจจุบันนั้นเพิ่มขึ้นเท่าไร แต่ยืนยันว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากมีพื้นที่หลายส่วนให้โจมตีได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ผลคือ โลกเรามีภัยโจมตีใหม่เกิดขึ้น และภัยเก่าก็ยังคงอยู่

“ผมคิดว่า การลงทุนซีเคียวริตีวันนี้คิดเป็น 5-10% ของการลงทุนไอทีรวมทั้งหมด ถึงจะดูน้อย แต่ก็เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เพราะคนเริ่มตื่นตัวกับภัยใหม่ในยุคดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน ซึ่งแฮกเกอร์ก็ทำทรานสฟอร์เมชันเหมือนกัน”

ประเด็นนี้ แอนโทนี ชี้ว่า แฮกเกอร์ปัจจุบันมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน โดยเล่าว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แฮกเกอร์มีน้อย แต่ทุกคนเก่ง ต่างจากวันนี้ที่มีแฮกเกอร์มากมาย แม้จะไม่เก่งกาจเท่าเมื่อก่อน แต่มีเครื่องมือมาก และมีสิ่งให้แฮกมากขึ้น

“แต่ข่าวดี (ข่าวดีหรือเปล่านะ) คือ การโจมตีวันนี้เป็นการทดลองมากขึ้น ไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะคน อาจเป็นการโจมตีแบบสุ่ม”

สำหรับประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต ชี้ว่า ประเทศไทยยังเป็นตลาดที่ทำเงินให้บริษัทได้มากที่สุดในอาเซียน (ด้านโซลูชันซีเคียวริตี) บริษัทไม่สามารถเปิดเผยยอดขาย ระบุเพียงว่าเป็นแชมป์ประเทศไทยปีที่ 6 ติดต่อกัน ยอดจำหน่ายปี 2017 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า เป้าหมายปี 2018 คาดว่าจะมีอัตราเติบโต 28%

“ที่ตลาดไทยใหญ่กว่าประเทศอื่นอย่างอินโดนีเซีย เพราะฟอร์ติเน็ตไทย ใช้กลยุทธ์ตีกรอบป่าล้อมเมือง เราไป ISP ไป SME ตอนนี้เริ่มไปเอนเตอร์ไพรส์ เชื่อว่าวันนี้ธนาคารเปิดรับมากขึ้น ไม่ยึดกับแบรนด์เดิม” ชาญวิทย์ ระบุ “เรายังเน้น Telco Banking Gov เรายังขายผ่านพาร์ตเนอร์ 100% วันนี้ทีมขายเพิ่มขึ้นจาก 4-5 คนมาเป็น 10 คนแล้ว เราทำเวิร์กช็อปมากขึ้น เชิญลูกค้าธนาคารมาให้ความรู้ แนวโน้มค่อนข้างดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ครบ งบจับต้องได้”.


กำลังโหลดความคิดเห็น