xs
xsm
sm
md
lg

สมร เทิดธรรมพิบูล ทำไปรษณีย์ 4.0 ให้เป็นจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สมร เทิดธรรมพิบูล
ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ประกอบการต่างชาติ บวกกับการเติบโตของผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ทำให้ปริมาณในการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ไปรษณีย์ไทย” จึงต้องปรับตัวให้มีความพร้อมหลายๆ ด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจให้ตอบสนองความต้องการของตลาด สามารถแข่งขันได้ และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value Based Economy หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

เป้าหมายคือทำให้ไปรษณีย์ไทยผลักดันการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และภาพลักษณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำในธุรกิจไปรษณีย์ และการให้บริการลอจิสติกส์ครบวงจรในอาเซียน เพื่อยกระดับสู่ “ไปรษณีย์ 4.0” ให้สำเร็จภายในปี 2562 คือ ไปรษณีย์ไทยต้องมี “มาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า” คนไปรษณีย์ต้องมี “วินัย หน้าที่ สามัคคี มีวิสัยทัศน์ องค์กรมีภูมิคุ้มกันและยั่งยืนโดยใช้คุณธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเติบโตคู่กับชุมชน”

พร้อมทั้งสร้างชุมชนต่างๆ ให้เป็นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ของคนไทยทุกคน และความโปร่งใส ด้วยธรรมาภิบาล เน้นการควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการที่ดีในองค์กร ซึ่งล่าสุด ไปรษณีย์ไทยได้รับการประเมินคุณธรรม และความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานภาครัฐ (ปปท.) อยู่ในลำดับที่ 4 จาก 140 หน่วยงาน ได้รับคะแนนประเมินเป็น 94.48 คะแนน ซึ่งในปี 2558 ได้รับคะแนนประเมิน 91.41 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 3 จาก 115 หน่วยงาน

***ไปรษณีย์ 4.0 กับระบบงาน 4 ด้าน

ต้องยอมรับว่าการบริหารงานภายใต้กรรมการผู้จัดการใหญ่หญิงแกร่งอย่าง “สมร เทิดธรรมพิบูล” ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) นอกจากจะเป็นองค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้แล้ว ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าชื่นใจ เมื่อเทียบกับรัฐวิสากิจอื่นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งผลประกอบการและกำไรเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การนำของ “สมร” ทำให้ในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทยนั้น เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ในปี 2559 บริษัทมีรายได้ 25,600 ล้านบาท กำไร 3,570 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2560 มีรายได้ 27,880 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 8% มีกำไร 4,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 18% ซึ่ง “สมร” ตั้งเป้าว่าในปี 2561 จะมีรายได้รวมอยู่ที่ 30,800 ล้านบาท ด้วยการปรับองค์กรไปสู่ “ไปรษณีย์ 4.0” ตามนโยบายของ “พล.อ. สาธิต พิธรัตน์” ประธานกรรมการบริษัท ให้สำเร็จภายในปี 2562 ด้วยแนวคิด “มาตรฐาน ทันสมัย พึงพอใจลูกค้า”

สมร เล่าให้ฟังว่า ไปรษณีย์ 4.0 ต้องเกิดจากการปรับการทำงานทั้ง 4 ระบบ คือ ระบบรับฝาก ระบบคัดแยก ระบบการส่งต่อ และระบบการนำจ่าย เพื่อรองรับปริมาณงานที่มีมากกว่า 8 ล้านชิ้นต่อวัน

***รับฝาก 24 ชั่วโมง

1. ระบบรับฝากสิ่งของ ต้องสะดวกทุกที่ 24 ชั่วโมง มุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางการรับฝากไปรษณีย์เพื่อให้การบริการมีความสะดวกมากขึ้น โดยนำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการรับฝากสิ่งของนอกที่ทำการไปรษณีย์ของกลุ่มลูกค้า อี-คอมเมิร์ซ โดยอาศัยระบบโมบายล์ แอปพลิเคชั่น ในการเชื่อมโยงกลุ่มลูกค้ากับทีมผู้ให้บริการรับฝากนอกสถานที่ การรับฝากสิ่งของผ่านเครื่องให้บริการรับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ (APM) ที่กำลังอยู่ระหว่างการติดตั้งเพิ่มอีก 7 แห่งที่ กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี และแม่สอด โดยความร่วมมือกับกรมท่าอากาศยาน หลังจากที่ได้ติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

รวมถึงการให้บริการไปรษณีย์ด้วยระบบเคาน์เตอร์ไปรษณีย์เวอร์ชันใหม่ (New CA POS) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงระบบการทำงานตั้งแต่หน้าเคาน์เตอร์รับฝากจนถึงขั้นตอนการนำจ่าย ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองติดตั้งระบบดังกล่าวที่ทำการไปรษณีย์แล้ว 255 แห่ง และคาดว่าจะติดตั้งครบทุกแห่ง จำนวน 1,300 แห่งทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีการติดตั้งสายพานลำเลียงด้านหน้าเคาน์เตอร์ให้บริการภายในที่ทำการไปรษณีย์ เพื่อให้การลำเลียงสิ่งของเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ในส่วนของลูกค้ารายใหญ่ สามารถเตรียมการฝากล่วงหน้าผ่านอินเทอร์เน็ต ณ ที่อยู่ของลูกค้าได้ตลอดเวลาเช่นกัน โดยใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน PROMPT POST พร้อมคำนวณค่าใช้บริการให้อัตโนมัติ ซึ่งไปรษณีย์จะเชื่อมโยงข้อมูลจากลูกค้าไปใช้ในขั้นตอนการรับฝาก ส่งต่อ เตรียมการนำจ่าย และการนำจ่าย ซึ่งที่ทำการกลางทาง ที่ทำการปลายทาง จะทราบจำนวนปริมาณงานล่วงหน้า สามารถวางแผนบริหารจัดการปริมาณงานได้อย่างเหมาะสม

มีบริการกล่องพร้อมส่ง สำหรับลูกค้าอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะ ด้วยค่าบริการที่คุ้มค่า และไม่ต้องชั่งน้ำหนัก และใช้มาตรฐานการให้บริการเดียวกับอีเอ็มเอส มีบริการจัดตั้งเครือข่ายรถยนต์สำหรับรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ นำร่อง 10 แห่ง ได้แก่ สามเสนใน, หลักสี่, ปากเกร็ด, จรเข้บัว, รังสิต, คลองจั่น, ภาษีเจริญ, ยานนาวา, พระโขนง และพระประแดง รวมถึงบริการ Same day Post จัดส่งของด่วนในพื้นที่ กทม. ภายในวันเดียว สำหรับกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ ที่ทำความตกลงกับไปรษณีย์ไทย

***คัดแยกรวดเร็ว

2. ระบบการคัดแยก ด้วยการนำเครื่องคัดแยกไปรษณีย์อัตโนมัติมาใช้ในระบบปฏิบัติการเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การติดตั้งเครื่องคัดแยกไปรษณีย์อัตโนมัติแบบ Cross Belt Sorter สำหรับคัดแยกกล่องพัสดุที่สามารถคัดแยกได้ 9,000 ชิ้นต่อชั่วโมง และเครื่องคัดแยกไปรษณีย์อัตโนมัติแบบ Mix Mail Sorter สำหรับคัดแยกซองจดหมายที่สามารถคัดแยก 8,000 ชิ้นต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งที่ศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เรียบร้อยแล้ว และมีแผนจะติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter อีก 2 เครื่อง ที่สำนักงานใหญ่หลักสี่เดิม และศูนย์อี-คอมเมิร์ซ ที่จะสร้างเสร็จภายในเดือน ก.ย. นี้ ในบริเวณพื้นที่หลักสี่ เพื่อรองรับปริมาณงานลูกค้าอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่กว่า 100 รายที่เป็นลงนามสัญญาเป็นลูกค้าไปรษณีย์ไทยออกมาดูแลต่างหาก เพื่อให้ทำงานกับลูกค้าอี-คอมเมิร์ซรวดเร็วขึ้น และไม่ทำให้งานเดิมของลูกค้ากลุ่มอื่นล่าช้า


***เพิ่มศักยภาพการส่งต่อ

3. ระบบส่งต่อ ไปรษณีย์ไทยได้มอบหมายให้บริษัทในเครือคือ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) รับผิดชอบเส้นทางส่งต่อด้วยรถขนส่งไปรษณีย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำจ่ายต่อไป โดย ปณท.ดบ. รับผิดชอบ 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางศรีราชา-กบินทร์บุรี, อยุธยา-กบินทร์บุรี, กทม.-กบินทร์บุรี, เส้นทางใน กทม. และเส้นทางอีเอ็มเอสใน กทม.

***นำจ่ายรวดเร็ว

4. ระบบการนำจ่าย มุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางการนำจ่ายสิ่งของที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้รับในเขต กทม. และปริมณฑล ที่ประสบปัญหาผู้รับไม่อยู่บ้าน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการนำจ่ายสิ่งของเพื่อให้ถึงมือผู้รับปลายทางได้สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย เช่น ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ (ตู้ iBox) หรือการเพิ่มเติมช่องทางการรับสิ่งของผ่านเครือข่ายพันธมิตร (Drop Station) ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแจ้งความประสงค์ให้ไปนำจ่ายสิ่งของในจุดให้บริการได้ นำร่องไปแล้วใน กทม. เช่น ปณ.ธัญบุรี, คลองหลวง, รังสิต, รามอินทรา, จรเข้บัว คาดว่าปีนี้จะตั้งจุด Drop Station ทั้งหมด 80 จุด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทั่วประเทศ

***สนับสนุนดิจิทัลชุมชน

จากนโยบายของกระทรวงดีอี ในการต่อยอดโครงการเน็ตประชารัฐ ด้วยการสนับสนุนให้สินค้าชุมชนมีระบบอีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายภายใต้โครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซนั้น ไปรษณีย์ไทย ได้รับหมายให้เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาแอปพลิเคชัน และติดตั้งระบบบริหาร ณ จุดขาย หรือ พีโอเอส (POS: Point of Sale) ที่สามารถจัดการบริหารค้าปลีกผ่านระบบร้านค้าออนไลน์ ระบบอี-เพย์เมนต์ และระบบ อี-ลอจิสติกส์ ให้กับร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบริษัทได้ตั้งเป้าที่จะเดินหน้าติดตั้งระบบ พีโอเอส ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งการส่งเสริมมาตรฐาน และระบบจัดการที่เหมาะสม จะทำให้ชุมชนสามารถมีรายได้ที่มากขึ้น และพึ่งพาตนเองได้

โดยปัจจุบันดำเนินการเสร็จกว่าจำนวน 200 จุดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระบบดังกล่าวเป็นการยกระดับมาตรฐานของระบบการจัดการหน้าร้าน รายการสินค้า และการจัดการสินค้าคงคลัง เพื่อให้พร้อมสำหรับการขายของออนไลน์ในระบบอีคอมเมิร์ซต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ ไปฝึกอบรมการใช้งานอุปกรณ์ และระบบ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีระบบบริหารจัดการสินค้าที่มีมาตรฐาน และทำการคัดเลือกสินค้าที่พร้อมต่อการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท (www.thailandpostmart.com) ที่จะเป็นอี-มาร์เกตเพลส ร้านค้าออนไลน์สินค้าชุมชนขนาดใหญ่ และครอบคลุมที่สุดของประเทศไทย ที่รวบรวมสินค้าชุมชน ของดีประจำจังหวัด และอาหารที่มีชื่อเสียงจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีสินค้าหลายหมื่นรายการ โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในเดือน พ.ค. นี้


นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้จับมือกับพันธมิตรในการเปิดจุดให้บริการเพิ่มเติม โดยล่าสุดได้เพิ่มจุดบริการในบิ๊กซี แล้ว และเร็วๆ นี้ จะเปิดตัวในสถานีน้ำมัน ปตท. โดยจะเลือก ปตท. ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อน เนื่องจากเป็นสถานีน้ำมันที่เพิ่งเปิดใหม่ จึงสามารถสร้างโมเดลเพื่อส่งเสริมธุรกิจของชุมชนได้ และในอนาคต ก็จะขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สินค้าชุมชนมีจุดให้บริการที่เข้าถึง และตรงกลุ่มมากที่สุด เพราะ ปตท. ก็มีนโยบายในการส่งเสริมสินค้าชุมชนเช่นกัน นอกจากนี้ ก็จะมีการขยายไปยังสถานีน้ำมันของเชลล์ และบางจาก

***ตั้งทีมรับมือการแข่งขันและทำการตลาดในพื้นที่

สมร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกลยุทธ์ดังกล่าวที่ต้องให้บริการลูกค้าแล้ว บริษัทยังมีการตั้งทีม Area Coach จำนวน 14 คน เพื่อทำหน้าที่ลงพื้นที่ที่ทำการไปรษณีย์ แยกต่างหากกับการปฏิบัติงานทั่วไป ในการดูแลด้านคุณภาพการให้บริการ การทำตลาด และการสร้างกลยุทธ์การแข่งขันกับคู่แข่ง ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย โดยนำร่องใน 7 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี 1 แห่ง พื้นที่ กทม. 6 แห่ง ได้แก่ อ่อนนุช, รามอินทรา, สามเสนใน, บางขุนเทียน, บางพลี และลาดพร้าว ซึ่งแต่ละพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณงานจำนวนมาก และมีการแข่งขันดุเดือด

นโยบายไปรษณีย์ 4.0 ของประธานบอร์ด พล.อ. สาธิต พิธรัตน์ ภายใต้การขับเคลื่อนของกรรมการผู้จัดการใหญ่ “สมร เทิดธรรมพิบูล” เป้าหมาย และความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว !!!




กำลังโหลดความคิดเห็น