"จนถึงตอนนี้ ทีโอที ก็ยังไม่ส่งมอบงานโครงการเน็ตชายขอบ ผมเจอ รมว.ดีอี ผมก็ฝากให้ท่านไปตามให้ที เพราะตอนนี้เราก็ส่งหนังสือทวงค่าปรับออกไปแล้ว" ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งมอบงาน สัญญาบริการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ควรส่งมอบงานที่เสร็จ 15% ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจนป่านนี้ทีโอทีก็ยังไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันตามกำหนดในขณะที่ผู้ชนะการประมูลในพื้นที่อื่นๆไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
*** ค่าปรับเดินมา 30 ล้านบาทแล้ว
เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานงวดที่ 1แล้ว แต่ทีโอที ยังไม่สามารถดำเนินงานและส่งมอบบริการได้ภายในกำหนด จึงขอให้เร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และสำนักงาน กสทช. จะมีการแจ้งปรับตามสัญญาข้อ19คือ การบังคับค่าปรับ หรือค่าเสียหาย ซึ่งเกิดจากผู้ให้บริการตามสัญญานี้ ผู้ให้บริการมีสิทธิที่จะหักเอาจากจำนวนเงินค่าบริการงวดใด ๆ หรือบังคับจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หรือหลักเงินประกันล่วงหน้า นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่ส่งมอบงาน
ค่าปรับกรณีผู้ให้บริการไม่สามารถจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อส่งมอบงานบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ภายในเวลาที่กำหนดตามระยะเวลาการส่งมอบงานแต่ละงวด ผู้ให้บริการจะต้องถูกปรับเป็นรายวันในอัตรา0.20% ของมูลค่าบริการในแต่ละงวด นับตั้งแต่วันครบกำหนดส่งมอบ โดยคิดค่าปรับรวมสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต รวมทุกสัญญาคิดเป็นเงินราว9แสนบาทต่อวัน
ทั้งนี้ตามกำหนดในสัญญาที่ต้องส่งมอบงานงวดแรกตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ทีโอทีถูกปรับแล้ว 30 ล้านบาท
เรื่องการดำเนินการโครงการเน็ตชายขอบที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพของทีโอทีทำให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับออกปากเรียกผู้บริหารทีโอทีเข้าไปชี้แจง แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องจะเงียบ เพราะตัวเป็นกาวประสานอย่าง น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กลับบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไร ทีโอที กับ กสทช. ต่อรองและพูดคุยกันได้อยู่แล้ว
ขณะที่ทีโอทียังไม่มีวี่แววว่าจะส่งมอบงานงวดแรกเสร็จ กสทช.ก็ทำหน้าที่เร่งและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งหนังสือให้ชี้แจงความคืบหน้าในการส่งมอบงานลงวันที่ 21 มีนาคม และ วันที่ 30 เมษายนตามลำดับ แต่ทีโอทีก็ยังไม่สามารถส่งมอบงานงวดแรกได้แต่อย่างใด
***ย้อนดูข้ออ้างเหตุสุดวิสัยทีโอที
ก่อนหน้านี้ ทีโอที มีความเพียรพยายามในการต่อรองเรื่องการส่งมอบงานล่าช้าให้กสทช.พิจารณาหลายเรื่องว่าแต่ละเรื่องที่ทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานงวดแรก 15%ได้นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย ทั้งๆที่ทีโอทีบริหารโครงการระดับเทพแล้วก็ตาม จำเป็นต้องให้กสทช.ขยายระยะเวลาให้ แต่หนังสือทางการที่กสทช.ตอบกลับมาทีโอที ปฎิเสธทุกเรื่องว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะหากบริหารจัดการเป็น ก็สามารถทำได้เหมือนบริษัทอื่นที่ชนะการประกวดราคาในพื้นที่โซนอื่นก็สามารถทำได้ตามระยะเวลาในสัญญา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทีโอทีอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจาก มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่นั้น ทำให้ทีโอทีต้องหารือกับกรมบัญชีกลางในวันที่ 19 มิ.ย. 2560 แต่ได้รับคำตอบในวันที่ 17 พ.ย. 2560 นั้น ซึ่งกสทช.เห็นว่า ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย เพราะกสทช.ได้ประกาศอี-ออกชั่น เมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2560
โดยปกติผู้เข้าประกวดราคาต้องเจรจาจัดหาเครื่องและอุปกรณ์อันเป็นส่วนประกอบของบริการเพื่อคำนวณต้นทุนและราคาที่จะเข้าแข่งขันประกวดราคา ซึ่งหากปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องก็มีช่วงเวลาที่สามารถบริหารจัดการได้ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2560 อีกทั้งตามบทเฉพาะกาลแห่งพ.ร.บ.นี้ที่ระบุว่าหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายที่ปฏิบัติเดิมไปจนเสร็จขบวนการได้อยู่แล้ว จึงเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
รวมถึงเรื่อง การเปลี่ยนแปลงจุดติดตั้ง ที่ทีโอทีอ้างว่าต้องดำเนินการสำรวจพื้นที่จริงโดยละเอียด เนื่องจากพื้นที่ในทีโออาร์บางพื้นที่เป็นเขตอุทยาน หรือ ต้องการย้ายจุดตามความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านนั้นกสทช.เห็นว่า ในทีโออาร์ แนบท้ายสัญญา กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานชัดเจน โดยผู้ให้บริการต้องสำรวจสภาพพื้นที่และจุดติดตั้งที่กำหนด พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการสำรวจสภาพพื้นที่ติดตั้งจริง เสนอให้ผู้ใช้บริการพิจารณาและตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนก่อนการติดตั้ง
และในคราวการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของสำนักงาน กสทช.กับผู้แทนผู้ให้บริการทุกสัญญาทุกพื้นที่ภายใต้โครงการ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2560 ได้เน้นย้ำและทำความเข้าใจในการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว พร้อมทั้งให้ส่งแผนการดำเนินงาน เพื่อเร่งรัดและส่งมอบโครงการให้ทันกำหนดสัญญาแต่ละงวดอีกด้วย
ต่อมาในวันที่ 10 ธ.ค. 2560 ทีโอทีส่งหนังสือขอความเห็นชอบเปลี่ยนจุดติดตั้งอุปกรณ์ OLT อุปกรณ์กระจายสัญญาณไวไฟ และ Cellular Station ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (คณะย่อย) และที่ปรึกษาตรวจสอบรายละเอียดแล้วพบว่า ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงจุดติดตั้งไม่ถูกต้อง จุดพิกัดมีความซ้ำซ้อน ไม่อาจพิจารณาได้ว่าจุดใดเป็นไปตามที่กำหนด และ / หรือ จุดใดบ้างที่เปลี่ยนแปลงจากที่กำหนดในทีโออาร์
คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (คณะย่อย) ที่ปรึกษา และ ผู้จัดการโครงการของบริษัทได้ร่วมกันตรวจสอบโดยละเอียดและรับไปจัดทำรายงานผลการสำรวจจุดติดตั้งใหม่ทั้งหมด และหากจุดใดมีความถูกต้อง หรือ มีความชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงพิกัดแล้ว ให้ทยอยส่งมาตรวจสอบเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการต่อไป จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2561จึงเริ่มทยอยจัดส่งมาอีกครั้ง และคณะกรรมการตรวจรับ (คณะย่อย) ร่วมกับที่ปรึกษาได้ทยอยพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่ละจุดติดตั้งไปเรียบร้อยแล้ว จนถึงปัจจุบันบริษัทยังส่งรายงานผลการสำรวจและ/หรือ การเปลี่ยนแปลงจุดติดตั้งไม่ครบถ้วน จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
และเรื่องการเปลี่ยนแปลงชนิดของเคเบิลใยแก้วนำแสง จาก ADSS เป็น ARSS ที่ทีโอทีอ้างว่าเสียเวลากับการรอหนังสือตอบกลับให้เปลี่ยนแปลงเป็นเวลา 80 วัน นับตั้งแต่ที่ทีโอทีทำหนังสือสอบถามไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 - 5 ม.ค. 2561 นั้นกสทช.เห็นว่าเรื่องนี้กสทช.ไม่สามารถตอบเองได้ จึงต้องสอบถามไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยหลักเกณฑ์การพาดสายและติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม บนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2558 ลงวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ข้อ 6.6 "การพาดสายสื่อสารโทรคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป สายสะพาน (Messenger Wire) ของสายสื่อสารโทรคมนาคมชนิดตัวนำเส้นใยแก้วนำแสง (Optical Fiber) ต้องเป็นอโลหะเท่านั้น"
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กฟภ.ก็ไม่ได้ขัดข้อง และ กสทช.ก็ให้แก้สัญญาได้ ซึ่งการแก้ไขสัญญาจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของสายใยแก้วนำแสงทั้งสองชนิดและสืบหาข้อมูลด้านราคาที่ไม่ทำให้ราชการต้องเสียประโยชน์ทั้งด้านคุณภาพและราคา ดังนั้นระยะเวลาที่เสียไปไม่ใช่เหตุที่ทำให้การบริหารจัดการของบริษัทต้องหยุดหรือล่าช้าออกไป โดยบริษัทยังคงใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติถูกต้องตรงตามเงื่อนไขข้อกำหนดของสัญญาได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด
"เรื่องนี้ตนไม่รู้เรื่อง เพราะเรื่องไม่ได้มาถึงปลัด มันเป็นเรื่องของสัญญา ทีโอที ต้องปฎิบัติตาม" อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี ตอบชัด ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสัญญาที่ทีโอทีต้องปฏิบัติตาม การถูกปรับเงินรู้แล้วเข้าใจ แต่ช่วยอะไรไม่ได้ในยามที่ทีโอทีต้องทำงานร่วมกับมืออาชีพ ก็ต้องทำงานแบบมืออาชีพ กสทช.หรือ ใครๆ ก็ไม่สามารถขยายระยะเวลาใดๆได้ทั้งนั้น
ความเน่าเฟะโครงการเน็ตชายขอบของทีโอที ถูกตีแผ่ผ่านข่าวเรื่องแฉ "ทีโอที"กระอักเลือดโครงการเน็ตชายขอบ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เปิดโปงให้เห็นความเน่าเฟะของผู้บริหารที่จัดการโครงการแบบไร้ประสิทธิภาพ มุ่งหวังแค่จัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่างๆนานาแบบไม่รวมการติดตั้งหวังเช็กบิลระยะสั้น พร้อมล็อกสเปกโครงการจัดสร้างอาคาร USO NET การมั่วเขียนทีโออาร์ที่มากกว่าทีโออาร์ที่กสทช. ต้องการ รวมทั้งการถีบเอกชนบางรายที่ไม่ใช่พวกพ้องให้ตกเรื่องโซล่าเซล
ทันทีที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา ด้วยความหวังให้ผู้ใหญ่รู้เห็นปัญหาและรีบหาทางแก้ไขก่อนเส้นตายส่งมอบงานงวดแรก แต่สิ่งที่ทีโอทีถนัดคือ "แก้ตัว" ให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวไม่อยู่ในวังวงผลประโยชน์ด้วย ส่งหนังสือมาชี้แจง โดยผู้บริหารคนรับผิดชอบตัวจริง ไม่กล้าแม้กระทั่งใช้ชื่อตัวเองชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อ้างแต่ว่ากำลังส่งหนังสือขอขยายเวลาส่งมอบงาน ทั้งๆที่คนในวงการหัวเราะเสียงดังว่างานยังไม่ทำอะไรแต่อวดฉลาดคิดว่าขอยืดเวลาได้ เป็นการแถเอาตัวรอดหลอกไปวันๆ แม้กระทั่งกล่าวคำหวานใส่บอร์ดว่าเผื่อค่าปรับไว้แล้วไม่เป็นไร ในขณะที่ชิต เหล่าวัฒนา บอร์ดทีโอทีเองยังตอบเรื่องค่าปรับไม่ถูก เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่เผชิญหน้ากลุ่มสหภาพฯและพนักงานทีโอทีโดยมิได้นัดหมาย
"ไม่รู้บอร์ดทีโอที สนใจอะไรบ้างมั้ย เน็ตชายขอบโดนปรับ 30 ล้านบาทแล้วและค่าปรับยังเดินอยู่ทุกวันก็เฉย ขนาดรองปลัดดีอี สมศักดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการบอร์ดด้วยก็ให้ท้ายว่าเคลียร์ได้ ประเด็นบริษัทลูก NBN ผู้บริหารอย่างมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ก็จะโอนทรัพย์สินให้ได้ ไม่สนใจทำความเข้าใจกับพนักงาน ผู้บริหารใต้บังคับบัญชาทำงานกันอย่างนี้ ก็เฉย บอร์ดคงอยู่เย็นเป็นสุขทุกท่านดีกระมั้ง ไม่เห็นทำอะไรให้คุ้มกับเบี้ยประชุมเลย"