xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคคว้า 2300 MHz ทีโอที คลายปมแรกเส้นตายสัมปทานมือถือ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากเซ็นสัญญา ดีแทคจะเร่งขอใบอนุญาตในการติดตั้งเสาส่งสัญญาณคลื่น 2300 MHz กับ กสทช. คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ลูกค้าจะได้ใช้งาน
ในที่สุดทั้ง ทีโอที และ ดีแทค ก็ได้ฤกษ์งามยามดีในการเป็นพันธมิตรคลื่น 2300 MHz โดยใช้วันที่ 23 เมษายน 2561 เป็นวันจรดปากกาลงนาม 'สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศระบบ 2300 MHz ' เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคอยู่หลายขั้นตอน แม้ว่าจะโชคดีกว่าดีลของเอไอเอสในคลื่น 2100 MHz เพราะใช้เวลาในการรอไม่ถึง 2 ปี ในขณะที่เอไอเอสต้องรอเกือบ 3 ปี ก็ตาม แต่ในทุกขวากนามที่ดีแทคต้องเผชิญนั้นล้วนทำให้หายใจไม่ทั่วท้องและต้องลุ้นตัวโก่งอยู่ตลอดเวลาเช่นกันว่าจะได้ใช้คลื่น 2300 MHzหรือไม่

***สัญญาใช้งานได้ถึงปี 2568

ทั้งนี้ ทีโอที มีสิทธิ์ใช้คลื่น 2300 MHz ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องคืนคลื่นให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หากมีแผนว่าจะนำคลื่นนี้มาใช้งานก็จะสามารถใช้งานได้ถึงปี 2568 ทำให้ทีโอทีเริ่มกระบวนการคัดเลือกคู่พันธมิตร ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2559 ด้วยการจ้างบริษัท เดเทคอน และไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ เป็นที่ปรึกษา ทั้งด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านพาณิชย์ ซึ่งพบว่าข้อเสนอของดีแทคดีที่สุด ดีกว่าคู่แข่งอีกหลายรายที่ยื่นข้อเสนอมาแข่งขันกันเพื่อให้ทีโอที ได้รับประโยชน์สูงสุด

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz เนื่องจากให้ข้อเสนอทั้งด้านเทคนิค และรายได้เหนือกว่าผู้เข้าร่วมเสนอเงื่อนไขที่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 ถึง 30% โดยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนมากกว่า 20,000 แห่ง ซึ่งมากกว่าที่ทีโอทีตั้งไว้

ดังนั้นทันทีที่จรดปากกาเซ็นสัญญา ทีโอทีก็เริ่มรับรู้รายได้ทันที จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท หรือ คิดเป็นเดือนละ 375.8 ล้านบาทและภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีระยะเวลาถึงปี 2568 นี้ ทีโอที จะเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากเทเลแอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของดีแทค ไตรเน็ต เพื่อนำมาสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless Access, BWA) ทั้งบริการบรอดแบนด์ไร้สายประจำที่ (Fixed Wireless Broadband) และบริการบรอดแบนด์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งความจุโครงข่ายส่วนหนึ่ง (Capacity) ทีโอที ได้นำมาให้บริการตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของลูกค้า และตอบสนองนโยบายของรัฐ และความจุโครงข่าย (Capacity) อีกส่วนหนึ่ง จะนำมาให้บริการแก่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในรูปแบบของการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Roaming) โดย ทีโอที จะมีรายได้จากการให้บริการโรมมิ่งปีละประมาณ 4,510 ล้านบาท

***ไม่เกิน 3 เดือน ลูกค้าได้ใช้งาน

ในส่วนของดีแทคนั้น หลังจากเซ็นสัญญา ดีแทคจะเร่งขอใบอนุญาตในการติดตั้งเสาส่งสัญญาณคลื่น 2300 MHz กับ กสทช. ส่วนเครื่องลูกข่ายที่รองรับเทคโนโลยี 4G LTE-TDD คลื่น 2300 MHz ที่มีมากกว่า 100 รุ่นในตลาด และ เครื่องที่ใช้งานในระบบ 4G กว่า 70% ก็รองรับการใช้งาน 2300 MHz อยู่แล้วซึ่งมีราคาเริ่มตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท คาดว่าไม่เกิน 3 เดือนลูกค้าจะได้ใช้งานดาต้า ซึ่งเป็นจุดเด่นของเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน

ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า โครงข่าย 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการใช้งานทรัพยากรคลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ในทางเทคนิค TDD คือการใช้งานคลื่นความถี่แบนด์เดียวทั้งรับและส่งข้อมูลในเวลาเดียวกัน จึงทำให้เพิ่มศักยภาพการรองรับรูปแบบการใช้งานดาต้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ จากการรายงานของสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA Intelligence การขยายโครงข่าย LTE-TDD ของผู้ประกอบการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยคาดว่า TDD จะมีสัดส่วนทั่วโลกถึง 22% ในปี พ.ศ. 2563

*** 2300 MHz คลื่นกว้างที่สุด

คลื่น 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่มีขนาดกว้างที่สุด คือมีขนาด 60MHz กว้างเป็นผืนเดียว ไม่มีการตัดแบ่งจากกัน ดังนั้นถ้านำมาให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จะให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดเหมือนถนนขนาด 8 เลน ไม่ต้องแบ่งขาเข้า-ขาออก อย่างละครึ่ง แต่สามารถแบ่งได้ตามความต้องการ เช่น ตอนเช้าคนใช้รถเข้าเมืองมากกว่า ก็จะแบ่งถนนขาเข้า 7 เลน และขาออกแค่ 1 เลน หรืออาจปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อความสะดวกคล่องตัวและเหมาะสมกับการใช้งาน

คิดง่ายๆ ว่าถ้ายืนอยู่กลางย่านสยาม ที่มีคนจำนวนมหาศาล ทุกคนใช้งาน Facebook, YouTube หรือ Google พร้อมกัน หรือพูดง่ายๆ ถ้าทุกคนกำลังดู LIVE ผ่านสมาร์ทโฟน นั่นคือการใช้งานขาดาวน์ลิงค์ มากมายมหาศาลพร้อมกันจนคลื่นไม่พอ แต่ขา อัปลิงค์ กลับมีพื้นที่เหลือไม่ค่อยมีคนใช้งาน แต่ถ้าปรับสลับกันโดยนำพื้นที่ที่เหลือของ อัปลิงค์ มาใช้งานเพิ่มให้กับขาดาวน์ลิงค์ ด้วยก็จะทำให้การใช้งานคล่องขึ้น

เทคโนโลยีบนคลื่นความถี่ต่างๆ แบบเดิมคือ เทคโนโลยี FDD (Frequency Division Duplex) ใช้ให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 1800 และ 2100MHz เทคโนโลยีนี้เดิมถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการด้านเสียง (Voice) เป็นหลัก มีการแบ่งใช้งานคลื่นความถี่เป็นรับข้อมูลหรือดาวน์ลิงค์ และ ส่งข้อมูลหรืออัปลิงค์โดยต้องแบ่งเท่าๆกัน
เช่น คลื่นความถี่ 2100MHz ที่ให้บริการ 4G ในประเทศไทย หรือ เรียกว่า 4G LTE-FDD แบ่งเป็น ดาวน์ลิงค์ 15MHz และอัปลิงค์ 15MHz เท่าๆ กันเป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่ไม่สามารถขยับคลื่นได้ ดังนั้นถ้าพื้นที่มีการรับข้อมูลดาวน์ลิงค์ ปริมาณมาก อินเทอร์เน็ตก็จะช้าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการใช้งานดาวน์ลิงค์จะใช้มากกว่า

สำหรับ TDD (Time Division Duplex) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยเฉพาะ ใช้งานทั้งรับและส่งข้อมูลบนคลื่นความถี่ผืนเดียวกัน ไม่ต้องแบ่งแบบ FDD หรือแบบคลื่นความถี่เดิม ถ้ายิ่งมาใช้ 4G LTE-TDD บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งกว้างที่สุดถึง 60 MHz จึงมีความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และปรับให้เข้าได้กับแต่ละพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ไม่ใช่แค่มีถนนกว้าง 8 เลนเท่านั้น แต่สามารถปรับเปลี่ยนขาเข้า (รับข้อมูล) และขาออก (ส่งข้อมูล) ได้ตามความกว้างเหมาะสมกับการใช้งานจริง นี่คือ 4G LTE-TDD

*** ดีแทคต้องประมูลคลื่น 1800 MHz

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า หลังจากที่ทีโอทีและดีแทคเซ็นสัญญาคลื่น 2300 MHz เรียบร้อยแล้ว ทีโอที ต้องส่งสัญญามาให้กสทช.ดูอีกครั้งหนึ่งว่าจะไม่นำคลื่น 2300 MHz ไปให้บริการด้านเสียง ซึ่งเชื่อว่าแม้ดีแทคจะได้เป็นพันธมิตรกับทีโอทีแล้ว ดีแทคก็ยังต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นกับกสทช.เนื่องจากเทคโนโลยี TDD แม้ว่าจะได้ความจุไป 60 MHz แต่การใช้งานก็ยังมีประสิทธิภาพไม่เกิน 50 % ของความจุที่ได้
บรรยายภาพ – รังสรรค์ จันทร์นฤกุล ,มนต์ชัย หนูสง ผู้บริหารทีโอที กับ ลาร์ส นอร์ลิ่ง,นฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้บริหารดีแทค ในวันเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรชื่นมื่นคลื่น 2300 MHz
หากมองในด้านเทคนิคแล้วจะเห็นว่าคลื่นดังกล่าวนี้เดิมเป็นคลื่นที่ทีโอทีให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานระหว่างหมู่บ้าน ซึ่งหากนำมาให้บริการโทรศัทพ์มือถือจะเป็นแค่คลื่นความถี่เสริมในการให้บริการเท่านั้น และใช้งานได้แค่ดาต้าไม่สามารถใช้งานบริการด้านเสียงได้ สรุปคือถ้าโทรเข้า-ออกแบบธรรมดาจะทำไม่ได้ ทำได้เพียงโทรผ่านไลน์เท่านั้น และแม้ดีแทคได้คลื่นมาจำนวน 60 MHz แต่ในทางเทคนิคใช้งานได้แค่ 30 MHz เท่านั้น และคลื่นยังมีข้อกำจัดทางเทคนิคหลายด้าน ต่างจากคลื่น 1800 MHz ที่กสทช.เปิดประมูลที่มีประสิทธิภาพดีกว่าและมีความสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้ดีกว่า และกสทช.ยังต้องขอตรวจสัญญาการก่อนที่ดีแทคจะให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วย

เมื่อคำนวณจากรายจ่ายที่ดีแทคต้องชำระให้ทีโอทีเป็นค่าเช่าปีละ 4,510 ล้านบาท อายุใช้งานได้ถึงแค่ปี 2568 และดีแทคยังต้องลงทุนสร้างโครงข่ายใหม่นั้นถือว่าไม่คุ้มค่า แต่หาก ดีแทคเข้าประมูลแล้วเป็นผู้ชนะในการเคาะราคา 1-2 ครั้ง ก็จะได้คลื่นความถี่ไปในราคาประมาณ 38,000 ล้านบาท เมื่อหารจำนวนปีที่ได้รับใบอนุญาตอยู่ที่ 15 ปีเฉลี่ยรายจ่ายปีละ 2,530 ล้านบาทเท่านั้น

อีกทั้ง ดีแทคยังไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่ม เพราะเป็นคลื่นเดิมของดีแทคเองและก็มีโครงข่ายเดิมที่ติดตั้งตามสัญญาสัมปทานอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าคลื่น 1800 MHz ที่จะมีการเปิดประมูลเร็วๆนี้ยังมีกลิ่นหอมหวานที่ดีแทคต้องการอยู่

สอดคล้องกับแหล่งข่าววงการโทรคมนาคม ที่เห็นว่า ดีแทค ยังมีความสนใจประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เนื่องจากคลื่นความถี่ยิ่งต่ำยิ่งดี คลื่นความถี่ไปได้ไกลกว่า ทำให้ลงทุนน้อย และข้อดีของคลื่นความถี่ 1800 MHz คือ ดีแทค มีอุปกรณ์อยู่แล้ว แค่ไปเช่าเสาจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็สามารถใช้ได้ทันที และเชื่อว่าจะประมูลมากกว่าหรือเท่ากับ 15 MHz เพื่อไม่ให้มีคลื่นความถี่น้อยกว่ารายอื่น เพราะเมื่อถึงวันที่ 16 ก.ย. 2561 ดีแทคจะเหลือเพียงคลื่น 2100 MHz จำนวน 15 MHz เท่านั้น

ถึงแม้ต้องรอการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่หรือไม่ต้องรอก็ตามเพื่อเดินหน้าประมูลคลื่น 1800 MHz แต่ดีแทคก็ได้เตรียมรับมือการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากดีแทคต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าตามแผนของ กสทช.แล้ว ดีแทค ยังเตรียมความพร้อมของเครือข่ายด้วยการเป็นพันธมิตรในการเช่าใช้อุปกรณ์โครงข่ายกับ กสท โทรคมนาคม ในระยะยาวด้วย

ดูเหมือนว่าตอนนี้หนทางของดีแทคเริ่มสะดวกมากขึ้น เมื่อสัญญากับทีโอทีที่ดูเหมือนจะมีขวากหนามได้ผ่านพ้นมาแล้ว ส่วนสัญญาการเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะตามมาภายในปีนี้ก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม น่าจะเป็นการรับประกันอย่างดีว่าเทเลนอร์เจ้าของดีแทคยังคงอยู่ในเมืองไทยอีกยาวนานไม่หอบเงินหนีกลับต่างประเทศอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น