xs
xsm
sm
md
lg

กางแผนทรู ดันไทยสู่ 'ดิจิทัลฮับ' ผ่านลงทุนเคเบิลใต้น้ำ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุพจน์ มหพันธ์ กับ วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์
ความคืบหน้าล่าสุดที่กลุ่มทรู เข้าไปลงทุนบนโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำเส้น SJC2 ที่เชื่อมระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ากับเอเชียเหนือ เพื่อเชื่อมต่อไปยังสหรัฐฯ จะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลฮับในภูมิภาคนี้

เนื่องจากที่ผ่านมา การที่ประเทศไทยจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศไปทางเส้นตะวันออก ส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางเคเบิลภาคพื้นดินที่เชื่อมระหว่างไทย เข้าสู่มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่จะเป็นฮับกระจายการเชื่อมต่อไปยังฮ่องกง และญี่ปุ่น ก่อนเชื่อมต่อไปทางสหรัฐฯ

แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยจะมีผู้ให้บริการเคเบิลใต้น้ำที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศอยู่ แต่เนื่องจากมีราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้การใช้งานยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ดังนั้น จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ต่างประเทศมองว่า การเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะมีข้อจำกัดเหล่านี้อยู่

วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฉายภาพให้เห็นถึงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของกลุ่มทรู โดยเริ่มต้นจากการลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 3.6 พันล้านในช่วง 15 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้ประเทศไทย สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศทางฝั่งตะวันออกไปยังจุดภูมิศาสตร์สำคัญอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ได้โดยตรง ก่อนเชื่อมต่อไปทางสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน กลุ่มทรูก็อยู่ระหว่างการศึกษาแผนในการลงทุนเคเบิลใต้น้ำในฝั่งตะวันตก ในการเชื่อมอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านเคเบิลใต้น้ำ ในเส้นทางมหาสมุทรอินเดีย ผ่านตะวันออกกลาง ไปยังยุโรป แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ในเวลาอันใกล้นี้

'ถ้าไทยสามารถเชื่อมเคเบิลใต้น้ำได้ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ก็มีโอกาสที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะไม่ต้องผ่านมาเลเซีย และสิงคโปร์เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และจะทำให้ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ได้ด้วย'

ก่อนกล่าวย้อนไปว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทรูถือเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายรายเดียวในไทย ที่มีแบนด์วิดท์สูงที่สุดในเมืองไทยในส่วนการเป็นผู้ให้บริการเอกชน ทั้งในแง่ของการให้บริการบรอดแบนด์ 3G ,4G ที่มีการใช้แบนด์วิดท์เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

'ในมุมหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกที่กลุ่มทรู ไม่มีการลงทุนเคเบิลใต้น้ำของตัวเอง ทำให้การลงทุนในคราวนี้กลุ่มทรูควรจะทำตั้งนานแล้ว และช่วยสร้างโอกาสมหาศาล เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาการลงทุนเคเบิลใต้น้ำ ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วทำได้ ต้องมีการขออนุญาตในน่านน้ำต่างๆ ถ้าไม่ได้กลุ่มพันธมิตรที่ดี ต่อให้มีเงินลงทุนมากแค่ไหนก็ไม่สามารถลงทุนได้'

สุพจน์ มหพันธ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความสำคัญของการมีเคเบิลใต้น้ำที่รองรับแบนด์วิดท์ปริมาณสูงถึง 144 Tbps เพื่อเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศนั้น นอกจากใช้เพื่อรองรับการใช้งานในประเทศแล้ว ยังทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับพม่า ลาว กัมพูชา เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศได้

ที่สำคัญคือ การที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมกับต่างประเทศ จะทำให้การลงทุนในประเทศไทย น่าสนใจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาอุปสรรคที่เพื่อนบ้าน และประเทศไทยเจอคือ เวลาลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา จะมองเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ประกอบกับปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย ที่มีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้น อย่างข้อมูลล่าสุดในช่วงปีที่ผ่านมากลุ่มทรู มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสูงถึง 800 GB จากปริมาณแบนด์วิดท์ที่ลงทุนไว้รองรับราว 1 TB และมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกๆปี

'ตอนนี้ในประเทศไทยมีตัวเร่งที่ทำให้ปริมาณการใช้งานดาต้าเติบโตขึ้น ทั้งการเตรียมความพร้อมของโอเปอเรเตอร์ในการลงทุนจากการให้บริการ 4G ไปเป็น 4.5G และอีกช่วงคือการลงทุนเพื่อพัฒนาจาก 4.5G ไปเป็น 5G ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว'

นอกจากนี้ จากนโยบายของประเทศไทยที่มีการผลักดันดิจิทัล อีโคโนมี รวมถึงไทยแลนด์ 4.0 ก็ต่างเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสูงขึ้นด้วย ไม่นับรวมกับการใช้งานทั่วไปของผู้บริโภคทั้งการสตรีมมิ่งวิดีโอระดับ 4K ที่จะก้าวขึ้นเป็น 8K การมาของ IoT และเทคโนโลยีอื่นๆอีก

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูถึงเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการลงทุนในครั้งนี้คือ กลุ่มทรู ได้มีการสำรวจถึงพฤติกรรมของการใช้งานอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศของผู้ใช้ชาวไทยพบว่า สัดส่วนการเชื่อมต่อไปในเส้นตะวันออกจะสูงถึง 80% เมื่อเทียบกับทางตะวันตก

โดยมีเหตุผลหลักมาจากการที่คนไทยเข้าถึงคอนเทนต์จากผู้ให้บริการอย่างกูเกิล (ยูทูป) เฟซบุ๊ก ที่ถือเป็นผู้ให้บริการรายหลัก ถัดมาคือการเข้าถึงคอนเทนต์จากเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ที่มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การเติบโตรวมของการใช้ดาต้าระหว่างประเทศเติบโตถึง 58%

สุพจน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ ทำธุรกิจโอเปอเรเตอร์ในต่างประเทศอยู่แล้ว ทำให้หลายๆธุรกิจที่รู้จักทรูถามว่าเมื่อไหร่ทรูจะทำเคเบิลใต้น้ำ เพราะกลุ่มทรูมีฐานลูกค้าที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่มากกว่า 30 ล้านราย แค่ลงทุนเพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มใช้งานก็คุ้มค่าแล้ว

ดังนั้น นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคแล้ว แค่นำมาให้ลูกค้าในกลุ่มใช้งานก็ถือว่าคุ้มค่าแล้ว ที่สำคัญด้วยรูปแบบของการลงทุนในครั้งนี้ที่เป็นแบบ Open Undersea Cabel Systems ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณแบนด์วิดท์ในการให้บริการได้อีก

เบื้องต้น เคเบิลใต้น้ำ SJC2 ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2020 จะรองรับปริมาณแบนด์วิดท์ทั้งหมด 144 TB เพียงแต่กลุ่มทรูจะเชื่อมต่อเข้ามาใช้งานราว 18 TB โดยแบ่งเป็นเส้นที่เชื่อมไปทางมาเลเซีย และสิงคโปร์ 9 TB ส่วนอีก 9 TB จะใช้เชื่อมไปทางฮ่องกง ไต้หวัน จีน เกาหลี และญี่ปุ่น

'เทคโนโลยีที่ลงทุนในปัจจุบันอาจจะรองรับการใช้งานสูงสุดในระดับ 114 TB แต่ในอนาคตอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การที่จะเพิ่มปริมาณแบนด์วิดท์ที่รองรับให้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จากการเปลี่ยนอุปกรณ์เชื่อมต่อก็ถือว่าเป็นไปได้'

สุดท้ายเมื่อดูถึงแผนการลงทุนที่เกิดขึ้น จะทำให้เห็นได้ว่าการลงทุนของภาคเอกชน ในมุมหนึ่งอาจจะเน้นไปที่การนำมาให้บริการลูกค้า แต่ในอีกมุมคือเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศ ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ให้มองประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ได้ไม่ยาก.


กำลังโหลดความคิดเห็น