xs
xsm
sm
md
lg

“บาทฟินเทค” จับมือ “แอดไวซ์” ใช้เงินคริปโตซื้อสินค้าครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ศักดา เกตุแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค
“บาทฟินเทค” เปิดมิติใหม่วงการเงินคริปโตฯไทย แจ้งเกิดเงิน “ไทยบาทดิจิทัล” (TBD) ให้คนไทยซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้ปลอดภัยในราคาถูกลงบนเทคโนโลยีบล็อคเชน ตั้งใจขยายตัวเลขการใช้งานทะลุ 1 พันล้านบาทใน 5 ปีหลังบริษัทระดมทุนด้วย ICO จำนวน 300 ล้านเหรียญคริปโตฯ ขีดเส้นเมษายนนี้จับ “แอดไวซ์” ประเดิมขายสินค้าไอทีผ่านสกุลเงินดิจิทัลครั้งแรกในไทย

ศักดา เกตุแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาทฟินเทค กล่าวว่าการเปิดตัวระบบเงินดิจิทัลใหม่ TBD เกิดขึ้นเพราะความเชื่อมั่นในเงินบาทไทย ว่าสามารถเป็น “ดอลลาร์ของอาเซียน” ได้ เนื่องจากความนิยมใช้งานเงินบาทของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน TBD ยังพัฒนาบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการหลอกลวงในวงการอีคอมเมิร์ซได้ดี

“ปีล่าสุด ตัวเลขคนไทยโดนโกงบนออนไลน์คิดเป็นมูลค่า 4.53 แสนล้านบาท มากกว่างบประมาณกระทรวงศึกษาซึ่งเป็นกระทรวงไทยที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด” ศักดาระบุว่าคำนวณตัวเลขนี้จากยอดการเติบโตของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการค้าขายออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ชในประเทศไทย ที่มีสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และมีสัดส่วนการหลอกลวงมากกว่า 30% ของยอดอีคอมเมิร์ชในช่วงที่ผ่านมา

ระบบของบาทฟินเทค จะทำให้ผู้ซื้อผู้ขายได้ใช้จ่ายผ่าน “ไทยบาทดิจิทัล” หรือ TBD เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปที่ผู้ขายผ่านระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล ระบบเงินจะถูกลด-เพิ่มจากบัญชี โดยบัญชีผู้ซื้อจะถูกตัด และขึ้นสถานะรอการยืนยันที่บัญชีผู้ขาย เช่นเดียวกับระบบเช็ครอการเคลียริ่ง เมื่อผู้ซื้อได้รับสินค้าตรงตามที่ตกลงกับผู้ขาย เงินไทยบาทดิจิทัลจะเข้าบัญชีผู้ขายโดยสมบูรณ์ แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดทำให้การซื้อขายไม่สมบูรณ์ ระบบก็ะทำการคืนเงินให้กับผู้ซื้อโดยอัตโนมัติ

“ระบบนี้จะดีกว่าการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต visa master card หรือ paypal แม้บัตรเครดิตผู้ซื้อจะนิยมเพราะได้สะสมแต้ม และสิทธิพิเศษอื่นๆ แต่ขณะเดียวกันกับมีการหักเงินฝั่งผู้ขาย 2-6% ในทุกธุรกรรม ซึ่งบริษัทเจ้าของบัตรเครดิตได้ส่วนแบ่ง 4% และให้คืนผู้ใช้บัตร 1% แต่ TBD คิดค่าธรรมเนียมแค่ 0.1% และเข้ามาจัดการความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทั้งระบบ”

สาเหตุที่ทำให้ค่าธรรมเนียม TBD ทำได้ต่ำ เพราะเทคโนโลยีบล็อกเชนที่กำลังได้รับความนิยม โดยค่าธรรมเนียม 0.1% นี้จะถูกเรียกเก็บกรณีที่มีการโฮล หรือการตั้งค่าไม่ตัดเงินในระบบทันที เพื่อรอให้ผู้ซื้อคลิกตัดเงินเมื่อได้รับของแล้ว ซึ่งถ้าไม่โฮล จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมเพื่ออำนวยความสะดวก

“ค่าธรรมเนียมเราต่ำกว่าคนอื่น 30 เท่า เพราะที่ผ่านมาเทคโนโลยีเก็บข้อมูลมีราคาแพง แต่เราใช้บล็อกเชนทำให้การเก็บข้อมูลทำได้ด้วยต้นทุนต่ำ และปลอดภัย”

เฉพาะปีนี้ ต้นสังกัด TBD คาดว่าจะมีการใช้เงินระบบไทยบาทดิจิทัลประมาณ 5% ของมูลค่าอีคอมเมิร์ชในประเทศไทย หรือประมาณ 70 ล้านบาท ในระยะยาวคาดว่าปริมาณการใช้ TBD จะครอบคลุม 50% ของตลาดทั้งหมดภายใน 5 ปี (2565) แตะ 1 พันล้านบาท

***พุ่งเป้าชาวคริปโตฯไทย

เป้าหมายหลักที่จะเลือกใช้ TBD แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ค้าอีคอมเมิร์ชจากบริษัทใหญ่ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการซื้อขายให้กับลูกค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีวงเงินหลายพันบาทต่อชิ้น และไม่ต้องการพึ่งพาเว็บซื้อขายที่มีระบบเครดิตการชำระเงินที่ไม่เหมาะสม กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มลูกค้าไมโครเปย์เมนท์ หรือการค้ารายย่อยที่ต้องการเงินหมุนเวียนสูงจะตามมา

ในมุมผู้บริโภค กลุ่มเป้าหมายหลักของไทยบาทฟินเทคคือกลุ่มผู้ถือเหรียญดิจิทัลอยู่แล้ว โดยคนกลุ่มนี้สามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลที่ถืออยู่เป็น TBD เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ต่อไป

“ขณะนี้ TBD แลกเปลี่ยนได้เฉพาะบนบริการแคชทูคอยน์ (Cash2Coin - อีกบริการที่ศักดาก่อตั้งขึ้น) ยอดแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลบน Cash2Coin เฉลี่ยวันละ 10 ล้านบาท รองรับ 10 กว่าสกุล” ศักดาย้ำ “ผมมองว่าไม่มีความท้าทายทางกฏหมาย เนื่องจากประเทศไทยมีศาลปกครอง ถ้าทุกอย่างพร้อมก็ต้องออกใบอนุญาต สิ่งท้าทายคือมิจฉาชีพ เจอผมแน่ ผู้ซื้อผู้ขายจะสบายใจได้ ถ้ามีการโกงก็ดึงเงินคืนได้”
ศักดา เกตุแก้ว จับมือกับ จักกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าบริหารสายงานการขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ แอดไวซ์
เบื้องต้น บริษัทจะต้องขอใบอนุญาตให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเภท ค. เพื่อให้บริการทั่วประเทศหลายอุตสาหกรรม การขอใบอนุญาตนี้กำหนดให้เฉพาะบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้อง ประกาศแผนระดมทุน ICO

*** ICO 300 ล้าน

บาทฟินเทคระบุว่าจะระดมทุนผ่านระบบ ICO ด้วยการออกเหรียญจำนวน 300 ล้านเหรียญ ในมูลค่าเริ่มต้นที่ 3 บาทต่อ 1 เหรียญ จะมีการเปิดซื้อขายเหรียญในรอบพรีเซล 30 มีนาคมนี้ และขายผ่านตลาดเสรีตั้งแต่ 30 เมษายนเป็นต้นไป

“เราจะใช้ผู้ตรวจสอบ หรือ Auditor ที่ดูแลการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้จัดการซื้อขายครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้มาตรฐานการ ICO ของบริษัทเทียบเท่ากับการระดมทุนในตลาดปกติ”

บริษัทคาดว่าภายใน 3 เดือนจะสามารถระดมทุนได้ตามที่บริษัทตั้งเป้าหมาย ซึ่งเงินลงทุน ICO ครั้งนี้ 50% จะถูกนำไปพัฒนาแพตฟอร์ม รองลงมาจะถูกใช้เป็นทุนค่าใบอนุญาต ถัดมาเป็นค่าจัดการและดำเนินการ ขณะที่อีก 5% จะถูกแบ่งไปทำการตลาดและการกุศล

“เราแยกบาทฟินเทคออกมาจากไทยบาทดิจิทัล เราทำ ICO เพื่อเอาเงินดิจิทัลมาใช้จ่าย เราจะตัด 20% มาซื้อเหรียญให้เหลือ 100 ล้านเหรียญทุกปี และจะเอาข้อมูลการโอนเงินระหว่างผู้บริโภคหรือ C2C มาเป็นบิ๊กเดต้า เพื่อวิเคราะห์การกู้เงิน ไทยบาทดิจิทัลจะเท่ากับ 1 บาทตลอดกาล ไม่มีการปรับขึ้นลงเพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายไม่มีความเสี่ยง”

*** ซื้อสินค้าไอทีด้วยคริปโตฯครั้งแรกในไทย

จักกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าบริหารสายงานการขายและการตลาดบริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท หรือ แอดไวซ์ เปิดเผยว่าการเป็นพันธมิตรกับบาทฟินเทค ถือเป็นครั้งแรกที่จะนำเงินคริปโตเคอเรนซี่มาใช้ในการซื้อขายสินค้าจริงในไทย เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการซื้อสินค้าและรองรับการใช้สกุลเงินดิจิทัลไปพร้อมกัน

“ทำไมแอดไวซ์ถึงก้าวเข้ามาเป็นพันธมิตรกับบาทฟินเทค เพราะความปลอดภัย เราทำธุรกิจตั้งแต่การขายผ่านช่องทางหน้าร้านตัวเอง เราสร้างแฟรนไซส์ พัฒนาจาก SME เราทำธุรกิจดีลแบบ B2B มา 20 ปี เพิ่งเปิด B2C ประมาณปีครึ่ง ยอดขายโตมาก ปีที่แล้วขายไป 970 ล้าน เป็นโหมดสินค้าไอที 100% ทำโดยไม่ได้อยู่บนมาร์เก็ตเพลสไหนเลย เท่าที่คุยคือติดเรื่องกฏ คาดว่าจะทำได้จริงช่วงเมษายนนี้”

ผู้บริหารแอดไวซ์เชื่อว่าตลาดหลักของความเคลื่อนไหวนี้คือคนกลุ่มผู้ถือเหรียญเงินดิจิทัลอยู่แล้ว

“ผมตีว่าเกิน 10 ล้านบาทอยู่แล้ว ตลาดที่มีอยู่แล้วนี่น่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ ผมไม่ได้มองกลุ่มใหม่ เราเองก็เป็นไอที ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่องคริปโตเยอะขึ้น โมเดลนี้ผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เราตอบไม่ได้ว่ากลุ่มนี้จะเพิ่มรายได้เรากี่เปอร์เซ็นต์ แต่มองเหมือน TBD ว่าขอ 5% ก็แล้วกัน“


กำลังโหลดความคิดเห็น