xs
xsm
sm
md
lg

พบอาชีพ 'นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล-วิศวกรข้อมูล' ขาดแคลนสูง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แมคคินซี่ แนะ รัฐเร่งปรับหลักสูตร รับ AI ขณะที่เอกชนต้องสร้างหลักสูตรเพื่อเพิ่มทักษะบุคลากรที่มีอยู่ให้ทำงานร่วมกับระบบออโตเมติก ชี้อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล-วิศวกรข้อมูล กำลังขาดแคลน แม้ AI เข้ามาแต่ไม่กระทบแรงงาน เหตุเทคโนโลยียังแพงไม่คุ้มทุนเมื่อเทียบกับการจ้างแรงงานคน

นายเกรเกอร์ ธีเสน ประธานอาวุโสและประธานกลุ่มธุรกิจแมคคินซี่ ดิจิทัล เอเชีย ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม ประสบความสำเร็จระยะยาว กล่าวว่า ในยุคของดิจิทัล ทำให้องค์กรต้องปรับตัวเพื่อรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา องค์กรเริ่มมีการใช้ระบบออโตเมติกเพื่อช่วยให้การบริหารจัดการข้อมูลและตรวจสอบข้อผิดพลาดมากขึ้น

ผลวิจัยของบริษัทซึ่งได้ทำเสร็จเมื่อเดือน พ.ย.2560 ระบุว่า ภาพรวมของทั่วโลกมีข้อมูลที่สามารถปรับให้เป็นระบบออโตเมติกได้ 50% แต่ที่จะทำได้จริงในปี 2573 หรืออีกกว่า 10 ปี ข้างหน้ามีเพียง 15% ขณะที่ประเทศไทยมีข้อมูลที่สามารถปรับให้เป็นระบบออโตเมติกได้ 55% แต่ทำได้จริง 17% ในปี 2573

การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานคน เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอุตสาหกรรมยังคงต้องการแรงงานที่ทำงานควบคู่กับระบบออโตเมติกถึง 6.9 ล้านคน ในปี 2573 อาชีพที่จะได้รับผลกระทบ 100% มีเพียงเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่กระทบแค่ 30% เท่านั้น เนื่องจากในแต่ละประเทศมีความพร้อมในการนำ AI มาใช้ทั้งระบบแตกต่างกัน จะมีเพียงประเทศญี่ปุ่น และจีน เท่านั้นที่เห็นได้ชัดเจนว่าจะนำเทคโนโลยี AI มาแทนแรงงานคน

ส่วนประเทศไทยนั้น พบว่ายังมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถทำได้แบบจีน หรือ ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเทคโนโลยี ที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิต หรือ คิดค้น เทคโนโลยีเอง, โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยังไม่เสถียรและครอบคลุมทุกพื้นที่, ค่าแรงของแรงงานในประเทศไทย ยังไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการนำเทคโนโลยี หรือ เครื่องจักร มาทดแทน เพื่อความคุ้มทุน แต่กลับพบว่าใช้แรงงานคนถูกกว่าการซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้

ที่สำคัญคือทักษะการทำงานของคน เมื่อ AI เข้ามา จำเป็นต้องมีการสร้างทักษะของคนเพื่อทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นอาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และ วิศกรด้านข้อมูล จึงยังขาดแคลนอยู่ ซึ่งตัวเลขทั่วโลกพบว่าขาดแคลนถึง 30 ล้านคน ดังนั้นภาครัฐ ไม่ควรนิ่งเฉยและควรเริ่มต้นที่การศึกษา เพื่อให้นักเรียนมีการเรียนการสอนแบบ 4.0

โดยเน้นที่การให้นักเรียน สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และสามารถปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงานได้ อย่างในออสเตรเลีย ที่กำลังปรับใช้อยู่ ภาคเอกชนเองก็ไม่นิ่งนอนใจ เพราะการรอให้ภาครัฐผลิตบุคลากรอาจจะไม่ทันการณ์ ดังนั้นจึงควรสร้างคอร์สอบรมหลักสูตรให้กับพนักงานเพื่อเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับวิชาชีพที่ขาดแคลน

ด้านนางนพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล ประธานแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) และ ประธานฝ่ายการตลาดและฝ่ายขายแมคคินซี่ในภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ตอนนี้บริษัทที่ตั้งเป้าว่าจะเป็นบริษัทดิจิทัลต้องมีความพร้อมในการเพิ่มทักษะให้กับบุคลากรของตนเองแล้ว ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ต้องสามารถคาดการณ์ข้อมูลที่ถูกเก็บจากลูกค้ามาให้ได้ว่าลูกค้าต้องการอะไร

ขณะที่นักวิศวรกรด้านข้อมูล ต้องเป็นคนสำคัญในการจัดเก็บหมวดหมู่ของข้อมูลให้ชีดเจนและพร้อมนำไปใช้งานในเบื้องต้นได้ ซึ่งใน 2 อาชีพนี้ องค์กรสามารถเพิ่มทักษะของคนในตำแหน่งเดิมที่ทำด้านโปรแกรม และ คอมพิวเตอร์ ให้สามารถทำงานได้


กำลังโหลดความคิดเห็น