xs
xsm
sm
md
lg

แอบดูการเงิน Dropbox จากเอกสารเตรียมขาย IPO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับ Dropbox มากกว่า 500 ล้านรายทั่วโลก มี 11 ล้านคนที่จ่ายเงินเพื่อให้สามารถใช้ฟีเจอร์พิเศษ
หลังจากผ่านไป 11 ปีในฐานะบริษัทเอกชน ล่าสุด ดร็อปบ็อกซ์ (Dropbox) ได้ยื่นเอกสารเพื่อเตรียมจำหน่ายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.) 1 ในความน่าสนใจของเอกสารชิ้นนี้ คือ ความจริงที่ว่า Dropbox ต้องการระดมทุนเพิ่มอีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถยืนหยัดได้ในวันที่ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดลง

Dropbox เป็นบริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์และซอฟต์แวร์เพืิ่อการทำงานที่ชาวออนไลน์ทั่วโลกรู้จักดี วันนี้ Dropbox เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักลงทุนในวอลล์สตรีทช่วงหลายปีนี้ เนื่องจากการประเมินมูลค่าบริษัทที่ถือว่า Dropbox เป็นบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในช่วงแรกที่ Dropbox เปิดตัว โลกออนไลน์ตื่นเต้นกันมากจนเป็นบริการยอดนิยม เนื่องจากผู้บริโภคสามารถใช้บริการฟรี เพื่อเก็บรูปภาพ เพลง และวิดีโอ ไว้บนคลังออนไลน์ กระทั่ง Dropbox เติบโตเต็มที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจ และเปิดตัวบริการจัดเก็บข้อมูลออนไลน์แบบเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงบริการซอฟต์แวร์เพื่อการทำงานร่วมกัน ทำให้เรียกความสนใจจากลูกค้ากลุ่มบริษัทธุรกิจได้มากขึ้น

รายงานระบุว่า Dropbox ได้ยื่นขอ IPO อย่างเงียบเชียบช่วงมกราคมที่ผ่านมา กระทั่งวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ Dropbox จึงจัดทำเอกสารสาธารณะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสถานะการเงิน รวมถึงโครงสร้างเทคโนโลยีภายใน และแผนการขยายธุรกิจ

1 ในสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจชัดเจนจากเอกสารของ Dropbox คือ ยอดขายเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ลดลง

เช่นเดียวกับหลายบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งที่เริ่มเสนอขายหุ้น IPO นั่นคือ การอยู่ในภาวะไม่สามารถทำกำไรได้ จุดนี้ Dropbox ยอมรับว่ายังไม่มีกำไร ทำให้สรุปได้เลยว่า ยอดขายแต่ละปีของ Dropbox นั้น เติบโตขึ้นในขณะที่บริษัทยิ่งติดตัวแดง

ตลอดปี 2017 ดาวรุ่งอย่าง Dropbox มียอดขาย 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 31% จาก 844.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016 ที่ผ่านมา ในปีเดียวกันนั้นเอง Dropbox ขาดทุนมากกว่า 111.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนขาดทุนลดลง 47% จากที่เคยขาดทุน 305.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016
ดริว ฮุสตัน (Drew Houston) ซีอีโอ Dropbox จะรักษาอำนาจในการออกคะแนนเสียงใน Dropbox ไว้แม้ Dropbox  จะขาย IPO คาดว่าซีอีโอจะมีอำนาจโหวตมากกว่า 1 ใน 3 ทีเดียว
รายได้ประมาณ 576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ Dropbox ช่วงปีที่แล้วนั้น มาจากตลาดสหรัฐฯ โดยอีก 531 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรายได้จากผู้ใช้ในประเทศอื่น จุดนี้ Dropbox กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดนอกเหนือจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ครองสัดส่วนยอดขายเกินกว่า 10% ซึ่งแปลว่า ตลาดแดนลุงแซมบ้านเกิด คือ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ Dropbox นอกนั้น ผู้ใช้ Dropbox กระจายตัวอยู่ทั่วมุมโลก

Dropbox ยังกล่าวว่า วันนี้บริษัทมีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับ Dropbox มากกว่า 500 ล้านรายทั่วโลก โดยมี 11 ล้านคนที่จ่ายเงินเพื่อให้สามารถใช้ฟีเจอร์พิเศษ เช่น ระบบรักษาความปลอดภัย และเครื่องมือการจัดการของ Dropbox

ที่สำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หลักของบริษัทอย่าง Dropbox Business มีผู้ใช้งานแล้ว 300,000 ราย ทั้งหมดนี้เพิ่มจาก 150,000 รายที่ใช้งานในปี 2016 ที่ผ่านมา โดยปี 2016 เป็นปีที่ผู้ใช้ Dropbox คงที่ 500 ล้านราย

สถิตินี้ชัดเจนว่า หลายธุรกิจยอมจ่ายเงินให้ Dropbox เพียงแต่ Dropbox ยังขาดทุนอยู่เท่านั้น ซึ่งเพื่อให้ Dropbox สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่อย่างแอมะซอน (Amazon), แอปเปิล (Apple), กูเกิล (Google) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ให้บริการเก็บข้อมูลบนคลาวด์เหมือนกับ Dropbox บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินทุนมากขึ้นภายใต้แรงกดดันหลายปัจจัย

เงินทุนมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดว่า Dropbox จะระดมได้จากการขาย IPO มีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะนำมาใช้เพื่อจ้างพนักงานขายจำนวนมาก รวมถึงการพยายามขยายพันธมิตร ซึ่งเบื้องต้น มีการวิเคราะห์ว่า Dropbox มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเอชพี หรือ Hewlett Packard Enterprise ทำให้อาจมีความคืบหน้าอื่นที่โดดเด่นแน่นอนในอนาคต.


กำลังโหลดความคิดเห็น