xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเงิน 2 พันล้าน ดีอีเอาไปทำอะไรบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระทรวงดีอีเผย 5 โครงการ ยกระดับไทยแลนด์ 4.0 หลัง ครม. ไฟเขียวงบ บิ๊กร็อก 2 พันล้านบาท

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ (บิ๊กร็อก) ครั้งที่ 4 ให้กับกระทรวงดีอี เพื่อใช้ในการดำเนินงาน 5 โครงการสำคัญ วงเงิน 2,254.96 ล้านบาท

ประกอบด้วย 1. โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินกว่า 598 ล้านบาท โดยจะขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และปรับปรุงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่า ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยไฟเบอร์ออปติกไปยังโรงเรียนที่ยังไม่มีโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกไม่น้อยกว่า 3,196 แห่ง รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสุขศาลาพระราชทาน 812 แห่ง รวมทั้งขยายความจุอินเทอร์เน็ตให้กับโรงพยาบาล เพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล จำนวน 5 คู่ (10 แห่ง) และคัดเลือกคู่โรงพยาบาลแม่ข่าย และสุขศาลาพระราชทาน จำนวน 5 คู่ (10 แห่ง) รวมเป็นโรงพยาบาล 20 แห่ง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาคัดเลือก

2. โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงินกว่า 788 ล้านบาท สนับสนุนนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ พร้อมทั้งการสร้างให้เกิดธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ตลอดจนยังสนับสนุนให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่อีอีซี อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ การยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย นักท่องเที่ยว ส่งเสริมการคมนาคมและขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลของเมืองให้เป็นระบบนิเวศข้อมูลของเมือง และต่อยอดใช้ประโยชน์จากข้อมูล เช่น ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลวิถีชีวิตเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมตามนโยบายของอีอีซี รวมถึงการจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการ EEC Operation Center เพื่อนำข้อมูลมาบริหารจัดการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

3. โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมและส่งเสริมการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ตอัป (Digital Startup) วงเงินกว่า 414 ล้านบาท เป็นโครงการส่งเสริมการเติบโตของดิจิทัลสตาร์ตอัป โดยการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการดิจิทัลในระยะเริ่มต้น (Digital Startup) สามารถจัดตั้งดำเนินธุรกิจได้จริงในตลาด และยังเป็นการสร้างโอกาสและเครือข่าย Digital Startup ระดับนานาชาติ (Digital Startup International Network Events) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างศูนย์ Digital Startup Maker Space ร่วมกับพันธมิตรภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับ Digital Startup ในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการ Digital Tech Startup สามารถจดจัดตั้งธุรกิจได้ในประเทศไทย อันก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ตลอดจนเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยดิจิทัล พร้อมทั้งสามารถเพิ่มการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ

4. โครงการ Coding Nation วงเงินกว่า 236 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศ ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนากำลังคนและบุคลากรด้านดิจิทัล รวมถึงการสร้างกำลังคนคุณภาพด้านดิจิทัลในระดับ Digital Professional และกำลังคนที่เป็น Digital Specialist ป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทยสามารถพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กิจกรรมโครงการจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับประเทศผ่านระบบ Coding Nation ประกอบด้วย ระบบการประเมินทักษะตนเอง การอบรมด้านทักษะดิจิทัล ในรูปแบบออนไลน์

5. โครงการจัดตั้งสถาบันไอโอที (IoT Institute) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต วงเงินกว่า 217 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเตรียมความพร้อม และออกแบบ ทั้งนี้ สถาบันไอโอทีจะตั้งขึ้นภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์) โดยในช่วงของการจัดตั้งและก่อสร้างสถาบันจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งโครงการนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศด้าน New S-Curve อาทิ หุ่นยนต์, การบิน, ยานยนต์, หรือแม้แต่ธุรกิจบริการ การปรับการดำเนินธุรกิจจากการพึ่งพาแรงงานที่ไทยกำลังจะประสบปัญหาจำนวนแรงงานจากภาวะการเข้าสู่สังคมสูงอายุไปสู่การผลิตบนฐานของระบบอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่จำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ

รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ หากจะทำให้ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่แท้จริง จะต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Economy) ทดแทนการลดลงของความได้เปรียบเรื่องกำลังแรงงาน ซึ่งต้องมีการลงทุนพัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยในอนาคต

สำหรับ 5 โครงการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงดีอี พยายามผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ที่ทำให้ทุกส่วนได้รับประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งต้องการผลักดันให้ประเทศสามารถเติบโตได้จากภายในประเทศ ด้วยความยั่งยืนและขยายตัวอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลกในอนาคต โดยทั้ง 5 โครงการข้างต้น จะดำเนินการให้สำเร็จในปีงบประมาณนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น