ปาล์มเมอร์ ลักกี้ (Palmer Luckey) ผู้ก่อตั้งโอคูลัส (Oculus) บริษัทเทคโนโลยีด้านเวอร์ชวลเรียลิตีที่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุดในยุคนี้ เคยเป็นคนที่สามารถสร้างโปรโตไทป์ของแว่น VR ได้สำเร็จตั้งแต่อายุ 17 ปี มาในวันนี้ วันที่ปาล์มเมอร์ ลักกี้ อายุ 25 ปีแล้วนั้น โลกก็มีเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจไม่ต่างจากปาล์มเมอร์ และสามารถสร้างแว่น VR ของตนเองได้สำเร็จแล้วเช่นกัน
เด็กคนดังกล่าวมีชื่อว่า Maxime Coutte วัย 16 ปี เขาได้แรงบันดาลใจมาจากการชอบเกมเรื่อง Sword Art Online ซึ่งเป็นเกมที่ต้องเล่นในเวอร์ชวลเรียลิตี แต่เขาทราบดีว่า เขาไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อโอคูลัส ริฟต์ (Oculus Rift) มาใช้ได้ (ตอนนั้นเขาอายุ 13 ปี) อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ ในโรงเรียน และคุณครูสอนคณิตศาสตร์ในหมู่บ้านชื่อ Savins ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เขาจึงตัดสินใจที่จะสร้างมันขึ้นมาแทน
ตอนนี้ Coutte สามารถสร้างแว่น VR ของตนเอง และเล่นเกมดังกล่าวได้สมใจ มากไปกว่านั้น เขายังโอเพนซอร์สเทคโนโลยีทั้งหมดเพื่อให้คนอื่น ๆ ได้นำไปพัฒนาต่ออีกด้วย
อุปกรณ์ของ Coutte มีราคารวมกันไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วยหน้าจอแอลซีดี 5.5 นิ้วความละเอียด 2,560 x 1,440 พิกเซล รองรับมุมมองได้ 90 องศา และติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของมือจากค่ายลีปโมชั่น (Leap Motion) เพื่อใช้ตรวจจับว่ามืออยู่ในสถานะอย่างไร เพื่อมาแปลงค่าเป็นคำสั่งในเกม พร้อมกับบอกว่า แว่นของเขานั้น ทำงานร่วมกับคอนเทนต์ StreamVR ได้อีกด้วย
Coutte เล่าอีกว่า เขาเริ่มเขียนโปรแกรมตอนอายุ 13 ปี ในชมรมโรโบติกส์ที่โรงเรียนให้การสนับสนุน ซึ่งในวันแรกนั้น มีสมาชิกชมรมถึง 12 คน แต่มาในสัปดาห์ที่สองก็พบว่าเหลือเพียงแค่สามคนเท่านั้น
เขาเองหลงไหลในศาสตร์ด้านเวอร์ชวลเรียลิตีอย่างมาก และเคยพูดกับเพื่อนร่วมชมรมอย่าง Gabriel Combe ว่า เขาคงไม่มีเงินพอจะซื้อแว่น VR ดี ๆ เป็นแน่ ทั้งคู่จึงตัดสินใจจะสร้างแว่น VR ขึ้นมาด้วยตัวเอง
จากความพยายามของทั้งสองคน ซึ่งต้องศึกษาทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เพิ่ม ในที่สุดเขาก็สามารถสร้างแว่น VR ราคาประหยัดขึ้นมาได้ และมีเครื่องมืออย่าง FastVR และ Relativ ที่พัฒนาขึ้นมาไว้ใช้งานอีกด้วย
เขาเล่าด้วยว่า ความรู้ที่ต้องการในการทำโปรเจกต์ชิ้นนี้อยู่บนโลกออนไลน์ ตั้งแต่คอร์สคณิตศาสตร์ การสอนเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การหาส่วนประกอบราคาประหยัด ทั้งหมดมีให้ศึกษาฟรีแค่ปลายนิ้ว
จากความร่วมมือของเพื่อนร่วมชมรม และอาจารย์ที่ปรึกษา รวมถึงเพื่อนที่หาส่วนประกอบอย่างเลนส์ และหน้าจอมาให้จากจีน ทั้งสี่คนก็เริ่มฟอร์มทีมและพัฒนามันขึ้นมา โดย Coutte เล่าว่า เริ่มจากความสามารถพื้นฐาน นั่นคือ ทำอย่างไรให้มันจับการเคลื่อนไหวของผู้เล่นได้ ผลก็คือ พวกเขาต้องเรียนรู้เรื่องการควบคุม accelerometer ฯลฯ การที่ทีมเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ผลงานก็ก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ เช่นกัน
Coutte กล่าวด้วยว่า เขาและทีมตระหนักดีว่า การพัฒนาฮาร์ดแวร์แบบง่าย ๆ นั้น ไม่อาจเพียงพอสำหรับการสร้างประสบการณ์ VR ที่ลื่นไหล เขาจึงสร้างโซลูชันชื่อ WRMHL ขึ้นมาเพื่อสร้างการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้นระหว่างแพลตฟอร์ม Arduino และเอนจิน Unity3D ซึ่งเขาอาจทำให้มันเป็นฮาร์ดแวร์ที่ดีขึ้นได้ถ้าเพิ่มงบประมาณลงไป แต่นั่นจะทำให้แว่น VR ของพวกเขาต้องลงไปแข่งกับบริษัทที่มีมูลค่าระดับร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ทางทีมจึงตัดสินใจว่าจะมุ่งพัฒนาโปรเจกต์ของตัวเองต่อไปภายใต้งบประมาณ 100 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับใครก็ตามที่อยากสร้างแว่น VR ไว้ใช้เอง
ด้วยเหตุนี้ เขาและทีมงานจึงพยายามสร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ เองทั้งหมดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การใช้วัสดุราคาถูกทำให้เกิด Latency ขึ้นมา เขาก็พัฒนา WRHML เพื่อให้การเชื่อมต่อทำได้รวดเร็วขึ้น
หรือกรณีที่อยากให้เกมของเขาทำงานร่วมกับนักพัฒนา VR ได้ดีขึ้น Coutte ร่วมกับ Combe ก็เลยพัฒนาเครื่องมืออย่าง FastVR ขึ้นมา ซึ่งนักพัฒนาเพียงแค่นำโค้ดดังกล่าวไปใส่ไว้ในซอร์สโค้ดของเกม
มากไปกว่านั้น เขายังได้รับการสนับสนุนจากคอมมูนิตีเล็ก ๆ ใน GitHub และ Discord ด้วย โดยเขายอมรับว่า แว่น VR ของเขานั้นอาจดูไม่สวย และยากต่อการตั้งค่า แต่เขาก็เชื่อมั่นว่า คอมมูนิตีเล็ก ๆ บน GitHub และ Discord นี้จะช่วยกันพัฒนาปรับปรุงมันให้ดีขึ้นได้
สุดท้ายที่น่าสนใจที่สุด คือ การที่เขาตัดสินใจโอเพนซอร์สทุกอย่างออกสู่โลกออนไลน์ แทนการไปพัฒนาต่อให้สวยงามแล้วเปิดตัวบริษัท โดย Coutte บอกว่า สิ่งที่เขาทำไปเพื่อความสนุกสนาน และทำให้ตลาด VR ไม่ใช่ตลาดที่ผูกขาด ซึ่งทางที่ดีที่สุดก็คือ การโอเพนซอร์สมันเสียเลย
ส่วนคนที่แนะนำให้เขาโอเพ่นซอร์สก็คือ หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมของโอคูลัสอย่าง Atman Binstock ที่มีแบ็กกราวนด์ไม่ต่างจาก Coutte โดย Atman มองว่า เขาเองก็เคยสร้างบริษัทเมื่อสมัยเป็นวัยรุ่น และรู้สึกว่าเป็นเวลาที่เร็วเกินไป เวลานี้ควรเป็นเวลาที่ได้เรียนรู้ แล้วก็สนุกไปกับมัน นอกจากนั้น เขายังยินดีพา Coutte ไปซิลิคอนวัลเลย์ร่วมกับเขา เพื่อแนะนำให้กับคนที่นั่นได้รู้จัก ซึ่งการเดินทางไปซิลิคอนวัลเลย์อาจเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ Coutte ตัดสินใจโอเพนซอร์สโปรเจกต์นี้ในที่สุด เพราะบรรดาคนดัง คนที่สร้างตัวเองขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ ต่างแนะนำเขาไปในทิศทางเดียวกันแทบทั้งสิ้น
กลับจากซิลิคอนวัลเลย์ Coutte ตัดสินใจเขียนโค้ดทั้งหมดใหม่โดยใช้เวลาห้าเดือน และโน้มน้าวเพื่อนในทีมให้โอเพนซอร์สซอร์สโค้ดเหล่านั้นได้สำเร็จ และจนถึงตอนนี้ ก็มีคนจำนวนหลายร้อยคนเข้ามาช่วยกันพัฒนาโปรเจกต์ดังกล่าวให้ไปได้ไกลมากขึ้นแล้ว สมกับที่ Coutte ได้ตั้งใจไว้