xs
xsm
sm
md
lg

แฉ “ทีโอที” กระอักเลือดโครงการเน็ตชายขอบ กสทช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

มรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและบริการภาครัฐและภาคเอกชน ทีโอที ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล เมื่อพูดถึงเน็ตประชารัฐ เน็ตชายขอบ ใครๆก็นึกถึงรองมรกต ผู้โด่งดัง
ความอ่อนด้อย ไร้ประสบการณ์ของผู้บริหาร กำลังทำให้โครงการเน็ตชายขอบของ กสทช. ที่ทีโอที ชนะประมูลได้มา 3 พื้นที่ในวงเงินรวมกว่า 6 พันล้านบาท กลายเป็นทุกขลาภ เพราะต้องทำงานที่ไม่ใช่อาชีพถนัดของทีโอที อย่างการสร้างอาคารศูนย์ USO NET การติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์เซล รวมทั้งการทำงานขั้นเทพที่นั่งเทียนเขียนสเปกที่ล้ำหน้ากว่าสเปกในทีโออาร์ที่ กสทช. กำหนดไว้ เพียงเพื่อให้พวกพ้องได้งาน รวมทั้งความเน่าเฟะของนิสัยถาวรที่แก้ไม่หายในขั้นตอนจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ผลคือ ทีโอที ต้องถูกปรับวันละกว่า 4 แสนบาทตั้งแต่ 25 ก.พ. ที่จะถึงนี้ และไม่รู้จะจบลงวันไหน

วันที่ 24 ก.พ. ที่จะถึงนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จะมีอายุครบ 64 ปี องค์กรที่อยู่มายาวนาน วัฒนธรรมองค์กรยิ่งแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการสืบทอดวัฒนธรรมการรับประทานที่มูมมาม ตะกละตะกลาม ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนหรือผู้บริหารเป็นใคร บอร์ดการเมืองหรือบอร์ดทหาร ผู้บริหารทีโอทีลูบปากอย่างเมามันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่คิดถึงองค์กร ห่วงแต่ฐานะความเป็นอยู่ของตัวเอง

หลังเปิดแชมเปญฉลองชัย การประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) 3,920 หมู่บ้าน ของ กสทช. โดยทีโอที ชนะการประมูลที่ทำให้ฮั้วแตกใน 3 พื้นที่ คือ 1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท

2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท

3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมระบุชัดเจนว่า โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (เน็ตชายขอบ) 3,920 หมู่บ้าน ของ กสทช. ในส่วนของบรอดแบนด์ มีกำหนดส่งมอบงานงวดแรก 15% ของเนื้องานทั้งหมดในวันที่ 1 มี.ค. นี้ แต่จากการลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 ของ กสทช. พบว่าในส่วนพื้นที่ภาคเหนือ 2 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของทีโอทียังไม่ได้เริ่มติดตั้ง เนื่องจากยังจัดซื้ออุปกรณ์ไม่ได้หลายส่วน ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มทรู ที่ชนะการประมูลในพื้นที่ภาคเหนือ 1 ได้ก่อสร้างอาคาร USO NET ที่สะเมิง จ.เชียงใหม่ เสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ทีโอที ส่งมอบงานงวดแรกไม่ทันแน่นอน จะต้องเสียค่าปรับวันละ 0.2% ของมูลค่างานแต่ละงวด ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว สัญญาภาคเหนือ จะมีค่าปรับ 210,380 บาทต่อวัน ภาคอีสาน 249,260 บาทต่อวัน รวม 2 สัญญาต้องถูกปรับ 459,640 บาทต่อวัน”

ความพิกลพิการของโครงการที่ชนะประมูลมาด้วยวิธีการตัดราคา เกิดจากความต้องการสร้างผลงานของผู้บริหารบางคน ที่อ่อนหัดขนาดเรียกประชุมผู้รับเหมาแค่ 20 วันก่อนประมูล ขณะที่ผู้ประมูลรายอื่นประชุมกันล่วงหน้า 2-3 เดือน จนทำอะไรไม่ได้มากกว่าการตัดราคาจนได้งาน แต่ขั้นตอนต่อมาที่จะต้องหาผู้รับเหมามาทำงาน แต่ด้วยวิธีการทำงานของทีโอทีที่สืบทอดวัฒนธรรมการบริโภค ทำให้ถนนทุกสายเดินสู่หายนะ ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ การก่อสร้างอาคาร USO NET ที่วันนี้ถึงแม้ได้ผู้รับเหมาสร้างอาคาร แต่ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้

“ความล่าช้าที่เกิดขึ้น เพราะทีโอทีมัวแต่ไปเขียนทีโออาร์ที่มากกว่าทีโออาร์ที่ กสทช. กำหนดมา เกือบทุกผลิตภัณฑ์ เพียงเพื่อหวังล็อกสเปกให้พวกพ้อง รวมทั้งความเขี้ยวที่เขียนทีโออาร์ชนิดที่ผู้รับเหมา หากไม่มีเงินเย็น ๆ สัก 500 ล้าน หรือ 1 พันล้านบาท ก็เตรียมเจ๊งได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแบ่งงวดงาน, การขยายเขตงาน, การติดตั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พรินเตอร์, ไวไฟ, อุปกรณ์สำรองไฟ, อุปกรณ์ป้องกันฟ้าผ่า, กล้องวงจรปิด, การติดตั้งต่าง ๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้รับเหมาอาคารทั้งหมด เพราะเมื่อตัดราคาจนทำได้ยาก ก็ส่งต่อให้ผู้รับเหมารับเคราะห์แทน”

ทีโอที เลือกจะให้ผู้รับเหมาอาคารรับกรรมไป ขณะที่ทีโอทีทำงานที่ถนัด คือ จัดซื้อของเข้าคลัง ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ นานา ซึ่งถือว่าคนขายก็ชอบ เพราะไม่ต้องติดตั้ง ขายของเสร็จก็จบ คนซื้อก็ชอบ เพราะได้ค่าดำเนินการเร็วดี ไม่ต้องสนเรื่องติดตั้ง ความเสียหายในการขนส่ง อุปกรณ์ตกรุ่น การลงแอปพลิเคชัน ไดร์เวอร์ต่าง ๆ โยนให้ผู้รับเหมาอาคารรับผิดชอบไปให้หมด

นอกจากนี้ ทีโอทียังใช้สเปกเฟอร์นิเจอร์เพื่อล็อกอาคาร ประเภทที่เมื่อรู้ข้อเท็จจริง ผู้รับเหมายังขำกลิ้งถึงวันนี้ โดยทีโอทีล็อกสเปกเฟอร์นิเจอร์ว่า โรงงานจะต้องมี ISO 9001 พร้อมใบรับรอง PRISMA ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก เฉพาะโต๊ะเก้าอี้บางรุ่นของยี่ห้อ “โลจิกา” เท่านั้น ซึ่งต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์แบรนด์เนมถึงจะตรงกับข้อกำหนด ขณะที่ กสทช. เจ้าของเงินไม่ได้ระบุมาตรฐานสูงส่งขนาดนี้ เปรียบก็เหมือนเอาของแม็คโครก็ได้ แต่ทีโอทีกลับบอกต้องอินเด็กซ์เท่านั้น เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ชายขอบ ห่างไกล ซ้ายก็เหว ขวาก็ห้วย อะไรเทือกนั้น

ผู้รับเหมาอาคารที่ JV กันมาอย่าง “ไฮมีเดีย” กับ “เทพมงคล” ที่ฝ่ายหนึ่งอยากได้ผลงานเพื่อแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ กับอีกฝ่ายที่ทำงานแบบซื่อ ๆ เพียงเพราะอยากได้งาน ใช้เวลาคุยกันแค่ 3 วัน ก็เดินจูงมือมารับงานทีโอที โดยที่ยังไม่รู้ชะตาตัวเอง ซึ่งวันนี้ก็เริ่มทะเลาะกันแล้วเรื่องเงินที่จะมา JV กัน จนถึงขณะนี้เร่ขายอาคาร USO NET ที่ได้มา 391 แห่งในราคาอาคารละ 1.4 ล้านบาท ขณะที่ต้นทุนบวกกำไร หากจะทำได้ ต้องอยู่ที่ประมาณ 2.2-2.4 ล้านบาท หลังผู้รับเหมาหลายรายรู้ข้อเท็จจริงก็เบือนหน้าหนีกันหมด

“ความเน่าเฟะของโครงการนี้ยังมีอีกมากที่ทำให้เห็นได้ว่า ทีโอทีส่งมอบงานไม่ทันแน่นอน อย่างการจัดซื้ออุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ซึ่งเรื่องสนุกกำลังจะตามมาเร็ว ๆ นี้ รับรองได้ว่าขาผู้บริหารบางคนแหย่เข้าไปในคุกแล้ว หากมีการเปิดโปง หรือร้องเรียนขึ้นมา”
อาคาร USO NET ที่สะเมิง ของกลุ่มทรูที่ทำเสร็จเร็วกว่าที่กสทช.กำหนดไว้ด้วยซ้ำในขณะที่ ทีโอที ปัญหาเพียบ โดนปรับแน่ๆ
อาคาร USO NET ที่สะเมิง ของกลุ่มทรูที่ทำเสร็จเร็วกว่าที่กสทช.กำหนดไว้ด้วยซ้ำในขณะที่ ทีโอที ปัญหาเพียบ โดนปรับแน่ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น