xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์ ควงไอดีซี ชี้องค์กรไทยปรับสู่ดิจิทัล จะช่วยกระตุ้น GDP 2.82 แสนล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไมโครซอฟท์ ร่วมทำการสำรวจกับไอดีซี ในมุมของการนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กรธุรกิจ โดยคาดว่าจะช่วยให้ประเทศไทยมี GDP เติบโตขึ้น 0.4% เป็นกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2.82 แสนล้านบาท) ภายใน 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน รายได้จากบริการและผลิตภัณฑ์เชิงดิจิทัล จะเพิ่มขึ้นมามีสัดส่วนถึง 40% ของ GDP ประเทศ

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟต์ ได้ร่วมกับทางไอดีซี เอเชียแปซิฟิก ในการทำวิจัย “ปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล” พบว่า การที่องค์กรธุรกิจเริ่มปรับสู่ดิจิทัลจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ GDP รวมของประเทศสูงขึ้น

“ภายใน 3 ปีข้างหน้า GDP ของประเทศมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นถึง 9 พันล้านเหรียญ (สหรัฐฯ) หรือราว 2.82 แสนล้านบาท จากการที่องค์กรธุรกิจหันมานำบริการ และผลิตภัณฑ์เชิงดิจิทัลมาใช้ เพื่อช่วยให้ GDP เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.4%”

ขณะเดียวกัน ยังคาดการณ์ว่าบริการและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น คลาวด์ IoT และ AI ที่ปัจจุบันสร้างมูลค่าให้ GDP ราว 4% จะมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเป็น 40% ถ้าแต่ละองค์กรเดินหน้าไปในเทรนด์ของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

นอกจากนี้ ยังได้มีการรวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่ จำนวน 1,560 ราย ใน 15 ประเทศ และเขตการปกครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล พบว่า กว่า 82% ขององค์กรในประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าบนเส้นทาง ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแล้ว แต่หากถอยมามองในภาพรวมระดับภูมิภาค กลับมีองค์กรเพียงแค่ 7% เท่านั้น ที่มีศักยภาพและกลยุทธ์เชิงดิจิทัลอยู่ในระดับผู้นำ

“องค์กรที่เริ่มปรับตัวสู่ดิจิทัลก่อนรายอื่น ๆ จะสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้มากกว่าผู้ที่ไม่ปรับตัวถึง 2 เท่า เนื่องจากใครได้เริ่มก่อน ได้ลองก่อน จะได้เรียนรู้ ได้ข้อมูล เพื่อนำมาสร้างสิ่งใหม่ ๆ เสริมเข้าไปอีก เพียงแต่ผู้ที่เริ่มก่อน ก็ต้องมีการปรับองค์กรให้เหมาะกับยุคดิจิทัลด้วย”

ไมโครซอฟท์ ได้แนะนำให้องค์กรต่าง ๆ ปรับกลยุทธ์ด้วยการ 1. วางรากฐานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใน ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และคู่ค้า ด้วยการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ

2. พัฒนาระบบนิเวศเชิงข้อมูล ด้วยการแปรรูปข้อมูลให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร รวมถึงการวางกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้เหมาะสมกับแนวทางการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์กรสามารถเริ่มต้นพัฒนาระบบ AI มาเสริมศักยภาพในการทำธุรกิจ

3. เปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็ก ไปสู่เรื่องใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนแปลงจุดเล็ก ๆ จำนวนมาก ผ่านทางโครงการขนาดย่อมที่ใช้เวลาไม่นาน ที่สามารถต่อยอดหรือขยายตัวไปสู่การดำเนินนโยบายเชิงดิจิทัลในรูปแบบที่กว้างขวาง และแปลกใหม่ยิ่งขึ้นต่อไป

สุดท้าย 4. ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคตทั้งในระดับบุคคล และองค์กร เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่นเดียวกับการปรับสมดุลเชิงบุคลากร เพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความถนัดในเชิงดิจิทัลได้


กำลังโหลดความคิดเห็น