xs
xsm
sm
md
lg

3 ประเด็นท้าทายของแว่นอัจฉริยะ ในวันที่ต้องมาแทน "สมาร์ทโฟน"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แว่นกูเกิลกลาส (ภาพจากเอเอฟพี)
ได้ยินบ่อยขึ้นทุกทีสำหรับหัวข้อที่คนในซิลิคอนวัลเลย์ออกมาคุยกัน เรื่องที่ว่าสมาร์ทโฟน ถึงวันหนึ่งจะต้องหายไป และมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่เข้ามาแทนที่เพื่อให้มนุษย์เราทั้งทำงานและสื่อสารกันได้ ซึ่งเทคโนโลยีที่บรรดาซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีจับจ้องกันเป็นพิเศษก็คือ Augmented Reality (AR) ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ดึงคนจำนวนมากออกมาเดินไล่ล่าโปเกมอนกันเต็มท้องถนนของเกมโปเกมอน โก (Pokemon Go) เมื่อปี 2016

เมื่อพิจารณาถึงเทคโนโลยีในฝั่งฮาร์ดแวร์ว่าสิ่งใดจะมาจับคู่กับ AR ได้อย่างเข้าที่เข้าทางที่สุด อาจกล่าวได้ว่าชื่อของแว่นอัจฉริยะ (Smart Glasses) เป็นตัวเลือกที่นำโด่งเป็นอันดับต้น ๆ โดยมีหลายปัจจัยที่ทำให้แว่นอัจฉริยะได้รับสิทธิพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของการมองแต่หน้าจอสมาร์ทโฟนของคนในปัจจุบันที่หนักข้อมากขึ้น และลามไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เริ่มมีปัญหาทางสุขภาพปรากฏเป็นข่าวออกมาเนือง ๆ ซึ่งแว่นอัจฉริยะที่สามารถดึงข้อมูลขึ้นมาแสดงผลได้บนแว่นตา ถูกมองว่าจะทำให้คน "เป็นคน" มากยิ่งขึ้น เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่ต้องเอาแต่ก้มดูหน้าจอมือถืออีกต่อไป เนื่องจากข้อมูลปรากฏอยู่บนแว่นแล้ว

โดยซีอีโอที่สนับสนุนแนวคิดนี้มีหลายค่าย เริ่มตั้งแต่ค่ายเมจิค ลีป (Magic Leap) ซึ่งซีอีโออย่าง รอนนี่ แอบโบวิทซ์ (Rony Abovitz) คิดว่า สิ่งประดิษฐ์ของบริษัทเขานั้น ในวันหนึ่งมันอาจสามารถเข้ามาทดแทน โทรศัพท์ ทีวี แล็ปท็อป และแท็บเล็ตได้ แต่ไม่ใช่แค่เมจิค ลีปค่ายเดียวที่เป็นคนจากฝั่งบริษัทเทคโนโลยีที่บอกว่าวันหนึ่งสมาร์ทโฟนจะตกยุค แต่เมื่อปีก่อน ซีอีโอของเฟซบุ๊ก (Facebook) อย่างมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ก็ออกมาบอกเช่นกันว่าเทคโนโลยี AR ซึ่งเป็นการสร้างภาพดิจิตอลขึ้นมาซ้อนทับภาพในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ จะเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ "หน้าจอ" ได้เช่นกัน

หรืออีกหนึ่งผู้บริหารที่ออกมาเผยแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันนี้ก็คือซีอีโอของไมโครซอฟท์ (Microsoft) อย่างสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ที่มักกล่าวถึงแว่นอัจฉริยะดังกล่าวว่ามันจะเป็น "คอมพิวเตอร์ขั้นสุดยอด" (Ultimate Computer) กว่าที่เคยมีมา
เกมโปเกมอน โก (ภาพจากเอเอฟพี)
แม้ว่าความโดดเด่นของ AR ที่สามารถดึงข้อความอีเมล ไฟล์งานเอกสารต่าง ๆ หรือกระทั่งภาพยนตร์เรื่องโปรดจากเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ขึ้นมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าของเราได้จนทำให้หลายคนมองว่า ถ้า AR ทำได้เช่นนั้นแล้ว เราจะต้องมีสมาร์ทโฟนอยู่อีกทำไม แต่ในมุมของผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังไม่มีใครออกมาบอกว่ามันจะใช้งานได้จริงในเร็ววัน ยกตัวอย่างเช่น มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ที่เคยบอกว่า คงต้องใช้เวลาอีกสักสิบปีกว่าที่แว่นตาอัจฉริยะจะพร้อมเข้ามาสู่ตลาดในระดับเมนสตรีมได้

โดยสาเหตุที่ทำให้ไม่พร้อมนั้น ประกอบด้วย 3 หัวข้อใหญ่ ๆ นั่นคือ

1. ความไม่พร้อมในด้านฮาร์ดแวร์

ทุกวันนี้ ประสบการณ์ AR ที่เราได้รับมาจากสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ซึ่งต้องบอกว่ายังต้องรอความพร้อมจากบริษัทฮาร์ดแวร์ที่สามารถพัฒนาแว่นอัจฉริยะในระดับเมนสตรีมได้ออกมาก่อน จึงจะสามารถเข้ามาเจาะตลาดผู้บริโภค และทำให้สมาร์ทโฟนล้มหายตายจากไปได้อย่างแท้จริง

2. ความไม่พร้อมในด้านคอนเทนต์

ทุกวันนี้ ต้องบอกว่า กูเกิล (Google) และเฟซบุ๊ก (Facebook) ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากถูกจับจ้องมากขึ้นจากหน่วยงานในรัฐบาลว่าทั้งสองแพลตฟอร์มมีการแผยแพร่ข่าวเท็จ ข่าวที่สร้างความแตกแยก ฯลฯ และอาจทำให้สังคมอเมริกันตกอยู่ในอันตราย หรืออาจกล่าวได้ว่า ในโลกรอบ ๆ ตัวเรา มีคนมากมายที่พยายามอย่างมากในการกระจายข่าวเท็จ ข่าวที่สร้างความเกลียดชัง ฯลฯ เข้ามายังระบบที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวัน ซึ่งในวันที่มันอยู่บนสมาร์ทโฟนอาจไม่เป็นไร แต่เมื่อเราสวมแว่นสมาร์ทกลาสแล้วข้อมูลเหล่านี้ปรากฏแก่สายตา ถึงวันนั้นอาจเป็นเรื่องอันตรายก็เป็นได้
แว่นโฮโลเลนส์ (ภาพจากเอพี)
นอกจากนั้น ในเรื่องทางการค้า เพื่อให้การค้าบนโลก AR ประสบความสำเร็จ เราอาจต้องมีแอปพลิเคชัน และเครื่องมือสำหรับแปลงข้อมูลสินค้าจากโลกปกติไปเป็นข้อมูลสินค้าแบบสามมิติเพื่อให้สามารถแสดงผลได้บนโลกของ VR ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ยังไม่มีความพร้อมในระดับนั้น

3. ความไม่พร้อมที่เกิดจากการขาดความเข้าใจ

ที่ผ่านมา มีรัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสที่อัปเดตเนื้อหาการสอนให้แทรกเรื่อง AR เข้าไปในบทเรียนของโรงเรียนรัฐบาลตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งการสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ทักษะนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต

แต่ยังมีตลาดอีกมากที่ผู้บริโภคแทบไม่ได้สนใจเทคโนโลยี AR เลย ดังนั้น การจะผลักดันให้ AR และแว่นสมาร์ทกลาสเข้ามาแทนที่สมาร์ทโฟนจึงต้องมีการสร้างความเข้าใจกันอีกมาก

จะเห็นได้ว่า ยังมีศาสตร์อีกมากที่จำเป็นต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้แว่นอัจฉริยะนั้นกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สามารถช่วยต่ออายุสมาร์ทโฟนให้ยืนยาวออกไปได้อีกนานนับสิบปี สำหรับใครที่คิดว่าประเด็นเหล่านี้ไม่สำคัญ อยากให้ลองคิดถึงอีกเรื่อง อย่างประเด็นของสติ๊กเกอร์ ที่เวลาอยู่ในสมาร์ทโฟน อาจไม่ทำให้ตกใจได้เท่าไรนัก แต่ถ้าเป็นสติ๊กเกอร์น่ากลัว ๆ แล้วปรากฏขึ้นมาบนแว่นสมาร์ทกลาส บางทีเราก็อาจยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้ในเวลานี้ก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น