xs
xsm
sm
md
lg

ชมภาพทดสอบจริง “E-Skin” โชว์อัตราเต้นหัวใจได้บนหลังมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

E-Skin รุ่นนี้ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ “Dai Nippon Printing” บริษัทญี่ปุ่นตั้งเป้าให้เริ่มใช้งานได้จริงภายใน 3 ปีข้างหน้า
เกาะติดความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “Electronic skin” หรือผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ที่นักวิจัยญี่ปุ่นพัฒนาขึ้น เพื่อให้มนุษย์มี “ผิวพิเศษ” ซึ่งสามารถเป็นหน้าจอแสดงผลได้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องสวมอุปกรณ์ใด ล่าสุด มีการสาธิตว่า E-Skin นี้ไม่เพียงช่วยให้อัตราเต้นหัวใจของผู้ใช้ถูกแสดงได้แบบเรียลไทม์จากหลังมือตัวเอง ยังทำให้ทีมผู้ดูแลผู้สูงอายุ สามารถรับการแจ้งเตือนได้ หากมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาณชีพที่เป็นอันตรายในร่างกาย

การทดสอบล่าสุดนี้ยังสะท้อนว่า “ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์” อาจไม่เพียงจำกัดการทำงานเฉพาะการตรวจหาปัญหาสุขภาพในอนาคต เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกประยุกต์ใช้ในด้านอื่นด้วย โดยทีมนักวิจัยได้สาธิตการแสดงภาพกราฟิกอื่นผ่าน E-Skin นี้
จอแสดงผลสุดนิ่ม ยืดหยุ่นได้เหมือนผิวหนังนี้มีความหนา 1 มม. ใช้แผงไฟ LED จิ๋ว 16 x 24 ดวง
หากยืดออกจนสุด จอ E-Skin สามารถแสดงภาพในสัดส่วนที่ยาวกว่าความยาวดั้งเดิม 45%
E-Skin นี้เป็นผลงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เริ่มเปิดตัวเมื่อ 2 ปีก่อน หลักการของ E-Skin คือ การเป็นแรปพลาสติกอัจฉริยะที่สามารถห่อหุ้มส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หลังมือ ทำหน้าที่แสดงผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้เจ้าของร่างกาย และทีมแพทย์ได้ทราบ ข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่า แผ่นแรปนี้บางเพียง 3 ไมครอน ซึ่งหากติดบนร่างกาย ผู้ใช้จะมี “จอแสดงผล” แปะติดบนร่างกายได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่อพ่วงใด

ที่สำคัญ คือ ตัวแรปพลาสติกนี้สามารถยืด ย่นได้ตามการ ผู้ใช้จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อิสระโดยที่ระบบแสดงผลไม่เสียหาย สามารถติดทนได้นาน 1 สัปดาห์โดยไม่ทำให้คัน ขณะที่ผลงานการวิจัยชิ้นก่อนหน้า จะสามารถติดบนร่างกายได้นานไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

การแสดงผลของ E-Skin ทำได้ด้วยอิเล็กโทรดนาโนเมช (nanomesh) ที่ระบายอากาศได้ดี และสายไฟที่ยืดได้ ยังมีแถวไฟ LED ขนาดเล็กที่สามารถแสดงภาพพื้นฐาน โดยภาพจะโค้งงอไปตามร่างกายของผู้ใช้

ด้วย E-Skin ทีมแพทย์หรือผู้ดูแลจะทราบได้ทันทีหากผู้ใช้ต้องการความช่วยเหลือ เพียงมองไปที่มือของผู้ใช้ หรือจุดอื่นที่เซ็นเซอร์ทำงาน จุดนี้ระบบเซ็นเซอร์ของ E-Skin สามารถจับคู่กับสมาร์ทโฟน เพื่อส่งข้อมูลไปยังระบบคลาวด์ได้ด้วย

นี่ไม่ใช่ E-Skin รุ่นแรกของโลก เพราะก่อนหน้านี้ E-Skin ที่สามารถแสดงแบบยืดได้เคยแจ้งเกิดแต่มีข้อจำกัดเรื่องการยืดหยุ่น ทำให้ตัวแสดงผลแตกแยกจากกันหลังจากสัมผัสกับอากาศ และการยืดและบิดผิวของผู้ใช้เป็นประจำ โดย E-Skin รุ่นใหม่ยังมีจุดเด่นเรื่องการใช้เทคนิคการผลิตแผงวงจรแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงด้วย
E-Skin อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่ถูกดูแลในบ้าน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพขนาดใหญ่ที่ต้องมีการตรวจสอบใกล้ชิด
สิ่งที่น่าสนใจ คือ E-Skin รุ่นนี้ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ “Dai Nippon Printing” บริษัทญี่ปุ่นตั้งเป้าให้เริ่มใช้งานได้จริงภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะพัฒนาให้ระบบมีความเสถียรน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ปรับขนาดการผลิตให้ใหญ่ขึ้น และปรับปรุงความครอบคลุมให้รองรับการใช้งานบนพื้นที่ผิวขนาดใหญ่

หากทุกอย่างราบรื่น E-Skin อาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่ถูกดูแลในบ้าน แทนที่จะต้องใช้อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพขนาดใหญ่ที่ต้องมีการตรวจสอบใกล้ชิด ผู้ใช้จะสามารถแสดงสถานะสุขภาพของตัวเองให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ทราบ และที่สำคัญ คือ สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่มีอุปกรณ์ใดเป็นข้อจำกัด

ผู้สนใจ ติดตามคลิปวิดีโอเพิ่มเติมได้จากที่นี่.


กำลังโหลดความคิดเห็น