'เดี๋ยวนี้การทำดาวเทียม เราต้องฉลาดนะ ดาวเทียมสื่อสารไม่จำเป็นต้องสร้างดวงใหญ่ เทคโนโลยีเปลี่ยน ทำให้ดวงเล็ก วงโคจรต่ำ ก็สามารถให้บริการมีประสิทธิภาพเหมือนดวงใหญ่ แถมต้นทุนถูกกว่า ไทยคม 9 เขาก็ไม่จำเป็นต้องมีแล้ว เพราะลูกค้าใหญ่อย่าง ซอฟต์แบงก์ ไม่ใช้บริการของเขาแล้ว' พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อธิบายได้ชัดเจนถึงอนาคตของดาวเทียมไทยคม 9 ว่าหมดหวังแล้วจริงๆ
ทำให้ ไทยคม คงตาสว่างเสียที หลังจากที่ผ่านมาพยายามต่อสู้อยู่เกือบ 2 ปี ในการขอความชัดเจนจากกระทรวงดีอีในฐานะตัวแทนรัฐบาลในการจองวงโคจรไทยคม ดวงที่ 9 ให้ จนสุดท้ายแล้วแผนที่วางไว้ต้องพับ เพราะสร้างดาวเทียมไม่ทันตามแผน ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ ซอฟต์แบงก์ ประเทศญี่ปุ่น หนีไปซบผู้ให้บริการรายอื่น
*** ดาวเทียมสำรวจคือคำตอบของประเทศไทย
รมว.ดีอี พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของดาวเทียมของประเทศไทยว่า ดาวเทียม ไม่ได้มีแค่ดาวเทียมสื่อสาร แต่ยังมีดาวเทียมสำรวจ ซึ่งดาวเทียมสำรวจเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องมี ขณะที่ดาวเทียมสื่อสารนั้น ผู้บริโภคเองไม่ได้ดูคอนเทนต์ผ่านดาวเทียมเหมือนแต่ก่อน แต่กลับหันไปดูจากอินเทอร์เน็ตมากขึ้น หากประเทศไทยต้องมีดาวเทียมของตนเองก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนเหมือนแต่ก่อน อาจซื้อความจุของประเทศอื่นมาให้บริการได้
ส่วนเรื่องไทยคม 7 และ 8 ไทยคมเขาเป็นคนฟ้องกระทรวงดีอี ทำให้เรื่องต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับอนุญาโตตุลาการว่าจะใช้เวลานานแค่ไหน
***พับโครงการไทยคม 9
ไพบูลย์ ภาณุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เหมือนจะรู้สถานการณ์ที่แท้จริง และสิ่งที่เขาพูดไม่ใช่คำขู่ หรือ คำกล่าวน้อยใจรัฐบาล แต่มันคือความจริงที่อนาคตดาวเทียมไทยคม 9 จะไม่มีอีกต่อไป และไม่แน่ว่าอาจจะไม่มีดวงไหนๆ อีกเลยก็เป็นได้
'ตอนนี้เราพับแผนการยิงดาวเทียมไทยคมดวงที่ 9 เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากรัฐบาล คือ กระทรวง ดีอี ไม่มีความชัดเจนในการจองวงโคจรให้ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ขณะที่ลูกค้ารายใหญ่อย่างซอฟต์แบงก์ ประเทศญี่ปุ่น ก็ยกเลิกการเป็นลูกค้า และหันไปใช้บริการกับผู้ให้บริการดาวเทียมรายอื่นแล้ว'
การใช้งานในธุรกิจดาวเทียมก็เปลี่ยนแปลงลูกค้าของไทยคม อย่าง ซีทีเอช ก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ส่วนลูกค้า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็เลิกใช้ไอพีสตาร์ เหลือเพียงการเช่าใช้ในโครงการUSO เท่านั้น ขณะที่ผู้บริโภคเองก็เลิกดูดาวเทียมและหันมาดูคอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
***ดวง7และ8อยู่ในอนุญาโตตุลาการ
ส่วนความคืบหน้าของดาวเทียมไทยคมดวงที่ 7 และ 8 ที่กระทรวงดีอีต้องการให้อยู่ในระบบสัญญาสัมปทาน ในขณะที่ไทยคมมั่นใจว่าดาวเทียมทั้ง 2 ดวง คือดาวเทียมในระบบใบอนุญาต เนื่องจากได้ขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้ทั้งไทยคมและดีอีต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้น ขณะนี้ยังอยู่เพียงขั้นตอนการกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่เลย ดังนั้นคาดว่าภายในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงก็คงยังไม่ได้ข้อสรุป
***จะไม่มีดาวเทียมดวงใหม่
ภายใน 3-4 ปีนี้ ไทยคมไม่มีแผนยิงดาวเทียมขนาดใหญ่แบบไทยคม 9 แต่อาจจะมองหารูปแบบการทำธุรกิจใหม่ในการเหมาซื้อความจุจากดาวเทียมของประเทศอื่นมาให้บริการกับลูกค้า หรือ การยิงดาวเทียมวงโคจรต่ำแทน ซึ่งอย่างไรเสียในธุรกิจบรอดแคสต์ก็ยังต้องใช้ดาวเทียมในการให้บริการ
เนื่องจากในปัจจุบันการสร้างดาวเทียมแบบทั่วไป จะมีเรื่องของต้นทุนค่าใบอนุญาต หรือค่าสัมปทาน ดังนั้นหากไม่มีความแน่นอนของลูกค้าที่จะซื้อความจุแบบเหมากับบริษัท ก็จะยังไม่มีการพิจารณาอนุมัติการลงทุนใหม่ และดาวเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถรองรับลูกค้าได้
'ดังนั้นหากรัฐบาลจะให้เอกชนอย่างไทยคมทำดาวเทียมให้ประเทศเพื่อความมั่นคง หรือ อะไรก็ตาม เราคงไม่ทำให้เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว หากต้องการมีดาวเทียมของประเทศ รัฐบาลต้องสร้างเอง'
***หาวิธีสร้างมูลค่าดาวเทียมดวงเก่า
ไพบูลย์ กล่าวว่า บริษัทมีแนวทางในการบริหารจัดการดาวเทียมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอนาคต ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษาเทคโนโลยีอยู่หลายๆ อย่าง เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการยืดอายุดาวเทียมให้ใช้งานต่อได้โดยที่ต้นทุนต่ำลงกว่าเดิม ทำให้ดาวเทียมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มอีกด้วย
ทั้งนี้ ธุรกิจดาวเทียม ในปัจจุบันบริษัทให้บริการอยู่ทั้งหมด 5 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 4, 5, 6, 7 และ 8 โดยดาวเทียมไทยคม 4 หรือไอพีสตาร์นั้น อัตราการเช่าช่องสัญญาณลดลงไปมาก หลังจากปี 2560 โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (NBN) ยกเลิกการใช้งาน และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดสัญญาการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้หาโอกาสใหม่ๆ ด้วยการหาลูกค้าที่เป็นผู้ใช้บริการรายย่อย (retail business) ในออสเตรเลียแทน และในส่วนของทีโอที ก็ได้มีการต่อสัญญาเช่าใช้บริการสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของ ทีโอทีโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นไม่สามารถเข้าถึง ขณะที่ตลาดในจีน บริษัทได้เจรจาพันธมิตรใหม่ในจีนอยู่ 5-6 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปจำนวน 1 ราย ในช่วงกลางปีนี้ ส่วนในตลาดอินเดีย มีการเติบโตต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันมีการใช้ช่องสัญญาณราว 3% จากทั้งหมดมีคาปาซิตี้ 17%
ส่วนดาวเทียมไทยคม 5 บริษัทมีแผนขยายระยะเวลาการใช้ออกไปอย่างต่ำ 5 ปี จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 2564 เนื่องจากไทยคม 5 มีลูกค้าเต็มช่องสัญญาณทั้งหมด ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 6 พยายามหาลูกค้าในแอฟริกาเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอัตราการใช้ช่องสัญญาณประมาณ 20% แต่ตลาดแอฟริกายังคงมีความท้าทาย จากการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง
***หารายได้จากธุรกิจอื่นเพิ่ม
ไพบูลย์ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัล เพื่อปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเพิ่มในส่วนที่เป็นผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ด้วยการสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ อย่างไรก็ตามในปี 2561 ดาวเทียมยังเป็นธุรกิจหลักที่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70-80% ของรายได้รวม
'สิ่งที่จะทำใน 3 ปีนี้ คือ การทำดาวเทียมดวงที่เหลือก่อน และมีการทำธุรกิจใหม่ๆให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่าง LooxTV และ maritimeที่ให้บริการดาวเทียมสำหรับเรือ โดยคาดว่ารายได้ปี 2561 จะใกล้เคียงรายได้ปี 2560 โดยในปี 2561 รายได้ประมาณ 70-80% ยังคงมาจากธุรกิจดาวเทียม ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท แต่จะเพิ่มรายได้จากธุรกิจใหม่ ซึ่งตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ของธุรกิจใหม่อยู่ที่ 50% ภายใน 5 ปี ทำให้รายได้จากธุรกิจดาวเทียมลดสัดส่วนไปเหลือ 50%'
บทสรุปของธุรกิจดาวเทียมสื่อสารไทย ที่ได้ชื่อพระราชทานอย่าง 'ไทยคม' ในวันนี้คือการทำธุรกิจแบบปากกัดตีนถีบ รอวันล่มสลาย ซึ่งไม่ใช่แค่การแข่งขันกับคู่แข่งดาวเทียมต่างชาติที่ได้เปรียบทุกมุม แต่กลับเป็นการทำลายล้างจากภาครัฐที่กระตุกขาดาวเทียมดวงปัจจุบันด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ใครก็รู้ว่านานจนลืมต้นเรื่อง และการทุบเส้นทางเดินของดาวเทียมดวงใหม่ ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ฝีมือรัฐบาลและกระทรวงดีอียุคนี้ถือว่าเฉียบคมมาก ในการทำลายล้างธุรกิจ หากแต่ในวันข้างหน้า หากธุรกิจเปลี่ยนมือ เมื่อนั้นกระบวนการเช็กบิลย้อนหลังน่าติดตามมากกว่า !!