ในขณะที่ใครๆต่างก็พูดถึง 'บิ๊ก ดาต้า' ข้อมูลอันมหาศาลที่เก็บจากพฤติกรรมของคน แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด แต่ ซีบรา เทคโนโลยีส์ ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์พกพา เครื่องสแกนบาร์โคดและปริ้นท์เตอร์สำหรับสแกนบาร์โคด กลับมองต่าง เพราะแม้จะมีการนำข้อมูลมหาศาลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ได้ดีแค่ไหน สุดท้ายแล้ว ซีบรา เชื่อว่า ข้อมูลแบบเรียลไทม์ คือการใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และสามารถนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหา หรือการวางแผนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำที่สุด
***ข้อมูลเรียลไทม์เพิ่มประสิทธิภาพดีกว่า
'แอนเดอร์ กัสทัฟสัน' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีบรา เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า การมีข้อมูลแบบเรียลไทม์ นั้น นอกจากจะช่วยให้เราสามารถเก็บข้อมูลได้แบบปัจจุบันแล้ว การมีเครื่องมือมาช่วยในการเก็บข้อมูลนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังประหยัด ช่วยลดต้นทุนด้านพนักงานได้อีกด้วย ดังนั้นการที่ร้านค้า หรือ คลังสินค้า สามารถดูสินค้า หรือ พฤติกรรมผู้บริโภคได้แบบเรียลไทม์ ก็จะเป็นแต้มต่อทำให้สามารถรู้ปัญหาและแก้ไขปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้แบบรวดเร็ว
'วิสัยทัศน์ของซีบรา แตกต่างจากบริษัทอื่นๆ เพราะขณะที่บริษัทอื่นพูดถึง การวิเคราะห์ข้อมูลจากบิ๊กดาต้า แต่ซีบรา ไม่คิดเช่นนั้น เพราะเรารู้สึกว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูล ต้องสามารถนำมาใช้ได้เลย ดังนั้น บิ๊กดาต้า จึงไม่สำคัญเท่ากับการนำข้อมูลมาให้บริการแก่ผู้บริโภคได้ ณ ตอนนั้น'
โอกาสในตลาดของซีบรา จึงไม่ใช่แค่เพียงการขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียว แต่ซีบราสามารถสร้างโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ให้บริการที่จะมีต่อลูกค้าได้ดีเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อข้อมูลของบุคคลมาเป็นรูปแบบข้อมูลดิจิทัลได้ ยกตัวอย่างเช่น การทำงานในธุรกิจเฮลธ์แคร์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่พยาบาลจะนำข้อมูลที่จดในกระดาษเพื่อกรอกข้อมูลอัปเดทลงในคอมพิวเตอร์เพื่อให้แพทย์อ่านก่อนการรักษา แต่หากเรานำข้อมูลรายบุคคลเชื่อมโยงไปกับริชแบนด์ที่อยู่บนข้อมือของแพทย์เลย ข้อมูลที่ได้ก็จะเรียลไทม์กว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากกว่า เพราะใครจะไปรู้ได้ว่าข้อมูลที่อยู่บนคอมพิวเตอร์อัปเดทหรือไม่
'ซีบรา คือ บริษัทแรกๆที่ทำธุรกิจการพริ้นบาร์โคด เรามีการเติบโตเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากปีที่แล้ว เรามีส่วนแบ่งตลาดแยกตามรายผลิตภัณฑ์ คือ 40 % ในกลุ่มปริ้นเตอร์, เครื่องสแกนบาร์โคด 30 % และ คอมพิวเตอร์พกพา 30% ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเรามาพร้อมเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้า ในระดับไฮเอนด์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีบรา เทคโนโลยีส์ กล่าวย้ำ
เขากล่าวว่า กลยุทธ์ในปีนี้มี 2 สิ่งที่มองไว้ คือ การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจร และ การให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า และ พาร์ทเนอร์ เพื่อหาโซลูชั่นมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้ให้บริการและกลุ่มลูกค้าได้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยทิศทางของซีบราจะล้อไปกับเทรนด์ของเทคโนโลยีที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 3 เทรนด์ใหญ่ๆ คือ 1.IoT เทคโนโลยีในการเป็นเซ็นเซอร์ควบคุมการทำงาน การเก็บข้อมูล และนำข้อมูลมาใช้แบบเรียลไทม์ 2.คลาวด์ เนื่องจากข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่สำคัญจึงจำเป็นต้องมีการเก็บไว้บนคลาวด์เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล และ 3.โมบิลิตี้ คือ เครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้งานได้แบบเรียลไทม์
'ไรอัน โกห์' รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ซีบรา เทคโนโลยีส์ เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล คือ ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพราะมันตอบโจทย์ทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภค เพราะในขณะที่คลังสินค้าหมด ระบบก็ให้ข้อมูลได้ว่าต้องเติมสินค้าได้แล้ว จากเดิมที่เมื่อก่อนกว่าจะรู้ก็ต้องใช้เวลา 2-3 เดือน เพราะต้องรอรายงานจากคนที่ไปตรวจสอบที่หน้างาน ผู้บริโภคก็ต้องรอ เมื่อมีเรียลไทม์ ผู้ให้บริการก็สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุด
***เผยเทคโนโลยีสมาร์ท เลนส์ ครั้งแรกในไทย
โซลูชั่นที่เห็นได้ชัดว่าจะมาช่วยตอบโจทย์การทำงานแบบเรียลไทม์ คือ เทคโนโลยีสมาร์ท เลนส์ และ เทคโนโลยี สมาร์ทแพค โดย 'ทอม เบียงคูลลี' ประธานฝ่ายเทคโนโลยี ซีบรา เทคโนโลยีส์ อธิบายถึงเทคโนโลยีดังกล่าวว่า เทคโนโลยีสมาร์ท เลนส์ เป็นการนำเทคโนโลยี AR มาผสมผสาน เราสามารถนำเทคโนโลยีของซีบราไปติดตั้งที่ร้านค้า หรือ คลังสินค้าที่ต้องการมอนิเตอร์ดูสินค้าในสถานที่นั้นๆได้แบบเรียลไทม์และสามารถหยิบจับสิ่งของเพื่อเช็คสถานะหรือสต็อกสินค้าแบบ AR เพื่อให้เจ้าของคลังสินค้าหรือร้านค้าปลีกรับรู้ปัญหาและแก้ไขปัญหาได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้กับการค้าขายออนไลน์เพื่อเช็คว่าสินค้าที่ลูกค้าจะสั่งซื้อทางออนไลน์นั้นมีหรือไม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง หรือรอรายงานจากพนักงานที่อยู่ประจำหน้างาน
ขณะที่เทคโนโลยีสมาร์ท แพค เหมาะสำหรับการติดตามและเห็นภาพการขนส่งสินค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของการบริหารจัดการตลอดจนการใช้พนักงานได้เป็นอย่างดี
'ซีบราได้ทดลองนำเทคโนโลยีสมาร์ทเลนส์ใช้งานกับร้านค้าปลีกในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว และคาดว่าจะนำมาทดลองใช้งานในภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก ภายในปีหน้า'
***รุกให้บริการแบบโซลูชั่น
เนื่องจากตลาดที่เปลี่ยนไปประกอบกับสินค้าของซีบราที่หลากหลาย ทำให้ ซีบรา ต้องเปลี่ยนเกมการขายเพียงฮาร์ดแวร์มาสู่การให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจร เรื่องนี้ 'ศิวัจน์ โรจนเต็มศักดิ์' ผู้จัดการประจำประเทศไทย ซีบรา เทคโนโลยีส์ เล่าว่า กำไรการขายฮาร์ดแวร์ที่ลดลง ทำให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทุกรายต้องเบนเข็มมาให้บริการแบบโซลูชั่นเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด
สำหรับตลาดในประเทศไทย ปีนี้ ซีบราจึงเตรียมความพร้อมให้กับตัวแทนจำหน่ายในการนำเสนอสินค้าแบบโซลูชั่น ด้วยการให้ความรู้ อย่างต่อเนื่องตลอดปี ขณะที่ทิศทางการใช้งานของผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มภาคการผลิต ค้าปลีก เฮลท์แคร์ ตลอดจนสถาบันการเงิน จะมีการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น ภาคการผลิต และค้าปลีก รายใหญ่ ที่ต้องดำเนินนโยบายตามทิศทางของบริษัทแม่ในต่างประเทศ
'ในธุรกิจค้าปลีก ผู้บริโภคมักประสบปัญหาการต่อคิวจ่ายเงินยาวเหยียด ซีบราก็มีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเดินเลือกซื้อสินค้า และจ่ายเงินโดยไม่ต้องรอคิว หรือ ถือของกลับบ้านให้พะรุงพะรัง ซึ่งขณะนี้เราได้ทดลองระบบการสแกนบาร์โคดรูปแบบใหม่นี้แล้วที่โลตัส สาขาสุขาภิบาล 3 โดยลูกค้าสามารถเลือกสินค้าที่ต้องการซื้อนำมายิงกับเครื่องสแกนบาร์โคด เพื่อคิดราคาจากนั้นระบบจะทำการหักเงิน และจัดส่งสินค้าให้ถึงบ้านผู้ซื้อโดยไม่ต้องรอคิวจ่ายเงินอีกต่อไป นอกจากนี้เรายังมีสินค้าใหม่อย่างเครื่องสแกนบาร์โคดล่องหน ที่เหมาะสำหรับสินค้าระดับไฮเอนด์ หรือ อาหาร ที่มักถูกปลอมแปลงบาร์โคด เพื่อทำสินค้าปลอม ทำให้ผู้ผลิตต้องทำบาร์โคดล่องหน ป้องกันการปลอมแปลงนั้น ก็เป็นเทรนด์ที่กำลังมา ซึ่งเราก็มีสินค้ารองรับเช่นกัน'
ขณะที่ธุรกิจเฮลท์แคร์ก็ให้ความสำคัญมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์การให้บริการในการรักษา ส่วนสถาบันการเงินก็เริ่มมีการเปลี่ยนบาร์โคดแบบธรรมดา เป็น 2D มากขึ้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศประกอบกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ทุกองค์กรต้องทรานฟอร์มตัวเองไปสู่ยุคดิจิทัล ก็จะยิ่งผลักดันให้ซีบรามีโอกาสในตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนสมาร์ท เลนส์ และ สมาร์ทแพค คิดว่าคงอีกไม่เกิน 4-5 ปี รับรองว่าจะได้เห็นมีการใช้งานในประเทศไทยอย่างแน่นอน