xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนไม่มีเวลา หลักทรัพย์บัวหลวง ดึงหุ่นยนต์ช่วยซื้อขายอัตโนมัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลักทรัพย์บัวหลวง ไม่กลัวฟินเทคมาแทนที่ มั่นใจระบบที่พัฒนาจากวิศวกรภายในแข็งแกร่งพอ เร่งดึงนักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่มีเวลาเข้ามาลงทุน ด้วยการนำระบบอัตโนมัติช่วยกระจายความเสี่ยง พร้อมประเดิมนำแชตบอตช่วยแจ้งข้อมูล DW (ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์) ผ่านเฟซบุ๊ก

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่าน เกิดการคาดการณ์กันว่า เทคโนโลยีฟินเทคจะเข้ามาแทนที่ธนาคาร หรือบริษัทบริหารหลักทรัพย์ต่าง ๆ แต่ตอนนี้เทรนด์ที่เกิดขึ้น คือ ความร่วมมือกันในการให้บริการลูกค้าแทน

“ที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนต่าง ๆ กลับให้ความสำคัญกับบริษัทสตาร์ทอัปที่เพิ่งเปิดตัวไม่กี่เดือน ในการนำเงินเข้าไปลงทุน แต่กลับมองข้ามบริษัทหลักทรัพย์ที่มีประสบการณ์ มีนักวิเคราะห์อยู่ในตลาดมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี”

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ กล่าวเสริมว่า ฟินเทคเองก็เหมือนผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ถ้ามองในรูปแบบนี้ และมาช่วยกันพัฒนาวงการการเงินให้ดีขึ้น ในอนาคต ก็อาจจะมีการร่วมงานระหว่างธนาคาร กับฟินเทคบางราย ก็เป็นไปได้

ขณะเดียวกัน ในแง่ของการลงทุนในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่ราว 1.5 ล้านคน โดยในในจำนวนนี้มีส่วนที่เป็นลูกค้าของหลักทรัพย์บัวหลวงราว 3 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้ก็จะมีบัญชีที่แอ็กทีฟประมาณ 1.5 แสนราย

“ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นได้ง่ายขึ้น ทำให้ปัจจุบัน พฤติกรรมของผู้บริโภคกว่า 80% จะมาจากการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ และในจำนวนนี้ราว 3 ใน 4 มาจากอุปกรณ์พกพา”

นายพิเชษฐ กล่าวเสริมว่า บัวหลวง มองถึงเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นนี้ล่วงหน้าทำให้ที่ผ่านมามีการลงทุนในระบบไอที เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือระบบการซื้อขายอัตโนมัติขึ้นมาใช้งาน โดยเริ่มจากการใช้งานผ่านหน้าเว็บไซต์ก่อน และพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือ

“ถ้าดูถึงการลงทุนไอทีในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ แต่ละปีจะอยู่ที่ราว 50-100 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่จะไปอยู่ในส่วนของการติดตั้งระบบเซิร์ฟเวอร์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และในส่วนของบุคลากรเป็นหลัก”

***ใช้วิศวกรทางการเงินใช้พัฒนาเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวง ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการซื้อขายหุ้นตั้งแต่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มจากการนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์การลงุทน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมการลงทุนที่เกิดขึ้น ช่วยให้สามารถแนะนำการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่าน Bualuang iTracker

ต่อมาเมื่อความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ต้องการระบบซื้อขายอัตโนมัติ ก็จึงหันมาพัฒนาระบบช่วยเทรดหุ้น Bualuang iAlgo ที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกตั้งค่าซื้อขายหุ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า นักลงทุนบางรายดูกราฟไม่เข้าใจ จึงมีการลงทุนในระบบอย่าง Bualuang Stock Signals ที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์หุ้น โดยการนำไปเปรียบเทียบกับทฤษฏีต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

***ไม่ว่างหุ้น แค่ใส่เงินเข้าพอร์ต มีระบบอัตโนมัติคอยเทรดให้

จนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลักทรัพย์บัวหลวง ได้เปิดให้บริการออมหุ้นแบบอัตโนมัติ SAP (Stock Accumulation Plan) โดยเป็นระบบที่เน้นการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลังจากนำมาใช้งานนักลงทุนบางรายมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่มีการกระจายความเสี่ยง จึงได้มีการนำระบบ DCA (Dollar-Cost Averaging) หรือบริการออมหุ้นอัตโนมัติแบบรายวัน ที่เน้นให้ผลตอบแทนตามแนวโน้มตลาด โดยเฉลี่ยการลงทุนแบบรายวันจำนวนเงินเท่า ๆ กัน เพื่อกระจายความเสี่ยง พร้อมกับระบบ VA (Value Averaging) ที่จะมาช่วยควบคุมพอร์ต ด้วยการลงทุนอัตโนมัติรายวันเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายเข้ามา

“เชื่อว่ารูปแบบการออมหุ้นแบบอัตโนมัติจะกลายเป็นอีกหนึ่งในวิธีการออมเงินในยุคปัจจุบัน ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับการนำเงินไปฝากธนาคาร หรือลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยง เพียงแต่ในการออมหุ้นรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในระยะยาวมากกว่า”

ทั้งนี้ หลังจากเริ่มเปิดให้บริการระบบออมหุ้นอัตโนมัติรายวันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีนักลงทุนสนใจเข้ามาใช้งานในระบบแล้วราว 1,000 ราย จากเป้าหมาย 4-5,000 รายภายในสิ้นปีนี้ โดยนักลงทุนที่สนใจจะต้องเปิดพอร์ตขั้นต่ำที่ 1 หมื่นบาทต่อเดือน และเซ็นสัญญาต่อเนื่อง 2 ปี

***ดึงแชตบอต ช่วยให้ข้อมูลลูกค้า

อีกหนึ่งรูปแบบการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน คือ DW (Derivative Warrants) หรือใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ที่ทางหลักทรัพย์บัวหลวงมีการออกตราสารนี้อยู่ในตลาดซื้อขายอนุพันธ์ ซึ่งที่ผ่านมา นักลงทุนจะมีความซับซ้อนในการหาข้อมูล DW เหล่านี้อยู่ จึงได้มีการลงทุนนำระบบแชตบอต ผ่านโปรแกรมสนทนาของเฟซบุ๊ก มาช่วยในการให้ข้อมูล DW แก่ลูกค้า ในชื่อ น้องบัวแชทบอท ผ่านการกรอกชื่อหุ้น ชื่อ DW หรือจะเลือกดูตราสารที่ได้รับความนิยม ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

“ผลตอบรับหลังจากเปิดให้บริการแชตบอตมาราว 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี มีนักลงทุนเข้ามาใช้งานเฉลี่ยต่อวันไม่ต่ำกว่า 1,000 ข้อความ ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความนิยมต่อเนื่องในอนาคต และทางบัวหลวง ก็มีแผนที่จะนำระบบดังกล่าวไปใช้กับบริการอื่น ๆ ในอนาคต”

เมื่อดูรวม ๆ แล้ว จากการแข่งขันในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์เหล่านี้ทำให้แต่ละบริษัทหลักทรัพย์ ต่างต้องมีการลงทุน และนำระบบไอทีเข้ามาช่วยให้นักลงทุนใช้งานได้สะดวกขึ้น ซึ่งภายในระบบเหล่านี้ก็จะมีทั้งการนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล และสื่อสารออกมาเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น