การวางงบประมาณกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ของเลอโนโว ในการวิจัยและพัฒนา AI กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะช่วยให้เลอโนโว สามารถปรับองค์กรให้แข่งขันได้ในยุคที่ตลาดพีซีเริ่มนิ่ง เพื่อเข้าสู่ตลาดของอุปกรณ์ IoT รวมถึง AR/VR ที่จะกลายเป็นกลไกสำคัญให้กลับมาเป็นผู้นำในตลาดพีซีได้อีกครั้ง
หยาง หยวนชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เลอโนโว กล่าวว่า ในปีนี้กลยุทธ์หลักของเลอโนโว จะให้ความสำคัญกับ 4 ส่วนหลัก ๆ โดยเริ่มจากการหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ IoT ทั้งในส่วนของคอนซูเมอร์ และคอมเมอร์เชียลเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้รับกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น ถัดมา คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ฉลาดขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน ก็จะเพิ่มการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อนำมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ สุดท้าย คือ การวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม AI เพื่อนำเสนอโซลูชันในการใช้งานให้แก่ลูกค้า
เมื่อดูถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม ทำให้เลอโนโว ไม่สามารถอยู่ในธุรกิจเดิมอย่างพีซี หรือสมาร์ทโฟนได้อีกต่อไปแล้ว และต้องโฟกัสไปในธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะเห็นได้ว่า ล่าสุด เลอโนโว เริ่มรุกเข้าไปในตลาด AI และ AR/VR รวมถึงในตลาด IoT แล้วจากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเปิดตัวภายในงาน CES เมื่อต้นปี 2018ที่ผ่านมา
“ตอนนี้ เลอโนโว ไม่ได้เป็นแค่ผู้จำหน่ายพีซี แต่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เข้ามาอยู่ในตลาดอย่างลำโพงอัจฉริยะ สมาร์ททีวี AR/VR ทั้งในส่วนของคอนซูเมอร์ที่จะรวมกันเป็นสมาร์ทโฮม และคอมเมอร์เชียล ที่นำอุปกรณ์มาใช้งานในสำนักงานให้กลายเป็นสมาร์ทออฟฟิศ”
***ปรับองค์กรรับเทรนด์โลก (Intelligent Transformation)
นอกจากนี้ การรุกเข้าไปในตลาด AI แบบทุ่มหมดหน้าตักของเลอโนโว ทำให้กลายเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI ซึ่งเบื้องหลังที่จะทำให้ AI เกิดขึ้นได้ก็คือ เรื่องของซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่จะทำให้การประมวลผลเร็วขึ้น รวมถึงการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งแก่ลูกค้าด้วย
“สิ่งที่เลอโนโว ทำ คือ การวางงบในการวิจัยและพัฒนา AI ไปมากกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญ (สหรัฐฯ) ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ให้ลูกค้าทุกกลุ่มได้ใช้งาน เพียงแต่ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นเรื่องยากที่จะแยกการลงทุนของ AI ออกมาโดยเฉพาะ เพราะทุกผลิตภัณฑ์ และทุกโซลูชัน ต่างมีการนำ AI เข้าไปใช้งาน”
เลอโนโว ได้มีการลงทุนตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องของ AI และ Machine Learing ขึ้นใหม่ 3 แห่ง เพื่อเร่งให้เกิดการวิจัยและนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยเสริมประสิทธิภาพของดีไวซ์ ให้กลายเป็นสมาร์ทดีไวซ์ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภค
***AI ไม่ใช่แค่ลำโพงอัจฉริยะ
แม้ว่าในช่วงนี้รูปแบบการนำเสนอเทคโนโลยี AI แก่ผู้บริโภค ส่วนใหญ่จะออกมาในมุมของการเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะ ที่ทำงานผ่านอุปกรณ์อย่างลำโพง หรือที่เลอโนโว ผลิตออกมา คือ เป็นทั้งลำโพง และหน้าจอแสดงผล แต่จริง ๆ แล้ว AI สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม
อย่างในอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อนำ AI เข้าไปช่วย ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ จากการติดตั้งกล้องวงจรปิดเข้าไปภายในโรงงาน เพื่อถ่ายภาพสินค้าที่ถูกผลิตออกมา และใช้การประมวลผลมาช่วยตรวจสอบคุณภาพของสินค้าว่าได้ตรงตามมาตรฐานที่วางไว้
“ตอนนี้ เลอโนโว กำลังอยู่ในระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ที่จะนำโซลูชันของ AI เข้าไปช่วยให้องค์กรธุรกิจได้นำไปใช้งาน ซึ่งเมื่อผสานเข้ากับธุรกิจไอทีของเลอโนโว ที่ครอบคลุมทั้งการจำหน่ายอุปกรณ์ การเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ก็จะทำให้เป็นการให้บริการแบบครบวงจร”
***ใช้ AI ตั้งแต่พัฒนาผลิตภัณฑ์จนถึงบริการหลังการขาย
หยาง หยวนชิง ยังได้ยกตัวอย่างการนำ AI มาใช้ภายในเลอโนโว ให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างปัจจุบันในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเลอโนโว ได้มีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยประมวลผลจากข้อมูลของบิ๊กดาต้า ที่ถูกเก็บเข้ามาจากความต้องการ และพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อดูว่าสิ่งใดที่ผู้ใช้ชื่นชอบ และไม่ชอบ
“ในอดีตในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เมื่อต้องการฟังข้อมูลจากผู้ใช้ ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จะมาจากการทำโฟกัสกรุ๊ป แต่ในปัจจุบันไม่ใช่อีกต่อไป ผู้ผลิต หรือนักพัฒนา สามารถนำข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ทันที”
ขณะเดียวกัน อย่างในประเทศจีนได้เริ่มมีการนำระบบ AI เข้าไปใช้กับบริการหลังการขายให้แก่ลูกค้าที่ติดต่อผ่านช่องทางต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งกว่า 50% ของคำถามเหล่านั้น AI สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ ก็จะช่วยลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของพนักงานแก่ลูกค้าที่ต้องการความช่วยเหลือ
***ย้อนมองความสำเร็จของเลอโนโว
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ถือเป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้น และนำไปใช้งานในองค์กรธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการทำธุรกิจของเดลล์ ที่เป็นผู้นำในยุคแรก ถัดมา เมื่อผู้บริโภคทั่วไปเริ่มหันมาใช้งานคอมพิวเตอร์มากขึ้น เดลล์ ในยุคนั้น ที่ยังไม่มีสินค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์ จึงโดนเอชพี โค่นแชมป์ลง
หลังจากนั้น เลอโนโว จึงเริ่มเข้ามาในตลาดนี้ เริ่มต้นจากแบรนด์อย่าง ThinkPad ที่ทางเลอโนโว ไปซื้อธุรกิจจาก IBM มา และหันเข้ามารุกในตลาดนี้ ก่อนขยายแบรนด์สู่คอนซูเมอร์ไปพร้อม ๆ กัน และเมื่อมีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าคู่แข่ง จึงทำให้กลายเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ได้
ขณะเดียวกัน ในสมัยที่ซื้อ IBM เข้ามา ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทไอทีระดับโลก ด้วยการที่องค์กรมีการผสมผสานระหว่างบุคลากรที่เป็นคนจีน และชาวต่างชาติ ทำให้รูปแบบในการทำงานแตกต่างจากหลาย ๆ บริษัทในจีน
“หลาย ๆ บริษัทในจีนอาจจะใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร แต่ในเลอโนโว ใช้การสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นหลัก ทำให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกับเลอโนโว ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือไม่สามารถสื่อสารได้ ซึ่งในจุดนี้เองที่กลายเป็นข้อได้เปรียบของเลอโนโว ในตลาดนี้”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาของการปรับตัวเข้าสู่ตลาดใหม่ ทำให้ในปี 2017 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เลอโนโวได้เสียแชมป์ในการเป็นผู้นำธุรกิจพีซีแก่เอชพี ด้วยการเฉือนยอดขายที่ 55.16 ล้านเครื่องต่อ 54.71 ล้านเครื่อง ปิดตำนานการเป็นผู้นำในธุรกิจพีซี ตั้งแต่ปี 2013-2016 ของเลอโนโว ลงไป
ดังนั้น ในปีนี้การแข่งขันในตลาดพีซีที่ แม้จะเป็นตลาดที่ไม่ได้มีการเติบโตแล้ว แต่ก็ยังมีจำนวนผู้ใช้งานปริมาณมหาศาลทั่วโลกอยู่ ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 3 แบรนด์ใหญ่ ที่ให้บริการในรูปแบบ End to End Solutions ไม่ว่าจะเป็นเอชพี, เลอโนโว, และเดลล์ ที่มีทั้งธุรกิจพีซี เซิร์ฟเวอร์ ไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์
เพียงแต่ยังมีจุดที่เลอโนโว ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง คือ นอกจากในธุรกิจพีซีที่มีโน้ตบุ๊ก เดสก์ท็อป แท็บเล็ตแล้ว กลายเป็นว่า การที่มีธุรกิจสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์โมโตโรล่า เข้ามา จึงช่วยเสริมให้กลายเป็นผู้ผลิตดีไวซ์ที่ครบทุกไลน์สินค้า
***ตลาดเอเชีย กลายเป็นจุดชี้ชะตา
เมื่อมองว่า การนำ AI พร้อมกับระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learing) มาวิเคราะห์บิ๊กดาต้า เพื่อนำเสนอโซลูชันแก่ผู้ใช้เป็นธุรกิจที่ใกล้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ในอุตสาหกรรมไอทีก็จะมีเทรนด์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้อย่าง AR/VR ที่เริ่มทยอยเข้าสู่ตลาด และคาดว่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปีนี้
เคน หว่อง ประธานฝ่ายการตลาดประจำตลาดภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เลอโนโว ให้ข้อมูลว่า ในตลาดพีซี นอกจากตลาดของเกมมิ่งที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ตามมาด้วยเครื่องในรูปลักษณ์ที่บางเบาแล้ว ที่น่าจับตามองในปีนี้ คือ เครื่อง และอุปกรณ์ ที่รองรับการใช้งาน AR และ VR
“มีผลสำรวจระบุว่า ตลาดของ AR/VR ในภูมิภาคเอเชีย และสหรัฐอเมริกา จะกลายเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด โดยมีปัจจัยทั้งจากจำนวนประชากร การเข้าถึงเทคโนโลยีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รวดเร็วขึ้น และความพร้อมของคอนเทนต์ ที่เริ่มจับต้องได้มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ผลิตที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้ดียิ่งขึ้น”
เคน หว่อง เริ่มบรรยายให้เห็นภาพของอุปกรณ์ AR/VR ว่า นอกจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเกมที่ผู้ใช้งานทั่วไปจะใช้ในการสร้างความบันเทิงได้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการรับชมการแข่งขันอีสปอร์ต ด้วยการนำผู้ชมเข้าไปอยู่ในพื้นที่ ที่มีการแข่งขัน
รวมถึงโอกาสใช้ในการนำเสนอคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์กีฬา พร้อมยกตัวอย่างว่า สมมุติมีการแข่งขัน NBA ถ้าใช้งานผ่านแว่น AR ก็จะทำให้รู้สึกเหมือนได้เข้าไปรับชมในสนามแบบสด ๆ ซึ่งรูปแบบคอนเทนต์เหล่านี้จะเริ่มเห็นมากขึ้นจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือยูทูป
ขณะเดียวกัน ในฝั่งขององค์กรธุรกิจก็จะเริ่มมีการนำ AR/VR ไปใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ที่เข้าไปช่วยทั้งในแง่ของการศึกษา และการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรักษาคนไข้ หรือแม้แต่ฝั่งของวิศวกร ที่นำมาใช้ในการจำลองโครงสร้างต่าง ๆ
***ในเอเชีย เลอโนโว ยังเติบโตต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เคน หว่อง ยังให้ข้อมูลถึง 3 ส่วนสำคัญที่ทำให้เลอโนโว ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดในภูมิภาคเอเชียว่า ในปีที่ผ่านมา ถ้ามองในกลุ่มของคอนซูเมอร์ทั่วไปตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุด คือ เครื่องพีซีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะสำหรับตลาดเกมมิ่ง
ถัดมา คือ โน้ตบุ๊กในแบบพรีเมียม ที่เน้นการพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้ แต่ที่สำคัญ คือ ประสิทธิภาพต้องสูงตามด้วย ทำให้ราคาเฉลี่ยของตลาดโน้ตบุ๊กในปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้แม้ปริมาณโน้ตบุ๊กในตลาดจะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ในส่วนของรายได้ก็ยังมีการเติบโตอยู่เช่นเดิม
ส่วนในฝั่งของตลาดองค์กรธุรกิจ ปีที่ผ่านมา มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การเลิกซัปพอร์ตระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอ็กซ์พี ของทางไมโครซอฟท์ ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ต้องมีการจัดซื้อพีซีเครื่องใหม่ให้รองรับการทำงานบนวินโดวส์ 10 ทำให้ตลาดนี้ยังมีการเติบโตอยู่