บราเดอร์โชว์เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท 5 รุ่นใหม่ชิงแชร์ตลาดไทย จุดเด่นคือการเป็นอิงค์เจ็ทระบบแท็งค์รุ่นที่ 2 หลังจากบราเดอร์เริ่มเปิดตลาดมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอกย้ำบราเดอร์ไม่หันกลับไปทำตลาดอิงค์เจ็ทระบบตลับหมึกอีก
สำหรับเครื่องพิมพ์ 5 รุ่นใหม่บราเดอร์ตั้งราคาเริ่มต้น 4,990 บาท จัดเต็ม 4 จุดขายเจาะตลาดกลุ่ม SOHO และ SME ปูพรมทำกิจกรรมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งเป้าดันยอดขายกลุ่มอิงค์เจ็ทโต 10%
ธีรวุธ ศุภพันธ์ภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายถึงเหตุที่บราเดอร์เลือกเปิดฉากปี 61 ด้วยสินค้ากลุ่มอิงค์เจ็ทระบบแท็งค์ เพราะเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทระบบแท็งค์เป็นเครื่องพิมพ์ที่มีอัตราเติบโตสูงสุดของประเทศไทย รายงานจาก ICD ชี้ว่าอัตราการเติบโตของตลาดนี้ในไทยคือ 25%
“ย้อนไปช่วง 5-6 ปีก่อน ในตลาดไทยมีแต่อิงค์เจ็ทที่ต้องใช้ตลับหมึก จึงมีความพยายามประยุกต์ด้วยการติดหมึกแท็งค์ให้เครื่องเพราะเชื่อกันว่าประหยัดกว่า แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่พบปัญหาจุกจิก เครื่องมีปัญหาบ่อย ผู้ผลิตจึงเข้าใจ และพยายามผลิตออกมา วันนี้ผู้ผลิตรายใหญ่มีอิงค์แท็งก์เป็นของตัวเอง และตลาดตลับหมึกเริ่มน้อยลง สถิติล่าสุดคือ 60% เป็นตลาดอิงก์แท็งค์หมดแล้ว บราเดอร์เริ่มทำตลาดนี้มานาน 2 ปีกว่า ครั้งนี้คือรุ่นที่ 2”
เครื่องพิมพ์ 5 รุ่นที่บราเดอร์เปิดตัวเพื่อทำตลาดตลอดปี 2018 ประกอบด้วย DCP-T310, DCP-T510W, DCP-T710 และ MFC-T810W ราคาระหว่าง 4,990-7,490 บาท โดยรุ่นท็อป MFC-T910DW จะเปิดตลาดกุมภาพันธ์นี้
บราเดอร์เชื่อว่าทั้ง 5 รุ่นใหม่จะสามารถเพิ่มยอดขายสินค้ากลุ่มอิงค์เจ็ทของบริษัทได้ 10% เพราะจุดเด่นคือความสามารถในการพิมพ์หน้าหลังกระดาษได้พร้อมกัน งานพิมพ์ที่ชัดกว่า สามารถพิมพ์ได้ต่อเนื่องจำนวนมาก แสกนรูปเพื่อแชร์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่สำคัญ คือหัวพิมพ์ที่มีอายุการใช้งานนานกว่าเดิม จาก 30,000 แผ่นมาเป็น 50,000 แผ่น แถมยังพิมพ์ได้เร็วขึ้น ผลจากซอฟต์แวร์ปรับความเร็วของหัวพิมพ์
ตัวเลขล่าสุดชี้ว่า บราเดอร์ทำยอดขายเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งค์ได้มากกว่า 480,000 เครื่องในปีที่ผ่านมา ทำให้บราเดอร์เป็น 1 ใน 2 ของผู้นำตลาดเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเบอร์ต้นของไทย มีส่วนแบ่งการตลาด 23%
“บราเดอร์ไม่ได้หวังแข่งกับใครเพื่อขึ้นเป็นแชมป์ เป้าของเราคือการโตมากกว่าตลาดที่โตขึ้น สำหรับบราเดอร์ ตลาดรวมอิงค์เจ็ทที่เป็นอิงค์แท็งค์ไทยโตขึ้น 25% ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อิงค์แท็งค์ของบราเดอร์ก็โต 55% เท่านี้เราก็พอใจแล้ว”
ผู้บริหารบราเดอร์ยอมรับว่าจะไม่ออกสินค้ากลุ่มตลับหมึกอีกแล้ว อาจมีบางยี่ห้อที่ยังผลิตอยู่ในตลาด โดยจะเน้นลูกค้ากลุ่มโฮมออฟฟิศ และธุรกิจ SME ที่ต้องการเครื่องพิมพ์ที่ต้นทุนการพิมพ์ไม่สูง โดยเตรียมปูพรมทำสื่อออนไลน์ทั้งยูทูปและเฟซบุ๊ก มีแผนทำโร้ดโชว์ทั่วประเทศ เพื่อแนะนำผลิตภัณฑ์บราเดอร์ รวมถึงทำดิสเพลย์ให้ร้านค้าทั่วไทย
“อีกสิ่งที่เราพิจารณาเป็นอันดับต้นเลยคือบริการ ลูกค้าที่ซื้อเครื่องพิมพ์ของบราเดอร์สไปใช้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของไทย เราบริการถึงทุกจังหวัด 100% วันนี้เรามี 141 ศูนย์ คอลล์เซ็นเตอร์เราได้รับรางวัลบริการคอลล์เซ็นเตอร์ยอดเยี่ยมของไทย 3 ปีซ้อน”
ปัจจุบัน รายได้จากกลุ่มธุรกิจเครื่องพิมพ์คิดเป็น 80% ของรายได้รวมบราเดอร์ สัดส่วนระหว่างสินค้ากลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทและเลเซอร์คือครึ่งต่อครึ่ง โดยบราเดอร์ย้ำว่าแนวทางการพัฒนาเครื่องพิมพ์ให้รองรับอุปกรณ์พกพาเช่นสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต จะยังคงคุณสมบัติให้ผู้ใช้สั่งพิมพ์งานผ่านเราเตอร์ได้อยู่ เพิ่มเติมจากในรุ่นปัจจุบันที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์ผ่านระบบไว-ไฟได้โดยตรง