xs
xsm
sm
md
lg

“คอมเซเว่น” เร่งขยายช่องทางออนไลน์ คู่เเฟรนไชส์ สร้างรายได้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอมเซเว่น เร่งเสริม 2 ช่องทางจำหน่ายค้าปลีกไอทียุคใหม่ ผ่านช่องทางออนไลน์ BananaStore.com โดยจะเร่งโปรโมตหลังระบบใหม่เสร็จในช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมผุดโมเดลเเฟรนไชส์ให้ลูกค้า SME ที่สนใจขายสินค้าไอทีผ่าน BananaShopping ตั้งเป้าภาพรวมธุรกิจปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15%

นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 กล่าวว่า ในปีนี้ COM7 จะเน้นการลงทุนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของการขยายสาขา การจำหน่ายสินค้าของแอปเปิล เพิ่มขายสมาร์ทโฟนพ่วงซิมการ์ด พร้อมกับการรุกในตลาดองค์กรธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ และธุรกิจเเฟรนไชส์ ซึ่งจะทำให้ยอดขายในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15%

“เมื่อดูจากผลประกอบการในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องจากต้องรอแจ้งตลาดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่ทั้งยอดขาย และกำไร ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของ COM7 เนื่องจากเมื่อเทียบยอดขายในช่วงไตรมาส 3 ก็ใกล้เคียงกับยอดขายของปีก่อนหน้าแล้ว”

ในส่วนของสมาร์ทโฟนปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าจำหน่ายไว้ราว 3 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีรายได้จากการขายสมาร์ทโฟนราว 5 พันล้านบาท ขณะที่การจำหน่ายซิมการ์ดในปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าจำหน่ายไว้ที่ 1.8 แสนซิมการ์ด และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 2 แสนซิมการ์ด

เมื่อดูถึงโอกาสทางการขาย สินค้าของแอปเปิล โดยเฉพาะ Apple Watch Series 3 รุ่นใหม่ที่ปัจจุบัน ทาง COM7 จะจำหน่ายเฉพาะรุ่น GPS แต่ในอนาคตอันใกล้ จะมี Series 3 รุ่นที่ใช้งาน e-SIM มาจำหน่าย ทำให้มีโอกาสในการจำหน่ายซิมการ์ดเพิ่ม และช่วยให้ลูกค้าใช้งาน Apple Watch ได้สะดวกขึ้น

“เชื่อว่าในปีนี้ยอดขายจากสินค้าของแอปเปิลจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 100% จากหลาย ๆ ปัจจัยที่มาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดแอปเปิลสโตร์ในประเทศไทย และไลน์อัปสินค้าที่จะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งในปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตอยู่ที่ 65%”

ในส่วนของธุรกิจสมาร์ทโฟน คาดว่ายังสามารถรักษาการเติบโตได้อยู่ โดยเฉพาะหลังจากการที่หัวเว่ย เปลี่ยนนโยบายในการจัดส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าปลีกโดยตรง ไม่ต้องผ่านดิสทริบิวเตอร์ ทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนสินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงแรกหลังเปิดตัวได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ธุรกิจการจำหน่ายซิมการ์ดในปี 2016 ที่ผ่านมา เมื่อจำหน่ายซิมแล้ว พบว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) จะอยู่ที่ 620 บาท และเพิ่มเป็น 700 บาทในปีที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ตัวสมาร์ทโฟนมีราคาสูงขึ้น การจำหน่ายเครื่องพร้อมซิมเพื่อให้ได้รับส่วนลดเพิ่มเติม เป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค และตั้งเป้าว่าในปีนี้จะเพิ่ม ARPU เป็น 800 บาท

ส่วนธุรกิจบริการหลังการขาย ถือเป็นธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาจำนวนมาก แต่เน้นอยู่ในพื้นที่ที่ครอบคลุมผู้ใช้งาน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างใน iCare มีอัตราการซ่อมสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เนื่องจากผู้บริโภคมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา มีจำนวนลูกค้ามาใช้งานกว่า 1.1 แสนราย

“อย่างกรณีที่แอปเปิลมีการประกาศให้ลูกค้าที่ใช้งาน iPhone 6S มาเปลี่ยนแบตเตอรีได้จากปัญหาเครื่องช้าเมื่อแบตเตอรีเริ่มเสื่อมสภาพได้ในราคาพิเศษ 1,000 บาท ใกล้เคียงกับการเปลี่ยนตามร้านตู้ ช่วยให้จำนวนลูกค้าที่เข้าใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า”

ขณะที่สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าของ COM7 รายได้หลักจะมาจากสมาร์ทโฟนราว 49% ตามด้วย โน้ตบุ๊ก 20% อุปกรณ์เสริม 16% แท็บเล็ต 12% ที่เหลือเป็นการจำหน่ายคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อป และการให้บริการหลังการขาย

***ขยายสาขาเพิ่มเป็น 600 สาขา คลุม 72 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม สุระ มองว่า การเติบโตของธุรกิจ ต้องไม่ใช่การเติบโตจากการขยายสาขา เพราะแม้ว่ายอดขายเพิ่ม แต่มีปริมาณสาขาเพิ่ม กำไรอาจจะน้อยลง ดังนั้น COM7 จึงมีการเปรียบเทียบยอดขายของแต่ละสาขาในแต่ละปี ที่พบว่าเมื่อเทียบระหว่างปี 2016 กับ 2017 มีอัตราเติบโตราว 18% ทำให้เห็นว่ายังมีความแข็งแรงอยู่

ทั้งนี้ ในปี 2017 ที่ผ่านมา COM7 มีจำนวนลูกค้าในฐานข้อมูลราว 2.7 ล้านราย ราคาเฉลี่ยการขายต่อใบเสร็จอยู่ที่ 7,500 บาท จำหน่ายสินค้าไปกว่า 6.5 ล้านชิ้น จากจำนวนสาขาอยู่ที่ 434 สาขา

สำหรับในปี 2018 จะขยายสาขาเพิ่มเป็น 600 สาขา ครอบคลุม 72 จังหวัด จากปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 65 จังหวัด พร้อมหันมาโฟกัสในธุรกิจออนไลน์มากขึ้น โดยตั้งเป้าจากรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ราว 800 ล้านบาท

***วางช่องทางออนไลน์เสริมหน้าร้าน

สุระ กล่าวต่อว่า ปีที่ผ่านมา เสียโอกาสทางการขายหน้าร้าน ในบางสาขาที่สินค้าอยู่ในช่วงที่ขาดสต็อก ซึ่งเมื่อนำมาคำนวนแล้ว พบว่าจะสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ทำให้ต้องมองหาช่องทางใหม่มาเสริมอย่าง BananaStore.com ที่สามารถสั่งสินค้า และรับได้ภายใน 3 ชั่วโมง เป็นต้น

“การนำ Omni Channel มาช่วยในกรณีที่หน้าร้านไม่มีสินค้า ก็ให้พนักงานเข้าไปสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมเป็นการสอนให้ลูกค้าได้เห็นถึงความง่ายในการใช้งาน จึงทำให้ช่องทางออนไลน์ของบานาน่าสโตร์ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้ง่ายขึ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปีนี้ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการโปรโมตการขายในช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้งาน นอกเหนือจากที่ปัจจุบันใช้เป็นช่องทางให้พนักงานหน้าร้านใช้

***ลุยธุรกิจเเฟรนไชส์สินค้าไอที

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดธุรกิจเเฟรนไชส์ในการจำหน่ายสินค้าไอที โดยการนำแบรนด์ Banana Shopping มาเจาะกลุ่มลูกค้า SME ในการนำสินค้าของ COM7 ไปจำหน่ายในร้าน โดยใช้จุดเด่นจากการที่ COM7 มีการสั่งสินค้าจำนวนมากจากแบรนด์มาจำหน่ายทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำกว่าร้านค้าทั่วไป

ใช้ช่องทางออนไลน์มาช่วยเสริม ซึ่งเริ่มเข้าไปคุยกับลูกค้าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีร้านค้าตอบรับเข้ามาแล้วกว่า 80 แห่ง โดยคาดว่าจะพยายามเปิดสาขาให้ได้ 50 แห่งภายในครึ่งปีแรก และเพิ่มเป็น 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ ภาพรวมของการลงทุนของ COM7 จะอยู่ที่ 380 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการขยายสาขาราว 220 ล้านบาท ถัดมา คือ การรีโนเวตร้านสาขาเดิมประมาณ 60 ล้านบาท และใช้ทำการตลาดราว 50 ล้านบาท มีการลงทุนใน NOVUS INTEGRATION 20 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจออนไลน์ 20 ล้านบาท และธุรกิจเเฟรนไชส์


กำลังโหลดความคิดเห็น