แอมะซอน (Amazon) เปิดตัวร้านค้าไร้พนักงานแคชเชียร์ และการต่อคิวจ่ายเงินแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย (22 ม.ค.) ที่ซีแอทเติล สหรัฐอเมริกา โดยสามารถทำได้ตามแนวคิดต้นแบบที่เคยนำเสนอไว้ นั่นคือ การให้ผู้บริโภคสามารถหยิบนม อาหารต่าง ๆ เช่น สลัด ไปจนถึงขนมกรุบกรอบออกจากชั้นวางสินค้า และเดินออกจากร้านได้เลย โดยมีเทคโนโลยีของแอมะซอน คอยคิดเงินกับลูกค้าเองโดยอัตโนมัติ
การพัฒนาร้านสะดวกซื้อภายใต้คอนเซ็ปต์ดังกล่าวที่มีชื่อว่า Amazon Go นั้น มีขึ้นตั้งแต่ปี 2016 และบริษัทเคยประกาศว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในปี 2017 แต่ก็ดีเลย์มาเรื่อย ๆ จนเปิดตัวได้อย่างเป็นทางการในปี 2018 นี้ ที่ใต้ตึกของสำนักงานใหญ่แอมะซอน ในซีแอทเติล ซึ่งพนักงานของแอมะซอน ก็มีโอกาสได้ใช้บริการกันแล้วบางส่วน สำหรับการคิดค่าสินค้าก็เป็นไปตามที่แอมะซอน เคยนำเสนอไว้ก่อนหน้าที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิ่งในการวิเคราะห์ว่า สิ่งที่ผู้บริโภคหยิบออกจากชั้นวางสินค้านั้นเป็นอะไร
แต่นอกจากความว้าวของตัวร้านที่ทำให้ผู้บริโภคแอบรู้สึกเหมือนกำลังขโมยของจากร้านสะดวกซื้อแล้ว นี่ยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า แอมะซอนจริงจังกับการมีร้านค้าออฟไลน์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา แอมะซอนได้ทำการซื้อกิจการของโฮลฟู้ด (Whold Foods) และทำให้บริษัทมีสโตร์เป็นของตัวเองถึง 470 สาขาด้วย
อย่างไรก็ตาม Amazon Go นั้น ถือเป็นจุดขายที่แตกต่างจากสโตร์ทั่วไป เพราะการจะเข้าใช้ได้นั้น ผู้ใช้งานต้องมีแอปพลิเคชัน Amazon Go ติดตั้งอยู่ในสมาร์ทโฟนก่อน และเมื่อต้องเดินผ่านประตูทางเข้าต้องสแกนแอปพลิเคชัน จากนั้น เมื่อมีการหยิบสินค้าออกจากชั้นวาง ระบบจะตรวจสอบและดึงสินค้านั้น ๆ มาใส่ไว้ในตะกร้าสินค้าแบบเวอร์ชวลในระบบหลังบ้าน แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกค้าวางคืนกลับไป ระบบก็จะตัดออกให้อัตโนมัติ
ทั้งนี้ คนที่จะเข้าใช้ Amazon Go ได้นั้น ต้องมีสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เอาไว้แล้วเท่านั้น
คำเตือนอีกข้อสำหรับคนที่จะเข้าใช้งานในร้าน Amazon Go ก็คือ ไม่ควรหยิบสินค้าจากชั้นวางให้คนแปลกหน้า เพราะระบบจะคิดเงินจากคนที่เป็นคนหยิบเป็นหลักนั่นเอง
Amazon Go นี้ใช้พื้นที่ในร้านทั้งสิ้น 1,800 ตารางเมตร และมีสินค้าจากโฮลฟู้ด มาวางจำหน่ายด้วยถึง 365 แบรนด์ อย่างไรก็ตาม ในร้านไม่มีการขายกาแฟร้อน หรืออาหารอุ่นร้อน มีเพียงเตาไมโครเวฟให้สำหรับใครก็ตามที่ต้องการอุ่นอาหาร
แต่ร้านนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้พนักงานเสียทีเดียว เพราะ Amazon Go ยังจำเป็นต้องมีพนักงานจัดเตรียมอาหาร และจัดสินค้าลงบนชั้น รวมถึงคอยให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้า ซึ่งในวันแรกของการเปิดตัวพบว่า พนักงานเหล่านี้มีหน้าที่ต้องช่วยลูกค้าดาวน์โหลด และใช้งานแอปพลิเคชัน Amazon Go ให้เป็นนั่นเอง
ในวันแรกของการเปิดตัว เป็นที่น่ายินดีว่า ร้าน Amazon Go ไม่มีการต่อแถวเข้าคิวเพื่อจ่ายเงิน สมกับความตั้งใจของแอมะซอน อย่างไรก็ตาม ในด้านนอกของร้านค้า พบว่ามีคนรอต่อคิวเข้าใช้บริการอย่างน้อย 50 คนเลยทีเดียว