อรูบ้าเผยองค์กรธุรกิจไทยเริ่มใช้งานระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น ส่งซอฟต์แวร์ Aruba 360 Secure Fabric จัดการความปลอดภัยลึกลงถึงระดับการเชื่อมต่อของ IoT ที่มีปริมาณมากและซับซ้อน พร้อมวิเคราะห์ตรวจจับการโจมตีภัยออนไลน์แบบรอบด้าน ลดความเสี่ยงของธุรกิจจากการโจมตีที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่ตลอดเวลา
นายประคุณ เลาหกิตติกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย อรูบ้า ภายใต้ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า ตลาดซีเคียวริตี้ในเมืองไทยที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่กลุ่มธุรกิจระดับเอ็นเทอร์ไพรส์เริ่มใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติเข้ามาในการทำธุรกิจ
รวมไปถึงการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (IoT) เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มากมาย รวมไปถึงมีการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน พัฒนาโซลูชันมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัยของเครือข่ายที่เพิ่มมากขึ้น
อรูบ้าจึงได้นำเสนอระบบความปลอดภัยบนเครือข่ายให้ทันสมัยขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในยุคที่อุปกรณ์พกพา คลาวด์ และ IoT กำลังได้รับความนิยม ด้วย Aruba 360 Secure Fabric ที่มีการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เจาะลึกในรายละเอียด ทำการการวิเคราะห์ตรวจจับการโจมตีภัยออนไลน์แบบ 360 องศาและสามารถปกป้องได้ในทันที
เพื่อช่วยลดความเสี่ยงขององค์กรจากการโจมตีที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญได้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Aruba IntroSpect ที่จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ มีการตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติในระบบเครือข่ายโดยใช้ machine-learning อันเกิดจากความไม่หวังดีของคนในองค์กรเอง
"ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่นี้เข้ามาเพื่อดูแลเน็ตเวิร์กที่ต้องรองรับการใช้งานดิจิทัลไลเซชัน ที่จะก่อให้เกิดดิจิทัลเอฟเฟกต์ตามมา ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้ต้องมีการเชื่อมต่อเข้ากับเน็ตเวิร์กมากขึ้น อาทิ การนำไอโอทีมาใช้ในโรงงานทำให้มีเซ็นเซอร์มหาศาล”
การจะมอนิเตอร์ทีละตัวจะเสียเวลามาก ซึ่ง Aruba 360 Secure Fabric นี้พร้อมตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ใช้ไอโอทีเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น แบงค์กิ้งที่มีปริมาณลูกค้าเป็นจำนวนมาก และมีการใช้งานดิจิทัลแบงกกิ้งที่แพร่หลาย
นายประคุณ กล่าวว่า ซีเคียวริตี้ระบบเดิมเป็นแบบการล้อมรั้ว เพื่อป้องกันการโจมตีจากบุคคลภายนอก แต่ถ้าเป็นคนในองค์กรเองที่เป็นปัญหายังไม่มีการจัดการที่ชัดเจน ดังนั้นการมีโซลูชัน Aruba IntroSpect เพิ่มเข้ามาจะเป็นซีเคียวรีตี้มุมใหม่ที่จะมองพฤติกรรมของผู้ใช้งานภายในองค์กร มอนิเตอร์ไอโอที สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานได้ว่า มีความปกติของผู้ใช้งานคนไหน
อย่างเช่น ใครทำงานไม่เหมือนเดิมเช่น เดิมเคยส่งปริมาณดาต้าไม่มากมาโดยตลอด แต่วันดีคืนดีกลับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง มีการส่งที่ผิดปกติ ระบบจะเริ่มทำการเปรียบเทียบการใช้งานที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับผู้ใช้งานในแผนกเดียวกัน และทำการแจ้งเตือนทีมงานดูแลระบบความปลอดภัยได้ทันท่วงที ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้ทำให้เห็นว่าลิสต์ออกมาเฉยๆ ก็ได้ หรือบล็อกได้เลย
นอกจากนี้ Aruba 360 Secure Fabric ยังจัดกลุ่ม อุปกรณ์พกพา คลาวด์ และ IoT โดยใช้ Device Peer Group ซึ่งจะสามารถจัดกลุ่มอุปกรณ์เข้าเป็นกลุ่ม ๆ ที่เหมือนกัน แม้จะรู้เพียง IP address เพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น การแยกประเภทว่าเป็นกล้องวงจรปิดหรือเซ็นเซอร์ในโรงงาน แล้วจะทำการเทียบพฤติกรรมของมันกับเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันตัวอื่นๆ
จากนั้นจะตรวจหาพฤติกรรมที่ผิดปกติของอุปกรณ์โดยเทียบกับตัวอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกัน เพื่อระบุสัญญาณการเกิดของภัยคุกคามได้ก่อนที่จะขยายตัวออกไปและทำสัญญาณเตือน รวมทั้งทำการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล นับเป็นความสามารถที่สำคัญที่ทำให้สามารถทำงานได้ครอบคลุมทุกประเภทของอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สำหรับช่องทางการให้บริการของอรูบ้านั้นปัจจุบันผ่านพาร์ตเนอร์ 100% โดยมีทั้งพาร์ตเนอร์ที่แต่งตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มใหม่ ด้านซีเคียวริตี้โดยเฉพาะ หรือทำการให้ความรู้กับพาร์ทเนอร์เดิมของเราที่ทำเรื่องเน็ตเวิร์กอยู่แล้วให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าไปให้บริการลูกค้าได้