xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปัจจัยพา AMD มุ่งสู่ผู้นำตลาดซีพียู

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ซีอีโอของเอเอ็มดี ลิซ่า ซู
ในการแข่งขันเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่างอินเทล (Intel) อยู่ในภาวะสะดุดขาจากปัจจัยทางด้านความปลอดภัยของซีพียู ในมุมของ เอเอ็มดี (AMD) จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคให้หันกลับมามองแบรนด์รองในตลาดนี้มากขึ้น

โดยประเด็นใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือการค้นพบช่องโหว่ของซีพียู จากโครงการโปรเจกต์ ซีโร่ (Project Zero) ของทางกูเกิล ที่พบว่า ซีพียู ของหลายๆแบรนด์มีช่องโหว่ใหญ่ที่ต้องทำการแก้ไข เนื่องจากเปิดให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถใช้การประมวลผลของซีพียู เข้าถึงข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำได้ (Spectre & Meltdown)

อินเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายหน่วยประมวลผลรายใหญ่ของโลก จึงได้รับผลกระทบนี้ตรงๆ แม้ว่าจะยังไม่มีความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใช้ และอินเทลได้มีการเร่งออกอัปเดตเพื่อปิดช่องโหว่ดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ร้ายแรงที่สุดในเคสนี้คือเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เบื้องต้นทางอินเทล ระบุว่า ภายในสัปดาห์หน้าคอมพิวเตอร์กว่า 90% ที่ใช้งานหน่วยประมวลผลของอินเทลจะได้รับการอัปเดตและปิดกั้นช่องโหว่นี้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีคำถามตามมาว่าในกรณีที่เป็นผู้บริโภคที่ใช้งานเครื่องทั่วไปไม่ได้มีความรู้เรื่องการอัปเดตจะทำอย่างไร และจะมีความเสียหายเกิดขึ้นจากส่วนนี้หรือไม่

ดังนั้นสิ่งที่ทุกแบรนด์ต่างออกมาเร่งสื่อสารไปยังผู้บริโภคในเวลานี้คือ กระตุ้นให้มีการอัปเดตระบบปฏิบัติการให้ทันสมัยอยู่เสมอ อย่างในฝั่งของแอปเปิล (Apple) ที่มีการนำหน่วยประมวลผลของอินเทลไปใช้งานในแมคบุ๊ก (Macbook) ก็ได้มีการอัปเดตเฟิร์มแวร์เพื่อป้องกันช่องโหว่ดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ในมุมของเอเอ็มดี ได้ออกแถลงการณ์ที่ชัดเจนว่า หน่วยประมวลผลของเอเอ็มดี แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ดังกล่าว (near zero risk) พร้อมกับระบุว่า ในฝั่งวิศวกรของเอเอ็มดีมีการเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าระวังในจุดดังกล่าวแล้วเช่นกัน

ทำให้จากเรื่องดังกล่าว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเอเอ็มดีในปีนี้ ในการก้าวเข้าสู่สงครามซีพียูกับอินเทลแบบเต็มตัวทั้งในตลาดของเดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก และเซิร์ฟเวอร์ ที่มีการเสริมไลน์สินค้าภายใต้แนวทางเพิ่มประสิทธิภาพสูงในระดับราคาที่คุ้มค่าออกมา

***ที่ดีอยู่แล้ว ต้องดีขึ้นกว่าเดิม

แม้ว่าในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา ซีอีโอของเอเอ็มดี 'ลิซ่า ซู' จะให้ความเห็นว่า เป็นปีที่เอเอ็มดีประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้แล้ว จากการตอบรับของผู้บริโภคกับหน่วยประมวลผลยุคใหม่ในชื่อ Ryzen ด้วยการสร้างยอดขายที่มีอัตราเติบโตมากกว่าคู่แข่งในหลายตลาด

ขณะเดียวกันยังมองว่า โอกาสสำคัญของเอเอ็มดีจริงๆแล้วอยู่ในปีนี้ ที่จะเสริมไลน์ผลิตภัณฑ์ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น จากทั้งซีพียู และการ์ดจอ ในกลุ่มที่นอกเหนือจากเดสก์ท็อป ไม่ว่าจะเป็นในตลาดโน้ตบุ๊ก และเซิร์ฟเวอร์ ที่เทคโนโลยีเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น

'สิ่งที่เอเอ็มดีมุ่งเป้าหมายในปีนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพ ฟีเจอร์การใช้งาน เพื่อให้เป็นมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม ที่สำคัญคืออะไรที่ดีอยู่แล้วในปีที่ผ่านมาก็จะดีขึ้นอีกในปีนี้ และปีต่อๆไป เพื่อให้ตลาดพีซีเกิดการแข่งขันที่สนุกขึ้น และผู้บริโภคก็จะได้รับประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น'

***เสริมไลน์ซีพียู พร้อมกราฟิกการ์ด

อย่างไรก็ตาม ในการจำหน่ายซีพียู Ryzen ในช่วงปีที่ผ่านมา เอเอ็มดี ไม่ได้ทำการใส่กราฟิกการ์ดลงไปให้ผู้บริโภคใช้งานด้วย เพราะมองว่ากลุ่มลูกค้าหลักในช่วงแรก จะเป็นกลุ่มเกมเมอร์ที่มีการใช้งานการ์ดจอแยกอยู่แล้ว แต่เมื่อขยับเข้าหากลุ่มผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเสริมไลน์สินค้าให้พร้อมใช้งานมากขึ้น

โดยเอเอ็มดี จะเริ่มทำตลาด Ryzen 3 ในชื่อรหัส 2200G และ Ryzen 5 2400G ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยตั้งราคาจำหน่ายเริ่มต้นไว้ที่ 99 เหรียญ และ 129 เหรียญ ตามลำดับ พร้อมกับการประกาศปรับราคาจำหน่ายของซีพียูรุ่นเดิมให้ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เอเอ็มดี มองว่าการออกซีพียูพร้อมกราฟิกการ์ด จะกลายเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ Ryzen ได้รับการยอมรับในตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมากขึ้น เพราะผู้บริโภคในกลุ่มนี้ แทบจะเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาดเลยก็ว่าได้

***ใช้ความสำเร็จการ์ดจอสร้างพันธมิตร

นอกเหนือจากตลาดของซีพียูแล้ว ในช่วงปีที่ผ่านมา เอเอ็มดี ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดของการ์ดจอ ภายใต้แบรนด์ Radeon Vega ทั้งในกลุ่มของเกมเมอร์มือสมัครเล่น หรือมืออาชีพ รวมไปถึงการนำการ์ดจอไปใช้ในการขุดสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง

ลิซ่า ระบุว่า สิ่งที่ยากในการทำให้ Radeon Vega ได้รับการยอมรับคือ การทำให้ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ดึงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ออกมาใช้งานให้ได้มากที่สุด ทำให้ต้องมีการพัฒนาอีโคซิสเตมส์ด้วยการเปิดชุดคำสั่ง (API) เพื่อให้นักพัฒนานำไปใช้ และทำให้กลายเป็นการ์ดจอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด

รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ผลิตจอภาพ ให้นำเทคโนโลยีอย่าง Freesync เข้าไปใช้งาน ทำให้ปัจจุบันมีจอภาพมากกว่า 300 รุ่น รองรับเทคโนโลยีในการแสดงผลดังกล่าวแล้ว ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับผู้ผลิตเกมในการรีดประสิทธิภาพของการ์ดจอออกมาใช้งานให้ได้มากที่สุด โดยเอเอ็มดี มั่นใจว่า เมื่อใช้งานการ์ดจอของเอเอ็มดี เล่นเกมที่ออกใหม่จะได้รับประสบการณ์เล่นที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องมารอดาวน์โหลดไดร์ฟเวอร์ใหม่ เพื่อให้รองรับเกมใหม่ๆที่ออกมาตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน ยังเปิดโอกาสในการสร้างพันธมิตรที่จะนำการ์ดจอไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือข้ามค่ายระหว่างอินเทล และเอเอ็มดี ที่ล่าสุด อินเทลได้มีการนำ Radeon Vega M ไปใช้งานคู่กับหน่วยประมวลผล Intel Core i9 รุ่นที่ 8 ที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงงาน CES 2018 ที่ผ่านมา

ไม่นับรวมกับการเป็นพันธมิตรกับหลายๆแบรนด์ก่อนหน้านี้ อย่างแอปเปิล ที่นำการ์ดจอ Radeon ไปใช้ใน iMac Pro หรือแม้แต่ไมโครซอฟต์ ที่นำไปใช้งานในเครื่องเกมคอนโซลอย่าง Xbox และ โซนี่ ที่นำไปใช้งานใน PS4 Pro

ยิ่งการที่มีพันธมิตรรายใหญ่เข้ามา ก็จะยิ่งช่วยตอกย้ำความสำเร็จ และความน่าเชื่อถือของ เอเอ็มดี ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าตามแผนของเอเอ็มดีแล้วจะไม่ได้หยุดแค่การจำหน่ายการ์ดจอเพื่อใช้งานแก่ผู้บริโภค แต่มีแผนที่จะรุกเข้าไปในตลาดอย่างแมชชีน เลิร์นนิ่ง ต่อไปด้วย

***เริ่มลุยตลาดโน้ตบุ๊กเต็มตัว

อีกตลาดที่เอเอ็มดีเริ่มหันมาโฟกัสเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาถึงในช่วงต้นปีนี้ คือการนำหน่วยประมวลผล Ryzen Mobile และการ์ดจอ Radeon Vega เข้าสู่ตลาดโน้ตบุ๊ก โดยเริ่มเดินเกมตั้งแต่การแสดงประสิทธิภาพของซีพียู ที่ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าคู่แข่ง และประหยัดไฟมากกว่าเป็นจุดตั้งต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดของเอเอ็มดีที่จะเข้าสู่ตลาดโน้ตบุ๊กคือการเข้าไปพูดคุยกับทางเหล่าผู้ผลิต ให้นำซีพียูไปใช้งานในโน้ตบุ๊กรุ่นที่น่าสนใจ เบื้องต้นแบรนด์ที่ตอบรับอย่าง เอชพี เอเซอร์ เอซุส เลอโนโว เริ่มนำไปใช้งานในกลุ่มของโน้ตบุ๊กเกมเมอร์ โน้ตบุ๊กทั่วไป และโน้ตบุ๊กบางเบา เพียงแต่ว่าจะยังไม่ได้รับการตอบรับในตลาดขององค์กรธุรกิจมากเท่าที่ควร เพราะเอเอ็มดี ยังไม่ได้ปล่อยหมัดเด็ดอย่าง Ryzen Pro Mobile APU ที่มีกำหนดเข้าสู่ตลาดในช่วงไตรมาส 2 นี้ ที่จะเข้ามาชูจุดเด่นในแง่ของประสิทธิภาพ และการประหยัดพลังงาน พร้อมกับระบบความปลอดภัยที่สูงขึ้น

ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าบรรดาผู้ผลิตนำซีพียูในกลุ่มผลิตภัณฑ์โน้ตบุ๊กของเอเอ็มดีไปใช้งานครบ ก็จะมีทางเลือกให้ผู้บริโภคตั้งแต่ Ryzen 3 Mobile ที่จับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป Ryzen 5 Mobile และ Ryzen 7 Mobile ที่จับกลุ่มผู้ใช้งานที่ต้องการประสิทธิภาพสูงขึ้นมาอีกระดับ จนถึง Ryzen Pro Mobile ที่เจาะตลาดองค์กร

***ยอมรับมีจุดที่ต้องปรับปรุง

แม้หลายๆข้อมูลที่สื่อสารออกมาต่างระบุว่าประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลเอเอ็มดีเหนือกว่าอินเทล แต่ในความเป็นจริงในส่วนที่เหนือกว่าคือการประมวลผลแบบหลายแกน (Multi Core) ที่เอเอ็มดีทำได้ดีกว่า แต่ถ้าเทียบการประมวลผลระหว่างแกนต่อแกนแล้ว อินเทลก็ยังมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าอยู่ดี

ประกอบกับการเปิดตัวซีพียูรุ่นล่าสุดของอินเทล ได้มีการเพิ่มจำนวนแกนซีพียูเข้ามาเพื่อให้แข่งขันได้แล้วในกลุ่มสินค้าระดับบน ดังนั้นจึงเป็นการบ้านของเอเอ็มดีที่จะต้องพัฒนาข้ามไปให้ได้ กับอีกจุดหนึ่งคือเรื่องของการเชื่อมต่อที่อินเทลมีการลงทุนในส่วนของระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอก และการเชื่อมต่อไร้สายที่สมบูรณ์แบบมากกว่า ด้วยเหตุนี้เอเอ็มดีจึงจับมือกับควอลคอมม์ ที่ในมุมหนึ่งเป็นคู่แข่งในตลาดชิปเซ็ต แต่อีกมุมควอลคอมม์ก็มี เทคโนโลยีด้านการสื่อสารไร้สาย ซึ่งจะช่วยให้เอเอ็มดีนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ด้วย

สิ่งที่ต้องจับตากันต่อไปก็คือเอเอ็มดีจะสามารถคว้ากระแสที่เกิดขึ้น ในการจูงใจให้ผู้บริโภคที่ต้องการพีซีประสิทธิภาพสูงในราคาประหยัด เลือกใช้งานได้หรือไม่ รวมถึงการร่วมมือกับแบรนด์โน้ตบุ๊กในการนำรุ่นที่ใช้หน่วยประมวลผลของเอเอ็มดีเข้าสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้ ได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน


กำลังโหลดความคิดเห็น