xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 'ฐากร' ว่าที่ กกต.ป้ายแดง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
ในที่สุด 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ต้องเดินออกจากซอยสายลมตามเจตนารมณ์ที่คิดไว้ หลายต่อหลายครั้งที่เขาบ่นท้อ บ่นเหนื่อย และรู้สึกอิ่มตัวกับการทำหน้าที่เลขาธิการกสทช.ที่ต้องทั้งผลักทั้งดันงานต่างๆในหลายๆเรื่อง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่างานกสทช.ที่สำคัญๆไม่ว่าจะเป็นการประมูลคลื่นความถี่ การช่วยเหลือทีวีดิจิทัล มาจากการผลักดันของเขาคนนี้

แม้ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยยื่นหนังสือลาออก แต่ประธานกสทช.ในตอนนั้นคือ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ไม่อนุมัติ แถมยังได้ทำหน้าที่เลขาธิการต่ออีก 1 สมัย ก็ตาม ทว่าสุดท้ายแล้วเขาก็ยังคงดิ้นรนเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ จนในที่สุดได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยคะแนนนำลิ่วอันดับ 1 ในบรรดาผู้สมัคร กกต.ทั้งหมด ด้วยการชูนโยบาย กกต. 4.0 ที่โดนใจคณะกรรมการสรรหาไปอย่างไม่มีข้อสงสัย

***คาดเริ่มงานใหม่ ก.พ. 2561

'ผมคิดว่ายังคงต้องทำหน้าที่ เลขาธิการกสทช.ไปก่อน เพราะเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ผมเพิ่งกรอกประวัติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ตรวจสอบประวัติอีกครั้งหนึ่ง และก็ไม่ทราบว่าการสรรหากกต.จะครบ 7 คน เมื่อไหร่ เพราะว่าที่ กกต.บางคนก็ยังมีเสียงคัดค้านจากคนนอกอยู่ จึงไม่รู้ว่าจะครบ หรือ ต้องรอเลือกตั้งเข้ามาใหม่อีกหรือไม่ หากคนที่ถูกคัดค้านขาดคุณสมบัติจริง คิดว่ากว่าจะได้ครบและเริ่มทำงานน่าจะเดือนก.พ.ปี 2561' ฐากร กล่าว

นับจากนี้หากตนเองต้องลาออกจากเลขาธิการกสทช.แล้ว คนที่จะมาทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการกสทช.ไปก่อนที่จะมีกสทช.ชุดใหม่ ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกสทช.ชุดเก่าไปก่อน เพราะคาดว่าคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่จะได้รายชื่อและเข้ามาทำงานแทนชุดเก่าในเดือนเม.ย.2561 จากนั้นคณะกรรมการชุดใหม่จึงค่อยเลือกเลขาธิการตัวจริงอีกครั้งหนึ่ง

***3 เรื่องเร่งด่วนต้องทำให้จบ

ฐากรระบุว่า คาดว่าตนเองคงอยู่ไม่ถึงการประมูลคลื่น 900/1800 MHz ที่จะประมูลในเดือน พ.ค.นี้ แต่ก็ยังดีที่ได้วางหลักเกณฑ์การประมูลเพื่อส่งมอบให้กับคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงมีอีก 3 เรื่องที่ต้องทำให้จบก่อนที่ตนเองจะไปเป็น กกต. คือ เรื่องแรก เรื่องการอนุมัติร่างสัญญาคลื่น 2300 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เพื่อให้เขาประกอบธุรกิจได้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ ที่ประชุม กสทช.ก็ไม่ได้ติดใจเรื่องใดแล้ว เพราะได้ตอบทางทีโอทีไปแล้วว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการแก้ไขสัญญาใครก่อนการลงนาม ดังนั้นหากอัยการสูงสุดตอบมาว่าทีโอทีสามารถทำได้ ทีโอทีก็ลงนามได้เลย หลังจากนั้นค่อยมาดูร่างสัญญาเพิ่มเติมภายหลังให้ถูกต้องชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องที่สองคือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี โดยกสทช.ได้ประกาศช่วยเหลือค่าใช้บริการรายเดือนๆละ 200 บาท ในโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่าในจำนวนหมู่บ้านเน็ตชายขอบ 607,000 ครัวเรือน มีผู้มีรายได้น้อยอยู่ 86% หรือประมาณ 520,000 ครัวเรือน ซึ่งตามข้อมูลของกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี 2560 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบนั้น มีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน แต่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน มติของ กสทช. ดังกล่าวนี้จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนเมืองกับคนในพื้นที่ชายขอบ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เช่น การรักษาแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การสร้างองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงเกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้

กสทช.จะเริ่มให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี ตั้งแต่เดือน ส.ค.2561 เป็นระยะเวลา 3 ปี (36 เดือน) ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 4,683.73 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยใช้จ่ายจากวงเงินเหลือจ่ายภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559)

'หากครัวเรือนในพื้นที่ชายขอบสามารถสร้างรายได้ อาทิ การขายสินค้าโอทอปผ่านระบบออนไลน์ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน จะทำให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตปีละ 12,480 ล้านบาท'
กกต.ยุคใหม่ต้องเป็น กกต. 4.0 ฐากรระบุ
เรื่องสุดท้ายคือการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล หลังจากที่เมื่อปลายปี 2560 ได้เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ช่วยขยายระยะเวลาในการชำระค่าใบอนุญาตและให้กสทช.ช่วยชำระค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณดาวเทียม.มาครั้งหนึ่งแล้วนั้น

มาคราวนี้ตนเองจะเสนอให้คสช.ช่วยทีวีดิจิทัลอีกรอบหนึ่ง ตามที่ สมาคมดิจิทัลทีวีแห่งประเทศไทยเรียกร้องมาใน 3 ส่วน คือ 1.ต้องการให้ยกเว้นการเก็บเงินค่างวดใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลือตั้งแต่งวดที่ 5-8 จำนวนรวม 16,837 ล้านบาท 2.ต้องการให้ทีวีดิจิทัลมีเพียง 30 ช่อง จากเดิมที่จะต้องมีจำนวน 48 ช่อง โดยให้นำเอาคลื่นที่ไม่ได้ใช้ในจำนวน 18 ช่องส่วนต่างนั้น ไปประมูลเพื่อนำเงินรายได้เข้ารัฐแทน และ3.ค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายสัญญาณ หรือ มักซ์ (MUX) ต้องการให้นำเงินที่ใช้แจกคูปองสำหรับซื้อเซ็ตท้อปบ็อกซ์มาสนับสนุนช่วยเหลือ

'สำนักงานกสทช.ได้พิจารณาแล้ว และเห็นว่ากรณียกเว้นเงินค่างวดใบอนุญาตที่เหลือนั้น ไม่สามารถทำได้ ส่วนอีก 2 ข้อที่เสนอมา ตอนนี้ยังบอกรายละเอียดการช่วยเหลือไม่ได้ เพราะเป็นความลับที่ต้องส่งให้คสช.พิจารณาก่อน'

*** ผลักดันนโยบาย กกต.4.0

ฐากร เล่าว่า กกต.ยุคใหม่ต้องเป็น กกต. 4.0 ดังนั้นตอนที่ตนเองแสดงวิสัยทัศน์จึงไม่ได้เน้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายแต่อย่างใด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กกต.ควรปฎิบัติตามอยู่แล้ว แต่ตนได้นำเสนอในสิ่งที่กกต.ควรทำและสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนอย่างไรมากกว่า โดยเฉพาะกกต.ยุคใหม่ที่ต้องเป็น กกต. 4.0 ต่อไปการเลือกตั้งต้องเลือกตั้งด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

ในเมื่อโครงการอินเทอร์เน็ตประชารัฐ อินเทอร์เน็ตชายขอบ เข้าถึงประชาชนทุกหมู่บ้านแล้ว การเลือกตั้งต้องเปลี่ยนแปลง การใช้บัตรประชาชนเสียบ แล้วให้ประชาชนเลือกผ่านหน้าจอ จะทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสขึ้น ไม่มีการดึงบัตรเลือกตั้งออก ก่อนนับคะแนน ไม่มีการเซ็นลายชื่อแทนกัน ที่สำคัญยังช่วยประหยัดกระดาษที่ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งอีก โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ากระดาษตรงนี้ได้ถึง 3,000-4,000 ล้านบาท เลือกเสร็จแล้วก็ทิ้ง ปัญหาคือจะสำรวจประชามติก็ต้องพิมพ์อีก ดังนั้นต่อไปต้องสำรวจผ่านโทรศัพท์มือถือ เมื่อมีการลงทะเบียนซิมเรียบร้อย ก็สามารถทำได้ง่ายและใช้เงินเพียง 50 ล้านบาท

นอกจากนี้จะช่วยลดคนในการทำงานได้ด้วย ใช้ได้กับทุกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีกทั้งการเลือกตั้งก็ไม่วุ่นวายเหมือนทุกครั้ง จะเลือกใหม่เมื่อไหร่ก็ง่าย เหมือนประเทศญี่ปุ่น จะยุบสภาก็ไม่ต้องกังวล หรือ ตื่นเต้น จะเลือกเมื่อไหร่ ก็ไปเลือกได้เลย ต่างจากประเทศไทย หากจะมีการเลือกตั้ง ต้องประกาศห้ามอย่างนั้น อย่างนี้ ห้ามดื่มสุรา ก่อนการเลือกตั้ง เพราะกลัวเป็นคืนหมาหอน เป็นต้น

'ผมอยากเห็นทิศทางของประเทศดี ถ้าต้นน้ำการเมืองดี ประเทศก็จะดีไปด้วย และผมเชื่อว่าภายในปีนี้ จะเกิดการเลือกตั้งอย่างแน่นอน' ฐากร กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น