xs
xsm
sm
md
lg

'รถยนต์' ฉายรัศมีกลบสินค้าไอทีที่ CES 2018

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

Toyota ระบุว่ากำลังพัฒนารถบัสขนาดย่อมหรือมินิบัสที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง
ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ผู้ร่วมงานหลายคนบอกตรงกัน สำหรับงานมหกรรมโชว์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคประจำปีที่สหรัฐอเมริกาอย่าง CES มาปีนี้ 2018 'รถยนต์' กลายเป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ยักษ์ที่สามารถกลบรัศมีของสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เคยครองพื้นที่งานได้อยู่หมัด

ที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์หลายค่ายมักจะปิดข้อมูลเรื่องรถรุ่นใหม่ รวมถึงรถบรรทุก และรถ SUV เพื่อไปเปิดตัวที่งานมหกรรมยานยนต์ Detroit Auto Show แต่ปีนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างโตโยต้า (Toyota) เกีย (Kia) ฮุนได (Hyundai) และฟอร์ด (Ford) พร้อมใจกันขานรับงานแสดงเทคโนโลยีอย่าง CES ก่อน ความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ CES สามารถเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ และซัปพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และซอฟต์แวร์ ได้แสดงความคิดที่ก้าวไกลและเหมาะกับอนาคตมากกว่า

งานนี้ Toyota ระบุว่ากำลังพัฒนารถบัสขนาดย่อมหรือมินิบัสที่ขับเคลื่อนด้วยตนเอง ซึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นร้านค้าขนาดเล็กได้ ยานพาหนะเหล่านี้จะขับตัวเองไปยังสถานที่ซึ่งผู้ซื้อที่มีศักยภาพ สามารถลองซื้อเสื้อผ้าหรือรองเท้า รวมถึงเลือกซื้อสินค้าอื่นได้อย่างสะดวกสบาย

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ของ Toyota ยังเป็นเพียงต้นแบบที่อยู่ในขั้นตอนแนวคิด คาดว่าการทดสอบจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2020 หรืออีก 2 ปีนับจากนี้


ด้านซัปพลายเออร์สำหรับยานยนต์หลายแบรนด์อย่างบอซ (Bosch) ระบุว่าบริษัทต้องการช่วยผู้ขับขี่ให้สามารถเดินทางไปยังจุดจอดรถที่ว่างในกว่า 20 เมืองทั่วสหรัฐฯ โดยบริษัทกำลังพัฒนาระบบนำทางในเมืองใหญ่เช่น แอลเอ ไมอามี และบอสตัน

Bosch กล่าวว่าจะทำงานร่วมกับผู้ผลิตรถยนต์หลายรายในโครงการนี้โดยไม่ได้จำกัดว่าเป็นค่ายใด จุดนี้รายงานย้ำว่าในขณะมีการขับรถ ระบบของ Bosch จะจดจำและวัดช่องว่างระหว่างรถที่จอดไว้อัตโนมัติ และจะส่งข้อมูลนั้นไปเชื่อมกับแผนที่ดิจิทัล



***ทีวียังไม่ตาย

งาน CES 2018 ผู้ผลิตโทรทัศน์หลายค่ายจัดแสดงสินค้ารุ่นใหม่โดยใช้คำย่อเพื่อแยกสายผลิตภัณฑ์ออกจากกัน ถือเป็นเทรนด์ที่เห็นชัดแต่อาจสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น HDR10 + จะเป็นตัวย่อสำหรับแบรนด์ซัมซุง (Samsung) และ HDR 10 Pro ถูกนำมาใช้โดยแอลจี (LG) แม้จะชื่อต่างกัน แต่ทั้งคู่ใช้เรียกระบบปรับการตั้งค่าสำหรับภาพแต่ละเฟรมแบบอัตโนมัติ ซึ่งจะถูกนำมาใช้แทนการตั้งค่าสำหรับวิดีโอทั้งหมดในครั้งเดียว ทำให้ภาพที่ได้จากทีวีกลุ่มนี้คมชัดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีควอนตัมดอต (quantum-dot) ที่จะทำให้สีบนทีวีแสดงได้แม่นยำยิ่งขึ้น ก็ถูก Samsung เรียกเป็น QLED ในขณะที่แบรนด์ไฮเซนส์ (Hisense) เรียกว่า QDEF

*** หุ่นยนต์ยังโต

LG เปิดตัวหุ่นยนต์อัจฉริยะ CLOi ในงาน CES ปีนี้ ซึ่งแม้ผู้บริหารเดวิด วันเดอร์วาล (David VanderWaal) จะไม่สามารถสาธิตหุ่นบนเวทีได้เต็มที่ เพราะหลังจากทักทาย CLOi กลับหยุดตอบสนองในขณะที่ยังคงกะพริบตาอยู่ แต่ก็ผู้บริหาร LG สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ด้วยการยักไหล่บอกว่า 'แม้แต่หุ่นยนต์ก็มีวันแย่ ๆ'

รายงานระบุว่า CLOi ถูกวางไว้เป็นแบรนด์ใหม่สำหรับสินค้ากลุ่มหุ่นยนต์ของ LG โดยเบื้องต้น CLOi ถูกพัฒนาในรูปหุ่นยนต์เอนกประสงค์ 3 รูปแบบที่สามารถช่วยยกกระเป๋า ช่วยเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงเป็นผู้ช่วยในการชอปปิ้งได้ รุ่นที่สามารถเสิร์ฟอาหารได้นั้น จะมีถาดอาหารติดตั้งอยู่ และสามารถเลื่อนออกมาเพื่อเสิร์ฟอาหาร และเครื่องดื่ม ให้กับแขกในโรงแรม หรือสนามบิน

ขณะที่รุ่นใช้สำหรับขนส่งสัมภาระ จะให้บริการเช็กอิน เช็กเอาต์แบบด่วนแก่ลูกค้าโรงแรมได้ โดยหุ่นยนต์ผู้ช่วยในการชอปปิ้ง จะเดินตามผู้ใช้ไปตามห้างสรรพสินค้า และถือของให้โดยไม่มีเสียงบ่น แน่นอนว่าทั้งสามตัวนี้ยังเป็นเพียงหุ่นยนต์ต้นแบบ ยังไม่มีแผนจะวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์

***กูเกิลเล่นใหญ่

สำหรับการแข่งขันในตลาดผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียง นาทีนี้ไม่มีใครใหญ่เกินกว่ากูเกิล (Google) และแอมะซอน (Amazon) งาน CES 2018 ถือเป็นอีกครั้งที่ Google ออกมาบอกว่าจะไม่ยอมแพ้ ด้วยการประกาศจับมือกับบริษัทคอนซูเมอร์เทคโนโลยี 4 รายได้แก่ LG, เลอโนโว (Lenovo), โซนี่ (Sony) และเจบีแอล (JBL) ในการนำผู้ช่วยดิจิทัลของกูเกิลไปติดตั้งในอุปกรณ์ของทั้ง 4 ค่าย

ผลก็คือกูเกิล แอสซิสแทนต์ (Google Assistant) อาจได้ร่างใหม่ที่มีหน้าจอดิจิทัลมาด้วย ทำให้มีความพร้อมชนกับเอ็คโคโชว์ (Echo Show) ลำโพงอัจฉริยะจากแอมะซอนรุ่นมีหน้าจอที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานนี้ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น โดยงานนี้กูเกิลบอกด้วยว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Assistant แล้วกว่า 400 ล้านอุปกรณ์ทั่วโลก

***ของเล่นและหูฟังปรับใหม่

เอชทีซี (HTC) ประกาศอัปเกรดชุดหูฟังเพื่อสำรวจโลกเสมือนจริงในงานนี้ โดย HTC ย้ำว่าไวฟ์โปร์ (Vive Pro) รุ่นใหม่มีความละเอียดและเสียงที่ดีกว่าอุปกรณ์ VR รุ่นก่อนของบริษัท แถมยังมีน้ำหนักน้อยกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อ VR ไต้หวันยังไม่เปิดเผยวันที่จัดส่งหรือราคาจำหน่าย นอกจากนี้ HTC ยังยืนยันว่าจะมีตัวเลือกรุ่นไร้สายมายวนใจในช่วงกลางปีนี้ด้วย คาดว่าจะทำให้ Vive แข่งขันกับโอคูลัส แบรนด์ในเครือเฟซบุ๊ก (Facebook Oculus) ได้ดีขึ้น ในภาวะที่ตลาดอุปกรณ์ VR รุ่นใหญ่ชนิดต่อกับคอมพิวเตอร์พีซี ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเช่นชุดหูฟัง VR ที่ต่อกับสมาร์ทโฟน เช่นเกียร์วีอาร์ (Gear VR) ของซัมซุง และเดย์ดรีม (Google Daydream)

ด้านผู้ผลิตของเล่นหลายรายนำของเล่นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ มาโชว์ที่งานนี้ หนึ่งในนั้นคือ 'วีเทค' (VTech) ที่ตกลงจ่ายเงินจำนวน 650,000 เหรียญเป็นค่าเสียหายในคดีละเมิดกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของเด็ก

คดีนี้ สำนักงานกำกับดูแลการค้าสหรัฐฯ Federal Trade Commission เป็นผู้เผยว่า VTech เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเด็กโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เมื่อเก็บไปแล้วก็ไม่มีมาตรการปกป้องข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ ถือเป็นอีกข่าวที่ได้รับความสนใจในช่วงงาน CES


กำลังโหลดความคิดเห็น