xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนานสัญญา 2100 MHz ที่รอคอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผลจากสัญญา ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้บริการทั้งจากทีโอทีและเอไอเอสได้ครอบคลุมและเต็มประสิทธิภาพ เอไอเอสจะสร้างโครงข่ายให้ทีโอทีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 5,000 สถานี เป็น 20,000 สถานีภายในปีนี้
ทีโอที เซ็นสัญญาจริงคลื่น 2100 MHz กับเอไอเอสแล้ว 2 สัญญา รับรายได้ปีละ 3,900 ล้านบาท ถึงปี 2568 ลุ้นอีก 2 สัญญามูลค่าปีละ 5,600 ล้านบาท

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2561 เวลา 10.39 น. ทีโอที ได้ร่วมลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ คลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 15 MHz กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) และ บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบรนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอสบีเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ใน 2 สัญญา คือ สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์เพื่อให้บริการโทรคมนาคม และสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (โรมมิง) อายุสัญญา 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2568 โดยบริษัทจะรับรู้รายได้จากส่วนนี้ 3,900 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุสัญญา
ทีโอที เซ็นสัญญาจริงคลื่น 2100 MHz กับ เอไอเอสแล้ว 2 สัญญา รับรายได้ปีละ 3,900 ล้านบาท ถึงปี 2568
กลุ่มเอไอเอส จะเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาเครื่องและอุปกรณ์ทั้งหมดตามมาตรฐานที่ทีโอทีกำหนด โดยจำนวนความจุโครงข่ายจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อัตรา 20% ทีโอที ดำเนินการทำตลาดเอง ซึ่งนำไปพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการลูกค้า รวมถึงการนำไปให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โครงข่ายเสมือน (เอ็มวีเอ็นโอ) โดยปัจจุบันมีอยู่แล้ว 3 ราย และ 80% เป็นของกลุ่มเอไอเอส ใช้บริการโรมมิงสัญญาณภายในประเทศ

ส่วนสัญญาการเช่าใช้เสาส่งสัญญาณ รายได้ปีละ 3,600 ล้านบาทนั้น ยังเป็นเพียงการสัญญาทดลอง เนื่องจากกำลังอยู่ระหว่างการหารือในเรื่องของรายละเอียดและรูปแบบของการทำสัญญาว่าจะเป็นสัญญารูปแบบไหน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะทำในรูปแบบการร่วมลงทุน คาดว่าจะพยายามสรุปให้แล้วเสร็จ และลงนามในสัญญาให้ได้ภายในสิ้นปี 2561 รวมถึงสัญญาเช่าใช้อุปกรณ์ 2G คลื่น 900 MHz รายได้ปีละ 2,000 ล้านบาทด้วย

นายมนต์ชัย กล่าวว่า สำหรับความจุ 20% ที่ทีโอที จะนำมาทำการตลาดเองนั้น คาดว่าภายใน 2-3 ปี ทีโอที จะมีลูกค้า 2 ล้านราย จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 100,000 ราย โดยลูกค้าส่วนหนึ่งที่เพิ่มขึ้นนั้น จะมาจากผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการของรัฐมาใช้บริการประมาณ 1 ล้านราย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยมีเลขหมายโทรศัพท์มือถือใช้งานด้วยแพกเกจ ราคา 50 บาท ต่อความเร็ว 1 Gbps
ส่วนสัญญาการเช่าใช้เสาส่งสัญญาณ รายได้ปีละ 3,600 ล้านบาท นั้น ยังเป็นเพียงการสัญญาทดลอง
ด้านนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า นับเป็นการทำงานที่บรรลุเป้าหมายร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แน่นอนผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ผู้ใช้บริการ เพราะสามารถใช้บริการทั้งจากทีโอที และเอไอเอส ได้ครอบคลุม และเต็มประสิทธิภาพ เอไอเอส จะสร้างโครงข่ายให้ทีโอที เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 5,000 สถานีเป็น 20,000 สถานีภายในปีนี้

นายมนต์ชัย กล่าวว่า สัญญาครั้งนี้ต้องขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ทำให้สัญญานี้ผ่านได้ โดยเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 คณะกรรมการบริษัททีโอที ได้มีมติเลือกเอไอเอส เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จากนั้น ก็เริ่มส่งร่างสัญญาจริงให้อัยการสูงสุดอ่าน ซึ่งระหว่างที่รออัยการสูงสุดตอบกลับนั้น ช่วงกลางปี 2559 เริ่มทดสอบระบบ จนกระทั่งเดือน พ.ย. 2560 เมื่ออัยการสูงสุดตอบกลับมาว่าสามารถทำได้ ทั้ง 2 บริษัทจึงได้ดูฤกษ์ในการเซ็นสัญญาดังกล่าว
จากซ้าย มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส


กำลังโหลดความคิดเห็น