แผน 2300 MHz ทีโอที-ดีแทค ผ่านฉลุย กสทช. ลงมติไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญาใครก่อนลงนาม หากอัยการสูงสุดตอบหนังสือกลับมาว่าทำได้ ก็เดินหน้าได้ทันที จากนั้น ค่อยส่งสัญญาให้ตรวจสอบ เหมือนสัญญาบีเอฟเคที ส่วนเรื่องการขยายระยะเวลาชำระค่างวดคลื่น 900 MHz มติ กสทช. ลงความเห็นขยายค่างวดได้ 3-5 งวด แต่ต้องชำระดอกเบี้ยตามประกาศ ธปท. เร่งส่งหนังสือกลับคสช.ภายในวันที่ 29 ธ.ค. นี้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. มีมติให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สามารถลงนามร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจในสัญญาคลื่น 2300 MHz กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทันที หากสำนักงานอัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญาที่ทีโอที ส่งให้ตรวจแล้วไม่มีปัญหา แต่เมื่อลงนามในสัญญาแล้วจึงค่อยส่งให้ กสทช. ดำเนินการตรวจสอบได้ เหมือนสัญญาบีเอฟเคที ที่ดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องแก้สัญญา เนื่องจากที่ประชุมมีความเห็นว่า กสทช. ไม่เคยมีอำนาจในการตรวจร่างสัญญาใด ๆ มาก่อนไม่ว่าจะเป็นด้านกระจายเสียง หรือด้านโทรคมนาคม ก่อนที่จะมีการลงนาม ดังนั้น ขอให้ทีโอที ยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 ที่มีมติอนุญาตให้ทีโอที ปรับปรุงเทคโนโลยีบนคลื่น 2300 MHz เพี่อให้บริการเสียง ข้อมูล และพหุสื่อ โดยใช้เทคโนโลยี LTE และใช้งานได้ทั่วประเทศ ตามประกาศ กทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2300-2400 MHz เพื่อให้ใช้งานได้ถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568
สำหรับกรณีที่ สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเห็นในการประกอบการพิจารณา เรื่องการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz หลังจากที่ผู้ชนะการประมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ได้ขอให้คสช. พิจารณาขยายระยะเวลาในการชำระเงินออกไปอีก 7 งวด โดยไม่จ่ายดอกเบี้ยนั้น ที่ประชุมไม่เห็นด้วย และมีความเห็นว่าควรขยายระยะเวลาออกไป 3-5 งวด และต้องจ่ายดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยึดหลักการช่วยเหลือเหมือนกรณีช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลโดย กสทช.จะรีบส่งหนังสือความเห็นนี้กลับไปยัง คสช. ภายในวันที่ 29 ธ.ค. นี้
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทได้ทยอยจ่ายค่าประมูลมาแล้ว 2 งวดแล้ว คือ งวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท งวดที่ 2 จำนวน 4,020 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท จะครบกำหนดชำระในปี 2561 ส่วนงวดสุดท้ายปี 2562รายละประมาณ 60,000 ล้านบาท
“การขยายระยะเวลาไม่ใช่อำนาจของ กสทช. หากหัวหน้า คสช. จะพิจารณาใช้มาตรา 44 ใช้อำนาจเรื่องมาตรการส่งเสริมเพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย คือ กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตชำระตามเงื่อนไขเดิม หรือแบบใหม่ โดยให้มายื่นเรื่องกับสำนักงาน กสทช. 30 วัน การขอให้มีการแบ่งชำระเงินเป็นรายปี เป็น 7 งวดนั้น กสทช. ขอให้แบ่งชำระเป็น 3-5 งวด งวดละเท่า ๆ กัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนภายหลัง” นายฐากร กล่าว