xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์ 900/1800 เสียงดังที่ฟังไม่ได้ยิน !!! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
แม้ว่าได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน เอกชน และนักวิชาการ มาแสดงความคิดเห็นบนเวทีดังกล่าว ซึ่งกสทช.ชุดรักษาการ หวังว่า กสทช.ชุดใหม่ จะเดินหน้าประมูลได้ทันทีภายในกลางปี 2561 และจะสามารถให้ใบอนุญาตได้ภายในเดือนส.ค.ปีเดียวกัน

แต่ดูเหมือนว่าเสียงจากเวทีด้านล่างไม่ได้สะท้อนเข้าหูรักษาการกสทช.เลยแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่เวทีประชาพิจารณ์ต่างกังวลไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาเริ่มต้นที่สูงเกินไป การใช้เกณฑ์ N-1ที่อาจทำให้ไม่มีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่กสทช.กำหนด และสุดท้ายคลื่นก็ไม่ถูกนำมาประมูลเพื่อใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ทั้งสิ้น

***ส่อง 2 คลื่นความถี่ที่จะประมูล

สำหรับสาระสำคัญหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่สำนักงาน กสทช. นำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ได้แก่ คลื่นย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ (1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่น 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท

ในส่วนของการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นจำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นชุดละ15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน รวมถึงการนำหลักการคิดมูลค่าเงินตามเวลาจริง (Time Value of Money) มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาใบอนุญาตที่ปรับลดลงจาก 18 ปีเหลือ 15 ปี มาใช้ในการคำนวณราคาขั้นต่ำด้วย ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท

***ประสานเสียงคลื่นแพง

ในเวทีการรับฟังความเห็น ผู้ประกอบการและตัวแทนภาคประชาชน ต่างแสดงความเห็นหลายประเด็น อาทิ การกำหนดราคาคลื่นความถี่โดยใช้ราคาที่ชนะประมูลครั้งที่ผ่านมาเป็นราคาเริ่มต้นเป็นราคาสูงเกินไป จะกระทบกับต้นทุนการประกอบของผู้ชนะประมูล, การจัดชุดคลื่นความถี่ที่กำหนดไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดชนะประมูลในคลื่นความถี่ชุดใดไปอาจทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากชุดคลื่นความถี่ไม่เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากชุดคลื่นความถี่ไม่ได้อยู่ใกล้เคียงกัน จึงขอให้มีการจัดเรียงชุดคลื่นความถี่ใหม่หลังการประมูล ,การกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนชุดคลื่นความถี่อาจจะทำให้การประมูลคลื่นได้ไม่หมดตามที่กสทช.กำหนดไว้ เป็นต้น

ทั้งนี้ตัวแทนจากหอการค้านานาชาติ ให้ความเห็นว่า กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นสูงเกินไป ผลกระทบโดยตรงจะตกไปอยู่ที่ประชาชน ดังนั้นการกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูง กสทช.มีความจำเป็นขนาดนั้นหรือไม่ และเงินประมูลเข้ารัฐโดยตรงหรือมีการแบ่งส่วนแบ่งกันหรือไม่ จึงอยากถามถึงความโปรงใสในการประมูลด้วยราคาตั้งต้นที่สูงกว่าประเทศใดในโลก

ขณะเดียวกันผู้แทนจาก เอดับบลิวเอ็น(ในเครือเอไอเอส) เห็นว่าราคาขั้นต่ำของการประมูลจะต้องใช้การศึกษาวิจัยมูลค่าที่แท้จริงในช่วงเวลานั้นๆ และการกำหนดเงื่อนไขของกสทช. ให้เกิดการแข่งขันต้องมีผู้เข้าแข่งขันมากกว่าใบอนุญาตหรือ N-1 แต่ราคาขั้นต้นที่ตั้งไว้กลับสูง ไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ข้อกำหนดจึงมีความขัดแย้งกัน สอดคล้องกับตัวแทนภาคประชาชน ที่หลายคนเห็นว่าควรมีการกำหนดราคาตั้งต้นไว้ไม่สูงเกินไปเพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะหากสูงเกินไปจะผลักภาระให้กับประชาชน
นริศ รังสีนพมาศ ตัวแทนจากทรูฯ
ด้านนริศ รังสีนพมาศ ตัวแทนจากทรูฯ มีข้อเสนอว่าหลังเสร็จสิ้นการประมูลคลื่น1800 MHz ควรมีการจัดเรียงคลื่นใหม่ เนื่องจากแต่ละใบอนุญาตจะมีปริมาณคลื่น 15 MHz แต่การใช้งานของคลื่นให้เต็มประสิทธิภาพของโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 80% สามารถใช้ความถี่ได้สูงถึง 20 MHz ซึ่งหากประมูลไปแล้วมีฟันหลอ คลื่นไม่อยู่ติดกันจะทำให้การใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ

***ไม่ควรมี N-1

นฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า กสทช. ควรมีการจัดขนาดชุดคลื่นความถี่เป็นขนาดเล็กลงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าประมูลแต่ละราย ซึ่งอาจมีความต้องการปริมาณคลื่นที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกัน ควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดให้เหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประมูลทุกรายสามารถแข่งขันในการประมูลเพื่อถือครองคลื่นสูงสุดได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1

การกำหนดชุดคลื่นความถี่เป็น 9 ชุด ขนาด 2x5 MHz และกำหนดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดในย่าน 1800 MHz ทั้งหมด ไม่เกิน 2x30 MHz (Band-Specific Cap) ซึ่งจะทำให้ตอบสนองความต้องการของผู้เข้าประมูลแต่ละรายได้ดีกว่าการกำหนดชุดคลื่นความถี่ขนาด 2x15 MHz เพียงขนาดเดียว และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการประมูลคลื่น โดยไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1'

ขณะเดียวกันการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในระดับที่จูงใจ และให้กลไกการแข่งขันเสนอราคาเป็นตัวกำหนดราคาคลื่นที่เหมาะสม ไม่ควรนำราคาชนะการประมูลในปี 2558 ที่สูงผิดปกติมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ ราคาที่สูงเกินควรจะมีความเสี่ยงที่ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นได้ทั้งหมด หรือ หากจัดสรรได้ก็จะเป็นภาระต้นทุนของผู้ชนะการประมูลในการลงทุนขยายโครงข่ายและลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งต่อไป

นอกจากนี้ในเวทีเสวนา 'จับตาประมูลคลื่นความถี่ไทยจะเป็นอย่างไรปีหน้า' ที่จัดขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีทั้งนักวิชาการและกสทช.เข้าร่วมวง ต่างมีปัญหาคาใจกับราคาประมูลตั้งต้นและเงื่อนไข N-1 อย่างสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า หากกสทช.ยังคงใช้ราคาสุดท้ายในการประมูลครั้งก่อนมาเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลก็จะทำให้เป็นมาตรฐานในการประมูลครั้งต่อไป ก็จะยิ่งทำให้ค่าคลื่นแพงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่การประมูลครั้งนี้ก็ป่วยการที่จะพูดถึงเพราะการประมูลคลื่น 900 ,1800 MHz ครั้งที่ผ่านมา มีโอเปอเรเตอร์ที่ชนะการประมูลอย่างทรูและเอไอเอสอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะฟ้อง หรือขอสิทธิ์ลดราคาบ้าง หากมีการปรับเปลี่ยนราคาเริ่มต้นการประมูลใหม่ จึงขอฝากให้กสทช.ชุดต่อไปคำนึงถึงราคาเริ่มต้นในการประมูลใหม่เพื่อแสดงความจริงใจว่าการประมูลไม่ได้แพงเหมือนระบบสัมปทาน

'ส่วนเรื่องการตั้งหลักเกณฑ์การประมูล N-1 นั้น อาจเป็นช่องทางให้เกิดการตั้งบริษัทนอมินีขึ้นมาเพื่อเข้ามาประมูลให้ได้จำนวน N-1 หรือหากสุดท้ายแล้วไม่มีคนเข้ามาประมูลตามจำนวนที่กสทช.กำหนด คลื่นจะถูกเก็บ ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี'

พิสุทธิ์ งามวิจิตรวงศ์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี ( ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า การกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลคงทำไม่ทันหากมีการกำหนดประมูลกลางปีหน้า อีกทั้งอาจจะถูกฟ้องร้องจาก ทรู และ เอไอเอส เช่นกัน ดังนั้นขอฝากให้กสทช.ชุดใหม่ จ้างบริษัทวิเคราะห์และนำราคามาประชาพิจารณ์ก่อน และควรเชิญ ปปช.และ สตง.เข้ามารับฟังด้วย ส่วนเรื่องN-1 กสทช.ควรมีแรงจูงใจในการเชิญชวนเอไอเอสและทรูที่มีคลื่นในมือจำนวนมากอยู่แล้วและอาจไม่เข้าร่วมประมูลให้เข้าประมูลโดยอาจคุยกับคสช.ด้วยถึงเงื่อนไขที่ขอยืดระยะเวลาจ่ายค่างวดการประมูลด้วยการให้ทั้งสองบริษัทเข้าประมูลด้วย ขณะที่ดีแทค หากต้องการได้คลื่น 2300 MHz ก็ต้องเข้ามาประมูล ไม่เช่นนั้น กสทช.ก็ไม่ควรมี N-1
นฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวในวงเสวนาว่า ที่ผ่านมา กสทช.ไม่เคยทำการวิเคราะห์ราคากลางในการประมูล แต่ใช้วิธีการยึดหลักราคาสุดท้ายการประมูลครั้งที่แล้วถึง 100% ซึ่งไม่เคยใช้มาก่อน โดยที่ไม่ได้คิดว่าครั้งที่แล้วผู้ชนะการประมูลคือ 'แจส' ทิ้งใบอนุญาตไป อีกทั้งล่าสุดทั้ง ทรูและเอไอเอสก็ขอ คสช.ในการขยายเวลาจ่ายค่างวดใบอนุญาตอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าราคานั้นเป็นราคาที่สูงเกินไป

***เปลี่ยนเกณฑ์อาจโดนฟ้อง

ด้านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลเป็นราคาที่มติที่ประชุม กทค.เห็นชอบแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากมีการเปลี่ยนแปลง กสทช.เกรงว่า ทั้ง 2 บริษัทที่ชนะการประมูลในครั้งที่แล้ว คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)อาจฟ้องร้องต่อกสทช.ได้

ส่วนเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนชุดคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล หรือ N-1นั้น กสทช.ได้คิดอย่างรอบคอบแล้ว จากการประมูลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการประมูลคลื่น 2100 MHz กสทช.ไม่ได้กำหนด N-1ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ราย ได้คลื่นกันไปคนละชุด สังคมก็ตั้งคำถามว่า กสทช.แบ่งคลื่นให้เอกชน จนมาถึงการประมูลครั้งล่าสุด คือ คลื่น 900 และ 1800 MHz กสทช.ก็กำหนดว่าหากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลจะลดราคาเริ่มต้นให้ ซึ่งสังคมก็ตั้งคำถามอีก มาคราวนี้จึงคิดว่าการตั้งเกณฑ์ N-1เป็นสิ่งที่ตอบสังคมได้ดีที่สุด N-1นี้ ก็ใช้เฉพาะในครั้งแรกที่เปิดประมูลเท่านั้น เมื่อมีการเปิดประมูลครั้งที่ผ่านมา หากผู้ประมูลมาไม่ถึงเกณฑ์ N-1ผู้ประมูลก็สามารถเคาะราคาประมูล 1 ครั้ง และรับใบอนุญาตไปได้

ฐากร กล่าวว่า สิ่งที่น่าจะพิจารณาให้ได้คือการเรียงคลื่นใหม่ ในคลื่น 900 MHz ที่ตอนแรก กสทช.จะได้รับคืนมาจำนวน 10 MHz แต่กระทรวงคมนาคมขอคลื่นจำนวน 5 MHz ไปทำโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นอาจจะต้องพิจารณาใหม่ว่าจะนำคลื่นฝั่งไหนที่ไม่มีการรบกวนนำมาประมูลเพื่อให้เหมาะสมกับการให้บริการโทรคมนาคม

เสียงที่ตะโกนก้องหูทั้งราคาตั้งต้นที่สูงเกินจริง จากเหตุการณ์ไม่ปกติเพราะคนเคาะราคาสะบัดบั้นท้ายทิ้งใบอนุญาต แบบสง่างามเนื่องจากไม่ติดแบล็กลิสต์แถมเสนอหน้ามาประมูลใหม่ได้อีก กับ เงื่อนไข N-1 คงรับรู้ ได้ยินกัน แค่ชนชั้นล่างๆที่ต้องก้มหน้าก้มตาทำตามแบบพลเมืองชั้นดี เพราะวันนี้ชนชั้นปกครองหูดับเลือกฟังเฉพาะเรื่องไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น