xs
xsm
sm
md
lg

เอคเซนเชอร์ ชูไทยเหนืออาเซียน พร้อมลุยยุคดิจิทัลด้วย “นวัตกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย
เอคเซนเชอร์โชว์สถิติธุรกิจไทยตื่นตัวเทคโนโลยีสูง ระบุผู้บริโภคไทยมีความพร้อม และตอบรับนวัตกรรมเหนือกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ชี้การ “หาพันธมิตร” เป็น 1 ใน 5 จุดที่ธุรกิจไทยควรเริ่มต้นในปีหน้า หากยังไม่มีไอเดียพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้อยู่รอดในยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้องค์กรเห็นผลลัพท์จากการสร้างนวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหน้าได้ชัดเจน

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดเรื่องการปรับตัวของธุรกิจไทยในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า สิ่งใดที่เป็นแทรนด์ทั่วโลก คนไทยเริ่มนำมาปรับใช้อย่างรวดเร็ว ที่เห็นชัดเจน คือ 89% ธุรกิจไทยสื่อสารกับลูกค้าทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ขณะที่ผู้บริโภคไทย 78% เรียนรู้สินค้าและบริการของธุรกิจผ่านโซเชียล

“เมืองไทยน่าสนใจ ผู้บริโภคมีความพร้อม มีความตื่นตัวเรื่องเทคโนโลยี พร้อมตอบรับนวัตกรรมอย่างสูง ไทยมีค่าเฉลี่ยเหนือกว่าอาเซียนหลายด้าน เช่น กรณีของการตั้งกองทุน VC ในไทยภายในปีที่แล้ว (2012-2016) มีอัตราการเติบโตสะสม 143% ตัวเลขเกิน 100% นี่ถือว่าสูงมาก”

ในภาพรวมของธุรกิจไทย เอคเซนเชอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการ การบริหารเทคโนโลยี และบริการเอาต์ซอร์ส ประเมินว่า องค์กรไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นปรับตัว โดยสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดในการปรับตัวของธุรกิจไทย คือ กลุ่มธนาคารรายใหญ่ที่พยายามเสนอบริการในช่องทางดิจิทัล ด้วยบริการนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ได้สำเร็จ จุดนี้เป็นผลจากการสนับสนุนของภาครัฐ เรื่องพร้อมเพย์ การเปิดกว้างเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้ธนาคารปรับใช้เทคโนโลยีได้หลากหลาย

“หลายคนตื่นตัว และทำ ต้องให้เวลาอีกนิดจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน วันนี้หุ้นธนาคารขึ้นทุกวัน” นนทวัฒน์ ระบุ “ผมไม่สามารถคาดการณ์กรอบเวลาว่าจะเห็นผลเต็มรูปแบบเมื่อไร เพราะยังมีหลายปัจจัย เช่น เรื่องการควบคุมจากภาครัฐ”

นนทวัฒน์ยกให้ดีล “กลุ่มเซ็นทรัล จับมือกับเจดีดอทคอม” (JD.com) เป็นตัวอย่างสุดยอดการพัฒนานวัตกรรมขององค์กรไทยที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยมองว่าบริการรับส่งข้อความแชตอย่างไลน์ (LINE) คืออีกตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องการสร้างอีโคซิสเต็มที่แท้จริงในประเทศไทย

“LINE ในไทยประสบความสำเร็จมากเรื่องบริการหลัก มีลูกค้ามากมาย ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 92% ของไทยใช้ LINE เมื่อมีลูกค้าก็มีข้อมูล LINE จึงจับมือพันธมิตรให้บริการรอบด้าน เช่น LINE MAN เรียกว่าองค์กรไทยเห็นข้อมูลแล้ว เห็นลูกค้าแล้ว ก็เลือกหาพันธมิตรที่จะมาเติมเต็มได้เหมาะสม”

***“หาพันธมิตร” 1 ใน 5 จุดเริ่มนวัตกรรมธุรกิจไทยควรทำปีหน้า

นนทวัฒน์ มองว่า 5 จุดเริ่มพัฒนานวัตกรรมที่ธุรกิจไทยสามารถทำได้ทันทีในปีหน้า คือ 1. การพิจารณาข้อมูล หรือ “ดาต้า” เป็นพื้นฐาน 2. การพัฒนาเรื่องคน และการจัดการองค์กร ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้เร็วขึ้น 3. การหาพันธมิตร ซึ่งหากทำได้ดีและเหมาะสม จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมเกิดขึ้นได้เร็วกว่า

4. การให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และ 5. องค์กรควรต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อช่วยประสานกับหน่วยงานเพื่อให้การออกกฎสำหรับอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง ถือเป็นเทรนด์ที่ถูกต้องที่ธุรกิจโลกควรไป

“ธุรกิจต้องมองว่า นวัตกรรมไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องใหม่เท่านั้น แต่สิ่งที่ธุรกิจทำในปัจจุบันก็สามารถนำนวัตกรรมมาใช้ให้เติบโต ลดต้นทุนได้ เหตุผลเพราะแกนหลักของธุรกิจสามารถสร้างรายได้ตลอดเวลา การนำนวัตกรรมไปจับ ก็จะทำให้แกนหลักของธุรกิจนั้นทำเงินได้ดีขึ้น”

หากทำได้ ธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตสูงมาก เพราะการสำรวจพบว่า การสร้างรายได้จากนโยบายขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล จะมีมูลค่ามากกว่า 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2025 โดยเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัปไทยจะมีมูลค่ามากกว่า 86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2016

สำหรับตลาดโลก ข้อมูลจากเอคเซนเชอร์ ชี้ว่า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังพบปัญหาเรื่องลงทุนปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือทรานสฟอร์เมชันแล้ว ไม่เกิดกำไรเสียที โดยผู้บริหารมากกว่าครึ่งพบว่าติดอุปสรรคเรื่องกฎหมาย ทำให้แม้ธุรกิจจะมีนวัตกรรม แต่ก็ยังไม่สามารถขาย หรือทำรายได้จากนวัตกรรมนั้นได้อย่างเต็มรูปแบบ

“อุปสรรคเหล่านี้เราเรียกว่า digital fragmentation หนึ่งในปัจจัยที่ถือว่าเป็น digital fragmentation คือ นโยบายภาครัฐทั้งการเก็บภาษี กฎหมายลิขสิทธิ์ นโยบายกฎหมายความเป็นส่วนตัว ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้บริการออนไลน์ของบางธุรกิจไม่เกิดขึ้นทั่วโลกแบบไร้พรมแดน”

ผู้บริหารเอคเซนเชอร์ ยังตั้งข้อสังเกตว่าปี 2017 คือ ปีที่รูปแบบการลงทุนในธุรกิจโลกเปลี่ยนไป เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับ “คุณค่าในอนาคต” ของบริษัทเกิดใหม่ ทำให้เงินทุนมากมายไหลไปอยู่ที่บริษัทที่แสดงให้เห็นได้ว่าสามารถบริหารจัดการนวัตกรรมให้เกิดรายได้ แม้จะยังไม่เกิดรายได้ในวันนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น