xs
xsm
sm
md
lg

กสทฯ ลุยธุรกิจ New S-Curve ปีหน้า คาด 3 ปี มีรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กสทฯ ปรับแผนธุรกิจปีหน้ามุ่งพัฒนา New S-Curve หรือกลุ่มธุรกิจใหม่โดยเน้นดิจิทัลเซอร์วิส เตรียมขยายบริการสมาร์ท ซิตี บนโครงข่าย “LoRa” รองรับเทรนด์ IoT และบิ๊กดาต้าโต ขณะที่ผลประกอบการปีนี้ขาดทุน 2,402 ล้านบาท จากการดำเนินงาน 24 ล้านบาท จากบริการโทรฯระหว่างประเทศลดลง และต้องจ่ายคดีกับกรรมสรรพากร  2,378 ล้านบาท

พ.อ. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 2561 ว่า กสทฯ เริ่มปรับแผนดำเนินธุรกิจในการมุ่งพัฒนา New S-Curve หรือกลุ่มธุรกิจใหม่โดยเน้นดิจิทัลเซอร์วิส คาดว่าภายใน 3 ปี จะเริ่มเห็นรายได้

ภายในต้นปีหน้า กสทฯ จะเปิดให้บริการ โครงข่าย LoRaWAN ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีส่วนแบ่งการตลาด 25% ของอุปกรณ์ IoT ที่คาดว่าจะมีถึง 270 ล้านอุปกรณ์

สำหรับการพัฒนาโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) โครงข่ายใหม่ที่รองรับการพัฒนาบริการ IoT และสมาร์ทซิตี โดยเฉพาะ และเป็นการปูทางสู่การให้บริการอัจฉริยะต่างๆของ กสทฯ ในระยะยาว

จากการทดสอบใช้งานระบบตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้โครงข่าย LoRaWAN ได้ติดตั้งใช้งานโดยสมบูรณ์แล้วในโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี ซึ่ง กสทฯ มีแผนขยายโครงข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ IoT มากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้นักพัฒนาจากทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนานวัตกรรม IoT บนโครงข่าย  LoRaWAN ที่มีเสถียรภาพสูงในอัตราค่าบริการต่ำ

ทั้งนี้ กสทฯ สามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN ได้อย่างรวดเร็วบนโครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ กสทฯ ให้บริการอยู่ ทำให้ต้นทุนต่ำ และส่งผลให้ค่าบริการเชื่อมต่อข้อมูลของอุปกรณ์ IoT บนโครงข่าย LoRaWAN มีอัตราถูกมากเมื่อเทียบกับกับค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเมื่อจำนวนอุปกรณ์ IoT มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมหาศาลในอนาคตอันใกล้จะเป็นรายได้ที่ไม่น้อย และเป็นรายได้ระยะยาวให้กับบริษัทรวม

“เรามีแผนจะเป็นทั้งผู้ให้บริการโครงข่าย และเตรียมผันตัวเป็นผู้ให้บริการอัจฉริยะต่าง ๆ ร่วมกับพาร์ตเนอร์ ซึ่งเรายังได้ร่วมกับกลุ่มสามารถ (SISC) ขยายบริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล DTRS (Digital Trunked Radio System) บนคลื่นความถี่ย่าน 800 MHz จำนวน 1,000 สถานีฐานทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานได้อย่างเพียงพอ”

พ.อ. สรรพชัย กล่าวต่อว่า โครงข่ายดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่บริษัททำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการดิจิตอล พาร์ค ไทยแลนด์, โครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ที่ได้ได้ติดตั้งฟรีไวไฟครบทั้ง 1,000 จุด ครอบคลุมทั่วจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับได้วางระบบแพลตฟอร์ม LoRa เทคโนโลยีโครงข่ายไร้สายใช้พลังงานต่ำ เพื่อการสื่อสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดพลังงาน

ขณะนี้ได้เปิดใช้งานเชื่อมต่อระบบ Smart Logistics ให้บริการ GPS Tracking  ติดตามตัวบุคคล ยานพาหนะต่าง ๆ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ ยังมีระบบอื่น ๆ ที่ทยอยเปิดใช้งานอย่างระบบ Smart Utility รองรับการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะสำหรับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น มิเตอร์วัดระดับน้ำ ระดับความชื้นใต้ดิน สามารถใช้ประโยชน์ด้านการเตือนภัยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการในช่วง 10 เดือนของปีนี้ บริษัทมีรายได้ 41,194 ล้านบาท รายจ่าย 41,218 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 24 ล้านบาท รายได้ที่ต่ำกว่าแผนธุรกิจ เนื่องจากบริการหลัก คือ ธุรกิจไร้สาย กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต มีการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย

รายได้กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ลดลง 5 ปีย้อนหลัง จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมที่คนใช้การสื่อสารด้วยดาต้าเป็นหลัก ส่งผลให้เทรนด์เติบโตของบริการกลุ่มโทรศัพท์ระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 12 % โดยสิ้นปีนี้จะทำรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท 

ขณะที่กลุ่มบริการสื่อสารไร้สาย ยังคงเป็นรายได้ส่วนใหญ่ โดยมีกำไรจากการขายส่งตามสัญญาให้บริการ HSPA ขณะที่ my เติบโตขึ้นเล็กน้อย และรายได้สัมปทานดีแทคลดลง ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เติบโตขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ประมาณ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าตอบแทนในโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 500 ล้านบาท บวกกับมีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษจากคดีกับกรมสรรพากรที่สิ้นสุดในปีนี้ จำนวน 2,378 ล้านบาท ซึ่งรวมรับรู้เป็นรายจ่ายส่งผลให้ขาดทุนรวมประมาณ 2,402 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น