ขาดเธอเหมือนขาดใจ การที่ กสทช. ไร้แผนจัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้ประเทศไทยประมูลคลื่นความถี่แพงเกินจริง ทั้งที่ไทยกำลังมุ่งหน้าสู่นโยบาย 4.0 คลื่นความถี่ และแผนงานจัดสรรคลื่นความถี่ ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่สำคัญที่จะผลักดันให้ไทยบรรลุผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีความชัดเจน เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หรือประเทศเพื่อนบ้านที่วันนี้เหมือนจะแซงหน้าเราไปในเชิงนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่
ประเทศไทยวันนี้ยังขาดเส้นเลือดหลัก เพราะเรายังแค่เตรียมประมูลคลื่นเพื่อทดแทนการใช้งานที่หมดสัมปทานไปเท่านั้น นี่คือหนึ่งในความคืบหน้าล่าสุดของคลื่นความถี่ที่จะทำให้ไทยก้าวสู่ 4.0 ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล กำลังเดินหน้าสู่การเตรียมการจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz (คลื่น 850 MHz เดิม) และ 1800 MHz โดยจะจัดขึ้นประมาณกลางปี 2561 โดยสำนักงาน กสทช. กำหนดจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2560
***จากดีมานด์เทียมถึงแผนจัดสรรคลื่น
สิ่งที่น่ากังขาต่ออนาคตคลื่นความถี่ของไทย คือ ความดันทุรังของ กสทช. ที่ครั้งนี้ออกมากำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่มากกว่า 37,000 ล้านบาท โดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่าอ้างอิงจากราคาการประมูลครั้งที่ผ่านมา โดยไม่มีการศึกษารายละเอียด ไม่มีหลักการทางเศรษฐศาสตร์มารองรับ ทั้ง ๆ ที่ราคาจากการประมูลครั้งก่อนมี “ดีมานด์เทียม” จากผู้เข้าประมูลรายหนึ่ง ที่สุดท้ายแล้ว ก็ทิ้งใบอนุญาตที่ปั่นราคาคลื่นไว้สูงลิ่วจนติดอันดับต้น ๆ ของโลก โดยยอมเสียค่าปรับเพียงเล็กน้อยก่อนที่จะพลิ้วหายไป
แต่สิ่งที่ทิ้งไว้ คือ ประเทศชาติ และประชาชนคนไทย เสียโอกาสการเข้าถึงบริการและการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ จากคลื่นความถี่ เพราะราคาที่สูงเกินไป ซึ่งส่งผลเสียต่อการประมูลทุกใบอนุญาตนับจากนี้เป็นต้นไป
สิ่งที่ตามมา คือ ความอิหลักอิเหลื่อจากทุกฝ่ายในแวดวงอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และนักวิชาการ ทุกคนที่จับตามอง เพราะรู้ว่าการกำหนดราคาประมูลสูง แต่ไม่สะท้อนความเป็นจริงของตลาดในปัจจุบัน จะไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน อาจทำให้เสียประโยชน์มากกว่าเดิม เช่น ไม่มีใครสนใจแข่งขันประมูลคลื่นความถี่ หรือกลายเป็นต้นทุนที่สูงเกินจริงสำหรับเอกชน ประเทศชาติสูญเสียโอกาส และสุดท้ายประชาชนต้องแบกรับภาระกับค่าบริการที่แพงจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ไม่เพียงแค่เรากำลังก้าวพลาดกับราคาเริ่มประมูลที่สูงแล้ว ความบกพร่องอีกประการของ กสทช. คือ การดำเนินการโดยไม่มีการประกาศแผนคลื่นความถี่ล่วงหน้า ทั้งที่รู้มาตั้งแต่แรกว่า สัญญาสัมปทานจะหมดลงในปี 2561 เพราะ กสทช. ไม่มี “แผนจัดสรรคลื่นความถี่” หรือ Spectrum Roadmap ของประเทศที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่อันดับแรกของ กสทช. แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีใครเคยเห็นแผนดังกล่าว
***ไร้แผน ไร้คลื่น การกำกับดูแลที่ผิดพลาด
การไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่นี้เอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาคลื่นความถี่สูงเกินจริง เพราะไม่มีใครรู้ว่า อนาคตจะมีคลื่นความถี่ใดได้รับการจัดสรรออกมาบ้าง ทั้งที่ประเทศไทยกำหนดนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งคลื่นความถี่ คือ หนึ่งในหัวใจสำคัญ แต่กลับถูกนำออกมาใช้ประโยชน์น้อยมาก และไม่มีแผนที่แน่นอน
ทั้งที่มีการเสนอแนวทางเบื้องต้นว่าควรมีการกำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2559-2563 ในการนำคลื่น 850, 900, 1800, 700, 2300 และ 2600 MHz มาจัดสรร แต่จนสุดท้ายก็ไม่มีการกำหนด และยังไม่รู้ว่า คลื่นความถี่ 700, 2300 และ 2600 MHz จะถูกนำมาจัดสรรเมื่อไรหรือไม่
เทียบกับประเทศในทวีปยุโรปที่มีแผนชัดเจนในการนำคลื่นความถี่มาจัดสรรในช่วงปี 2560-2563 โดยจะเพิ่มจำนวนคลื่นความถี่พร้อมใช้งานเป็น 2 เท่า จากเดิมเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ เช่น อังกฤษ และเยอรมนี เตรียมจัดสรรคลื่นความถี่ 700, 1500, 2300 และ 2600 MHz ไว้ในปี 2563
แม้แต่พม่า ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย ก็มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นรูปธรรม ทั้ง 700, 900, 1800 และ 2600 MHz หรือมาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีการนำคลื่นความถี่มาใช้งานมากกว่าไทยถึงเท่าตัว ก็มีแผนจัดสรรคลื่น 700 MHz เพิ่มเติมอีกในปี 2560
ทั้งหมดกลายเป็นคำถามว่า ประเทศไทย และ กสทช. กำลังจะจัดสรรคลื่นความถี่ โดยไม่มีแผนที่ชัดเจน และอาจอยู่บนพื้นฐานของความผิดพลาด ?
***แผนจัดสรรคลื่นต้องรีบดำเนินการ
พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นอกจากเรื่องการกำหนดราคาเริ่มต้นที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง ไม่มีการศึกษาแล้ว สิ่งที่ กสทช. ควรทำเป็นอันดับแรก แต่ยังไม่ได้ทำ คือ จัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ถือเป็นหน้าที่หลักขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ทั่วโลก เป็นการกำหนดแผนว่าจะนำคลื่นความถี่อะไร มาใช้ทำอะไร จะมีการจัดสรรเมื่อไร เพื่อบริษัทเอกชนจะได้วางแผนด้านการเงิน การลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน กสทช. ยังไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ออกมา แสดงให้เห็นว่าไม่มีความแน่นอนในการกำกับดูแล ทั้งที่รู้ล่วงหน้าว่า สัญญาสัมปทานจะหมดอายุ แต่ไม่มีการจัดประมูลล่วงหน้า หรือ Early Auction ดังนั้น สภาพตอนนี้ คือ มีคลื่นความถี่อะไร บริษัทเอกชนก็ต้องคว้าเอาไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใดออกมาอีกหรือไม่
“ต้องกล้าทำเพื่อประเทศ วางแนวทางสู่อนาคต ประเทศไทย 4.0 ที่ดีกว่า”
หากพิจารณาปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำคลื่นความถี่ออกมาใช้ประโยชน์น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลกำลังก้าวไปสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 แต่พอหันกลับมาดูคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะให้ไทยก้าวไปสู่ความเป็น 4.0 ได้นั้น กลับเป็นความหวังริบหรี่โดยสิ้นเชิง เพราะวันนี้ กสทช. เพียงแค่นำคลื่นความถี่ที่หมดสัญญาสัมปทานมาจัดสรรใหม่ ซึ่งมีปริมาณคลื่นไม่พอกับการผลักดันประเทศ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล กสทช. ควรจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดเวลาเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมาจัดสรรใหม่ให้เกิดประโยชน์
“ต้องยอมรับว่า การทำหน้าที่ส่วนนี้เป็นเรื่องยาก อาจเกิดความขัดแย้ง และมีการฟ้องร้องทางกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ กสทช. ต้องแสดงความกล้าหาญ เพื่อวางแนวทางให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แน่นอน ต้องไม่ใช่แค่ทำอะไรแบบเดิม ๆ ที่ถือว่าทำไปตามหน้าที่เท่านั้น”
***แผนจัดสรรคลื่นส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แผนการจัดสรรคลื่นความถี่ คือ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ใช่แค่แผนที่บอกว่าจะนำคลื่นความถี่อะไร มาจัดสรรเมื่อไร แต่ยังกำหนดถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้งานคลื่นความถี่เดิม หรือการกำหนดการใช้งานสิ่งใหม่ ๆ แต่ปัจจุบันไม่มีอะไรชัดเจน
“คลื่นความถี่ 700 MHz จะเปลี่ยนจากทีวีอนาล็อค มาใช้กับโทรคมนาคม หรือการจะเริ่มต้นจัดทำวิทยุดิจิทัล เป็นเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ทุกฝ่ายจะได้รู้ว่า กิจการจะเริ่มได้เมื่อไร ต่อไปผู้ประกอบการที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีจะได้วางแผนธุรกิจได้ว่าอนาคตจะมีคลื่นความถี่ใดถูกนำมาใช้อะไร นี่คือ เรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล และไทยแลนด์ 4.0 แต่ไทยยังไม่มี”
***แผนจัดสรรคลื่นทางแก้ปัญหาระยะยาว
หน้าที่หลักของ กสทช. คือ การจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งย้ำอีกครั้งว่า ปัจจุบันยังไม่มี ส่งผลให้ในประเทศไทยยังไม่มีใครรู้ว่า หลังจากนี้จะมีคลื่นความถี่อะไรถูกนำออกมาจัดสรรอีกหรือไม่ เมื่อไร จึงขาดการศึกษา และวางแผนในระยะยาว เท่ากับขัดแย้งกับนโยบายประเทศไทย 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อไม่รู้ว่าจะมีการจัดประมูลคลื่นเมื่อไร ก็ไม่สามารถศึกษารายละเอียดเพื่อจัดการประมูล และกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ผลที่ตามมา คือ กสทช. กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลที่กว่า 37,000 ล้านบาทในทั้ง 2 คลื่นความถี่ โดยบอกว่าใช้ราคาอ้างอิงจากการประมูลครั้งที่ผ่านมา
“นี่คือ วิธีการที่ไม่มีหลักเศรษฐศาสตร์มารองรับ แสดงถึงความไม่แน่นอนในการกำกับดูแล และเป็นคำถามที่สังคมต้องตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของ กสทช. และเรียกร้องให้มีการทบทวนการดำเนินการดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสากล และมีการศึกษาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนกว่านี้”