xs
xsm
sm
md
lg

“อีริคสัน” ชี้ดูหนังออนไลน์ผ่านเน็ตมือถือตัวแปรสำคัญไทยเข้าสู่ยุค 4G ก่อนปูทางเข้า 5G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อีริคสัน เผยรายงานการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภค “Mobility Report” ในเดือนพฤศจิกายน 2017 พบการใช้งาน 4G LTE เริ่มกลายเป็นสัดส่วนหลักของตลาด พร้อมปริมาณการใช้ดาต้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง คาดภายในปี 2023 จำนวนผู้ใช้งาน 5G ทั่วโลกจะแตะ 1 พันล้านเลขหมาย

นาดีน อัลเลน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากรายงานของ Ericsson Mobility Report ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มมีการคาดการณ์ถึงการใช้งาน 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว

โดยในสถานการณ์ทั่วโลกข้อมูลการใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่าสุด ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาทั่วโลก จะอยู่ที่ 7.8 พันล้านเลขหมาย (จำนวนประชากรโลกราว 7.5 พันล้านคน) โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนของเครื่องสมาร์ทโฟนราว 57% ซึ่งในช่วงไตรมาสนี้มีการเปิดเบอร์ใหม่บนโครงข่าย 4G จำนวน 170 ล้านเลขหมาย ทำให้ปัจจุบันปริมาณผู้ใช้ 4G ทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.5 พันล้านเลขหมาย

“อีริคสันคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้เทคโนโลยี 4G LTE จะเข้ามาเป็นโครงข่ายหลักที่ผู้บริโภคใช้งาน และคาดว่าปริมาณผู้ใช้งาน 4G LTE จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 พันล้านเลขหมายในปี 2024 ขณะเดียวกันจำนวนผู้ใช้งาน 5G ก็จะขึ้นมาอยู่ที่ 1 พันล้านเลขหมายด้วยเช่นเดียวกัน”

เช่นเดียวกับการขยายโครงข่ายของผู้ให้บริการ 5G จะเริ่มเห็นความชัดเจน และเริ่มใช้งานในช่วงปี 2019 ก่อนจะเริ่มถูกใช้งานแพร่หลายมากขึ้นจากผู้บริโภคทั่วไปในปี 2020 และจนถึงปี 2023 โครงข่าย 5G จะครอบคลุม 20% ของประชากร ในขณะที่ 4G จะครอบคลุมราว 85% ของประชากร

ในส่วนของปริมาณการใช้งานดาต้าในช่วงปี 2023 ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนกว่า 95% ดังนั้น ปริมาณการใช้งานจึงเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ทำให้ขึ้นมาเป็น 110 EB ต่อเดือน (1 EB - 1 พันล้าน GB) จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 14 EB ต่อเดือน โดยสัดส่วนการใช้งานหลักจะเป็นวิดีโอ จาก 55% ในปัจจุบันเป็น 75% ในปี 2023

“การมาของ 5G จะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สร้างรายได้จากการให้บริการในรูปแบบอื่นถึง 6.19 แสนล้านเหรียญในปี 2026 เพิ่มขึ้นจากรายได้ในรูปแบบเดิม 36% โดยมีปัจจัยหลักจากการขยายอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไร้สาย”

ส่วนในประเทศไทย ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์ในไทยราว 95 ล้านเลขหมาย (เทียบกับจำนวนประชากรอยู่ที่ 146%) และจะเพิ่มเป็น 115 ล้านเลขหมายในปี 2023 โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟน 68% (65 ล้านเครื่อง) และในปี 2023 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 87% (100 ล้านเครื่อง)

ขณะที่การใช้งานโครงข่ายพบว่าปัจจุบันสัดส่วนการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่บนเครือข่าย 3G ยังสูงถึง 70% แต่เชื่อว่าภายในปี 2023 การใช้งาน 4G LTE จะมีสัดส่วนถึง 60% จากการที่โอเปอเรเตอร์มีการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคเปลี่ยนดีไวซ์มาใช้งานเครื่องที่รองรับ

“พฤติกรรมการใช้งานแพกเกจดาต้าก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยจากเดิมในปี 2016 ที่ผ่านมาจะใช้งานอยู่ราว 5 GB ในแต่ละเดือน แต่ในปีนี้เพิ่มเป็นมาอยู่ในช่วงมากกว่า 10 GB แทน ซึ่งเกิดจากการใช้งานวิดีโอสตริมมิ่งต่างๆ รวมถึงการที่โอเปอเรเตอร์ออกแพกเกจการใช้งานดาต้าไม่จำกัดออกมาด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย การเตรียมความพร้อมสู่ 5G จะเริ่มตั้งแต่การนำอุปกรณ์เข้ามาทดสอบเครือข่าย ร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย รวมถึงการขยายรูปแบบการเชื่อมต่อ IoT ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่มีเทคโนโลยีหลักๆ คือ NB-IoT และ CAT-M1 รวมถึง VoLTE

ที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งแผนแม่บทในการนำคลื่นความถี่มาใช้งานที่ กสทช. ต้องมีความชัดเจนก่อน รวมถึงการเปิดประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการคลื่นความถี่
กำลังโหลดความคิดเห็น