xs
xsm
sm
md
lg

กูเกิล รุกหนักส่ง “Oreo Go” บุกอินเดีย พร้อมปรับโฉมแผนที่ให้แจ้งเตือนได้เมื่อถึงที่หมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กูเกิลเปิดตัวซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันสำหรับสมาร์ทโฟนราคาประหยัดแล้วในอินเดีย โดยถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้เจาะตลาดแดนโรตี ที่มีอัตราการเติบโตด้านบริการไร้สายสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

จุดเด่นของระบบปฏิบัติการ “แอนดรอยด์โอรีโอ โก (Android Oreo Go)” นั้น สามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนที่มีเมมโมรีเพียง 512 เมกะไบต์ได้ ซึ่งทางกูเกิล คาดว่า สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมซอฟต์แวร์เวอร์ชันดังกล่าวจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในเดือนมกราคมนี้

สาเหตุที่เปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โอรีโอ โก ในตลาดอินเดียนั้น เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากจีน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 1.2 พันล้านคนเท่านั้นที่เข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ ส่วนที่เหลือยังเป็นฟีเจอร์โฟนอยู่ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสอย่างมากสำหรับกูเกิลในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแอนดรอยด์

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลานี้เหมาะสมก็คือ มีการผลิตสมาร์ทโฟนแบรนด์อินเดียเอง และแบรนด์จากจีนออกมาในราคาที่ถูกมาก และกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ที่มองหาสมาร์ทโฟนเครื่องแรกไว้ใช้งาน เพียงแต่สมาร์ทโฟนเหล่านี้ก็มีสเปกที่ไม่สูงมากนัก ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความลังเลใจว่าจะทำให้ประสบการณ์การใช้เครื่องไม่ดีเท่าที่ควร นั่นจึงทำให้กูเกิลตัดสินใจส่งแอนดรอยด์ โอรีโอ โก ไปเจาะตลาดอินเดียเสียเลย ซึ่งหากเป็นไปด้วยดี ก็จะสามารถดึงดูดผู้ซื้อที่ซื้อสมาร์ทโฟนราคาระหว่าง 30-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่อง ได้มากขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยเปิดตัวแอปพลิเคชันชำระเงินออนไลน์ในชื่อ Tez มาแล้ว (เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน) เราจึงอาจได้เห็นการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม Tez สำหรับโอรีโอ โก

ปัจจุบัน อินเดียมีผู้เชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนแล้ว 400 ล้านคน ซึ่งพบว่า ความต้องการใช้งานด้านข้อมูลก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า แอปพลิเคชันกูเกิลแมปส์ (Google Maps) ก็เตรียมเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่สำหรับการเดินทาง ที่สามารถเตือนให้ผู้ใช้งานทราบว่าถึงที่หมายที่ต้องลงแล้ว โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้

ความสามารถนี้จะปรากฏในกูเกิลแมปส์ ก็ต่อเมื่อมีการค้นหาจุดหมายปลายทางที่ต้องการ พร้อมปุ่มสตาร์ทที่ด้านล่างของหน้าจอ การกดปุ่มสตาร์ทเท่ากับว่า ผู้ใช้งานจะได้รับอัปเดตแบบเรียลไทม์ว่า ตอนนี้ผู้ใช้งานอยู่ที่ไหน และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ข้อมูลเหล่านี้จะมาปรากฏที่หน้าจอล็อกสกรีนของสมาร์ทโฟนด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเข้าไปในแอปพลิเคชันอีกต่อไป

สำหรับความสามารถใหม่ของกูเกิลแมปส์นั้น อาจดูไม่จำเป็นกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่ฟีเจอร์นี้คาดว่าจะจำเป็นมากสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างแดนบ่อย ๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่่ช่วยให้พวกเขานั่งรถโดยสาร หรือรถไฟ ได้อย่างสบายใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะลงผิดป้าย เพราะฟังสำเนียงของผู้ประกาศไม่ออกนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น