xs
xsm
sm
md
lg

อาลีบาบา จับมือรถไฟใต้ดินเซี่ยงไฮ้ นำระบบจดจำใบหน้า-เสียง ช่วยเลือกเส้นทางให้อัตโนมัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สถานีรถไฟใต้ดินในเซี่ยงไฮ้ ภาพจากเอเอฟพี
ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินของเมืองเซี่ยงไฮ้ เตรียมนำระบบจดจำเสียงพูด และระบบจดจำใบหน้าจากบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง” เข้ามาให้บริการผู้ใช้บริการที่มีหลายล้านคนต่อวันให้เดินทางได้สะดวกขึ้นแล้ว

ความร่วมมือครั้งนี้ของอาลีบาบา กับ Shanghai Shentong Metro Group ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินของเซี่ยงไฮ้นั้น มีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยจะนำเทคโนโลยีจดจำเสียงพูดที่ชื่อว่า “Far-Field” เข้ามาติดตั้งที่ตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารภายในสถานนีทุกแห่ง เช่นเดียวกับระบบจดจำใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตนของผู้เดินทางด้วย

เมื่อระบบติดตั้งแล้วเสร็จ ผู้โดยสารสามารถบอกจุดหมายปลายทางกับตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารได้เลย และระบบจะแนะนำเส้นทางที่ดีที่สุดให้

“ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องใช้คำพิเศษใด ๆ เพื่อให้เครื่องคีออสเปิดการทำงาน” Yan Zhijie ผู้อำนวยการของสถาบันข้อมูลและเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ของอาลีบาบา กล่าว

Yan กล่าวว่า เทคโนโลยีจดจำเสียงพูดสามารถทำให้การเดินทางมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และสามารถรับคำสั่งเสียงได้แม้ในสถานที่สาธารณะที่มีเสียงรอบข้างรบกวนอย่างสถานีรถไฟใต้ดิน ส่วนเทคโนโลยีจดจำใบหน้านั้น ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งผู้เดินทางต้องส่งมีการยืนยันภาพถ่ายที่จะส่งเข้าไปเก็บในระบบก่อน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุว่า ระบบใหม่นี้จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานเมื่อไร แต่สำหรับแอปพลิเคชันชื่อเซี่ยงไฮ้ เมโทร (Shanghai Metro) ที่ให้ผู้เดินทางจ่ายค่าโดยสารได้ผ่านอาลีเพย์ (Alipay) มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปีหน้า

จากความร่วมมือดังกล่าวเห็นได้ว่า จีนกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแอปพลิเคชันโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้วางเป้าหมายว่าจะสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Innovation Center of AI ด้วยการทำให้อุตสาหกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ของประเทศก้าวขึ้นมามีมูลค่าเกือบ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030

ภายใต้คำนิยามของ AI นั้น หมายถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่ machine learning, cognitive computing, natural language processing

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จาก Pinsent Masons ก็ยังมองว่า อาลีบาบาไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้มากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างไป่ตู้ (Baidu) หัวเว่ย (Huawei) และเทนเซ็นต์ (Tencent)

ขณะที่ตัวแทนจากอาลีบาบา เผยว่า นอกจากการจับมือกับเซี่ยงไฮ้เมโทรแล้ว อาลีบาบายังตั้งใจจะเข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีให้กับท่าอากาศยาน, ภัตตาคาร, ร้านค้าปลีก และอีกหลายธุรกิจอีกด้วย

ทั้งนี้ เฉพาะแค่ระบบรถไฟของเซี่ยงไฮ้เมโทรนั้น ก็มีสถานีให้บริการถึง 367 สถานี คิดเป็น 53 เปอร์เซ็นต์ของระบบขนส่งสาธารณะที่ให้บริการเพื่อรองรับประชากรกว่า 24 ล้านคน โดยมีค่าเฉลี่ยในการเดินทางอยู่ที่ 10.65 ล้านทริปต่อวัน (ในวันทำงาน)
กำลังโหลดความคิดเห็น