xs
xsm
sm
md
lg

“พิเชฐ” ลั่น ทำเน็ตโซนซีได้ แต่ไม่ใช่เดือนละ 200 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี
รมว.ดีอี เตรียมหารือ กสทช. ภายในสัปดาห์นี้ เผยหากคุยรายละเอียดได้ข้อสรุปตรงกัน ยินดีรับงาน 15,732 หมู่บ้านเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และอาจให้ทีโอที ทำต่อ ย้ำทำราคาเน็ตเข้าบ้าน 200 บาทต่อเดือนไม่ได้ เหตุเงื่อนไขคนละแบบกับเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้านของ กสทช.

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า ตามที่มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบให้มอบโครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกลโซน ซี อีกจำนวน 15,732 หมู่บ้านให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอีดำเนินการได้นั้น ภายในสัปดาห์นี้ ตนเองจะเข้าหารือกับ กสทช. เพื่อรับทราบรายละเอียดก่อน ถึงจะตัดสินใจว่าจะทำได้หรือไม่ เพราะจะต้องติดตั้งให้เสร็จภายในปี 2561

ทั้งนี้ กสทช. มีผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่แล้ว กระทรวงก็ต้องหารือถึงรายละเอียดในการติดตั้งว่าจะตรงกับมาตรฐานที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแทนกระทรวงหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากกระทรวงจะรับมาทำ ก็อาจจะมอบหมายให้ทีโอที ดำเนินการในลักษณะเบิกจ่ายแทนกันเหมือนเดิม เพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้ง ทีโอทีก็สามารถติดตั้งโครงการที่รับผิดชอบ จำนวน 24,700 หมู่บ้านได้ทันภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 2 ธ.ค. ติดตั้งไปแล้ว 21,866 หมู่บ้าน คิดเป็น 88.53%

ส่วนเงื่อนไขเรื่องราคาให้บริการตามบ้านประชาชนต้องอยู่ที่เดือนละ 200 บาทนั้น ขอยืนยันว่าโครงการเน็ตประชารัฐ ไม่สามารถใช้ราคาเดียวกับโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้านเหมือนที่กสทช. ทำได้ เพราะเงื่อนไข และปัจจัยต่างกัน พื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน

อนึ่ง สำนักงาน กสทช. ได้จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินการศึกษาราคากลาง และจุดที่จะให้บริการ โดยกรอบศึกษาที่ได้วางกรอบไว้ คือ แนวทางที่ 1 ดำเนินการตามกรอบแนวทางที่ กสทช. ดำเนินการในส่วนของโครงการ USO เน็ตชายขอบ ที่ดำเนินการอยู่ว่าจะต้องใช้กรอบวงเงินในการดำเนินการเท่าใดนั้น โดยโครงการ USO เน็ตชายขอบที่ กสทช. ดำเนินการต้องมีอัตราค่าบริการไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน จะต้องมีการรับประกัน 5 ปี โครงข่ายต่าง ๆ ที่มีการจัดตั้งขึ้นมา จะต้องเป็นทรัพย์สินของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ สถานที่ราชการของรัฐ ในพื้นที่ให้บริการจะต้องเปิดจุดเชื่อมต่อสัญญาณให้ฟรี ซึ่งจากการศึกษาถ้าจะดำเนินการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกลโซนซีดังกล่าว ตามเงื่อนไขนี้ จะต้องใช้เงินเกือบ 20,000 ล้านบาทในการดำเนินการ

แนวทางที่ 2 ดำเนินการตามขอบเขตงาน และเงื่อนไขเช่นเดียวกับโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ทีโอทีดำเนินการขยายโครงข่ายและติดตั้งอุปกรณ์จุดบริการไวไฟ โดยมีระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการ 1 ปี ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 3,283.155 ล้านบาท

แนวทางที่ 3 กรณีดำเนินการตามขอบเขตงานและเงื่อนไขเช่นเดียวโครงการเน็ตประชารัฐที่กระทรวงดีอีมอบหมายให้ทีโอที ดำเนินการ แต่เพิ่มระยะเวลาการสนับสนุนการให้บริการเป็น 5 ปี จะใช้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 7,119.946 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น