คณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม กสทช. ยังไม่มีข้อสรุป หลังเรียกทีโอทีชี้แจงแผนธุรกิจ 2300 MHz ที่กำลังจะทำร่วมกับดีแทค แจงให้ทีโอทีเตรียมเอกสารด้านเทคนิคส่งสำนักงาน กสทช. อีกครั้งก่อนนำเข้าบอร์ด กสทช. กลางเดือนหน้า
พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ (27 พ.ย.) กสทช. ได้เชิญผู้บริหารบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดการทำธุรกิจคลื่น 2300 MHz ระหว่างทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
เนื่องจากทีโอทียังขาดข้อมูลด้านเทคนิคในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหากจะให้บริการด้วยการโรมมิ่งก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุญาตไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงได้กำชับให้ทีโอทีประสานกับสำนักงาน กสทช. ส่งข้อมูลการใช้งานความถี่ให้ทันภายในต้นเดือน ธ.ค. จากนั้น ช่วงกลางเดือน ธ.ค. จะต้องสรุปความเห็นจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯก่อนนำเข้าบอร์ด กสทช.
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังไม่ได้สรุปความเห็นว่า ทีโอที และดีแทค สามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่ กสทช. ก็ต้องพิจารณาไปในส่วนความรับผิดชอบของ กสทช. ไปก่อน ซึ่งหากลงมติผ่านทุกอย่าง ทางทีโอที และดีแทค ระบุว่าจะให้บริการได้ในเดือน ม.ค. 2561
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. ได้ข้อสรุปจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ในชั้นต้น ระบุว่ามีการใช้คลื่นความถี่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จึงให้ทีโอที และดีแทค ไตรเน็ต ไปปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาคลื่นให้ตรงกับกฎหมายที่ กสทช. กำหนดไว้ก่อน จากนั้น จะนำเข้าพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ทีโอที และดีแทค ไตรเน็ต จะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันในปีนี้ตามแผนงานเดิม
นอกจากนี้ จากการสอบถามนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ยืนยันว่า ทีโอทีได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้ส่งสัญญาดังกล่าวที่จะเซ็นร่วมกับดีแทค ไตรเน็ต ให้ กสทช. พิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา แต่หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไป อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของทีโอทีในปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปี 2561
เป้าหมายรายได้ปี 2560 ประเมินรายได้ทีโอที จะอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท ในกรณีที่ดีที่สุด น่าจะมีกำไรก่อนหักภาษีค่าเสื่อม (EBIDA) 5,000 ล้านบาท แต่ภาพรวมยังขาดทุนอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท เนื่องจากมีภาระค่าเสื่อมโครงข่ายและทรัพย์สินทั้งหมด แต่ในปี 2561 และปีต่อ ๆ ไป น่าจะพลิกมามีกำไรได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากการเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าเอกชนในการพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่คาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาท