xs
xsm
sm
md
lg

เสิร์ชเอนจินกูเกิลถูกโจมตี ข้อหาชี้นำสังคมผ่าน Snippet

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว เมื่อสื่อตะวันตกบางค่ายเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า เสิร์ชเอนจินจากกูเกิล (Google) เริ่มทำตัวเป็นผู้เลือกคำตอบ สำหรับใครก็ตามที่พิมพ์คำค้นเข้าไปในระบบ ซึ่งในจุดนี้ บางคำตอบอาจเอนเอียง หรือไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมก็เป็นได้

สื่อที่ออกมาชี้ถึงประเด็นดังกล่าว คือ วอลล์สตรีทเจอร์นัล ที่สำรวจพบว่ามีฟีเจอร์บนเสิร์ชเอนจินของกูเกิล (Google) ที่ถูกซื้อได้ในชื่อ Snippet ซึ่ง Snippet จะแสดงผลอยู่ด้านบนสุดของการค้นหานั่นเอง โดยจุดนี้ คือ สิ่งที่วอลล์สตรีทเจอร์นัล มองว่าอาจทำให้การแสดงผลคำตอบมีความเอนเอียง

พร้อมกันนั้น ได้มีการยกตัวอย่างการถามว่า การทำแท้งผิดกฎหมายหรือไม่ ผลลัพธ์จากระบบเสิร์ชของกูเกิล ปรากฏหัวข้อข่าวในแอฟริกาที่มีเนื้อหาว่า “It is not the place of government to legislate against woman's choices.”

มากไปกว่านั้น ในบางทีผู้ช่วยดิจิทัลของกูเกิล ก็อาจอ่านออกเสียงคำ ๆ นั้นดัง ๆ ให้ฟังด้วยเช่นกัน จึงนำไปสู่ความกังวลว่า ความสามารถนี้ของกูเกิลบวกกับความเชื่อถือของผู้บริโภค จะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ชี้นำสังคม

ซูซาน คาเดรชา (Susan Cadrecha) ตัวแทนจากกูเกิล ออกมาเผยว่า เป้าหมายของบริษัทไม่ต้องการจะคิดแทนผู้ใช้งาน แต่ทำเพื่อช่วยให้พวกเขาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว และสะดวกสบาย และกูเกิลมีการกระตุ้นให้ผู้ใช้งานทำความเข้าใจกับเนื้อหาทั้งหมดผ่านการคลิกเข้าไปอ่านในแหล่งที่มา

ส่วนการซื้อโฆษณา Snippet นั้น ก็เป็นเพียงการสะท้อนว่า มันมีคอนเทนต์ในลักษณะนี้อยู่บนเว็บด้วย ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด หรือไม่ถูกต้องได้

อย่างไรก็ตาม วอลล์สตรีทเจอร์นัล ระบุว่า พบการแสดงผลของฟีเจอร์ Snippet ปรากฏอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของการค้นหาบนเสิร์ชเอนจินกูเกิล ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ด้านสโตน เทมเพิล คอนซัลติ้ง (Stone Temple Consulting) บริษัทด้านดิจิทัลมาร์เกตติ้ง ได้ทำการมอนิเตอร์ผลการเสิร์ช 1.5 ล้านครั้งก็ออกมาให้ข้อมูลด้วยเช่นกัน โดยพบว่า กูเกิลมีการขยายการใช้งานฟีเจอร์ Snippet ไปยังแหล่งที่มาที่ไม่มีการรับรองตัวตน หรือขาดความน่าเชื่อถือ เช่น ข่าวกอซซิป ข่าวคลิกเบตต่าง ๆ แต่ข้อมูลเหล่านี้ถูกมองในแง่ดีว่า มันช่วยบาลานซ์กับเนื้อหาที่มีคุณภาพได้

การศึกษาของสโตน เทมเพิล ยังพบว่า เสิร์ชเอนจินของกูเกิลสามารถตอบคำถามได้ 74.3 เปอร์เซ็นต์จาก 5,000 คำถาม และในคำตอบเหล่านั้น มีระดับความถูกต้องอยู่ที่ 97.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหนือกว่าบริการของแอมะซอน (Amazon) แอปเปิล (Apple) และไมโครซอฟท์ (Microsoft)

ในแต่ละปี สโตน เทมเพิล ชี้ว่า กูเกิลถูกใช้ค้นหาสิ่งต่าง ๆ หลายล้านล้านครั้ง ซึ่งพบว่ามีการค้นหาผิดพลาด 2.6 เปอร์เซ็นต์ ตีเป็นตัวเลขประมาณหลายพันล้านครั้งที่ได้ผลการค้นหาที่ผิดพลาด ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่สมบูรณ์

แต่ในแง่ของการแข่งขัน กูเกิล ซึ่งถูกจัดเป็นหนึ่งใน 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ประกอบด้วย กูเกิล, แอปเปิล, ไมโครซอฟท์, เฟซบุ๊ก, และแอมะซอน ที่ต่างกำลังเร่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคผ่านบริการอัจฉริยะต่าง ๆ โดยทุกค่ายต่างหวังให้บริษัทตนเองสร้างผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานใช้เวลาด้วยมากที่สุด เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการขายโฆษณาและสินค้าต่าง ๆ นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น