xs
xsm
sm
md
lg

ไทยตั้งศูนย์นวัตกรรมไฟฟ้าพัฒนา IoT จากความร่วมมือกฟภ. - หัวเว่ย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หัวเว่ย เดินหน้าเซ็นเอ็มโอยู หน่วยงานภาครัฐ หวังช่วยยกระดับเทคโนโลยีรับไทยแลนด์ 4.0 ล่าสุดจับมือกฟภ. ตั้งศูนย์นวัตกรรมเกี่ยวกับไฟฟ้า แห่งที่ 2 ในโลก หวังช่วยกฟภ.วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายด้านระบบไฟฟ้า โดยเริ่มจาก IoT และคลาวด์ที่คาดว่าจะได้นำมาใช้ภายในปีหน้า

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ กล่าวถึงการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม กฟภ. ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้กับนโยบายขับเคลื่อนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4.0 (PEA 4.0)

'การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและหัวเว่ยจะนำองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายมาผสานเข้าด้วยกัน สร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมที่ครอบคลุม โดยคาดว่าจะจัดตั้งศูนย์ฯแล้วเสร็จภายในช่วงกลางปี 2561 และเริ่มนำนวัตกรรมออกมาใช้งานได้ภายในช่วงปลายปีหน้า'

สำหรับความร่วมมือดังกล่าวทาง กฟภ. จะจัดสรรพื้นที่ตั้งศูนย์นวัตกรรมกฟภ. (PEA Innovation Center) ในพื้นที่ประมาณ 60 - 70 ตารางเมตร ส่วนทางหัวเว่ยจะลงทุนในแง่ของอุปกรณ์ที่นำมาใช้งาน พร้อมบุคลากรที่เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนา

โดยในช่วงแรกจะทำการรวบรวมงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเครือข่ายการสื่อสารพลังงานไฟฟ้า เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ระบบคลาวด์ด้านพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบอื่นๆ มาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงข่าย และเพิ่มศักยภาพระบบโครงข่ายให้มีความอัจฉริยะในอนาคต

นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเน้นระบบสื่อสารเทคโนโลยี IP เพิ่มความเสถียรในการทำงานของเครือข่ายครอบคลุมโครงการนวัตกรรมต่างๆ ได้แก่ คลาวด์คอมพิวติ้งด้านพลังงานไฟฟ้า บิ๊กดาต้า อุปกรณ์ชาร์จพลังงานสำหรับยานยนต์ สมาร์ทโฮมและการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า

นายเฉียง หัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า ปัจจุบันหัวเว่ยมีการตั้งศูนย์นวัตกรรมฯ ที่เกี่ยวกับการไฟฟ้าไปแล้ว 1 แห่งคือในประเทศจีน และความร่วมมือกับ กฟภ. ในครั้งนี้ จะเป็นการตั้งศูนย์ฯแห่งที่ 2 ในโลก

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ย ยังไม่มีการเปิดเผยงบลงทุนในการตั้งศูนย์นวัตกรรมครั้งนี้ เพียงแต่ระบุว่า ถือเป็นการลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกับทางกฟภ. เพิ่มเติมทั้งลิขสิทธิ์ของงานวิจัยและพัฒนาที่ออกมา รวมถึงการนำไปใช้

'ในช่วงแรกสิ่งที่ต้องลงทุนมากที่สุดคือเรื่องของบุคลากรที่มีความรู้ โดยจะเริ่มจากการนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฟฟ้าเข้ามาให้ความรู้ และคิดค้นนวัตกรรมก่อนมากกว่า 10 คน และมีแผนที่จะขยายขอบเขตเพิ่มต่อไปในอนาคต'

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นโครงการต้นแบบที่หัวเว่ยร่วมกับกฟภ. เพื่อเป็นตัวอย่างและส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและขยายออกไปในระดับภูมิภาค และยืนยันว่าจะมุ่งมั่นทำงานร่วมกันเพื่อกลั่นกรองแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์แก่คนไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น