xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้แนวคิด “Taboola” เมื่อธุรกิจสื่อต้องปรับแนวทางสร้างรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ราน บัค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารรายได้ทั่วโลก บริษัท ทาบูล่า จำกัด
การขึ้นเป็นผู้นำในแพลตฟอร์มแสดงผลคอนเทนต์ เพื่อการโฆษณาของทาบูล่า (Taboola) ที่ปัจจุบันเป็นพันธมิตรร่วมกับสื่อกว่า 23,000 สำนักทั่วโลก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องหันมามองว่า รูปแบบการสร้างรายได้ของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

แน่นอนว่าการมาของโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊กกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ที่ทำให้รายได้ของผู้ผลิตคอนเทนต์เดิมเริ่มถูกกระจายไปให้แก่แพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น ที่สำคัญ เพื่อให้คอนเทนต์ได้รับความสนใจ ผู้ผลิตยังต้องจ่ายเงินให้แก่โซเชียลเน็ตเวิร์กดังกล่าว เพื่อให้คอนเทนต์ถูกพบเห็นมากขึ้น

ที่สำคัญ คือ นอกเหนือจากการเข้าถึงคอนเทนต์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กแล้ว ผู้ผลิตคอนเทนต์แทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนกลับมาเลย ไม่นับรวมกับประเด็นสำคัญ คือ เรื่องของการที่บริษัทเหล่านี้หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศไทย ทำให้เงินค่าโฆษณาออนไลน์ที่เกิดขึ้นหลายพันล้านบาท กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และสังคม

ราน บัค ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารรายได้ทั่วโลก บริษัท ทาบูล่า จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ตอนนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่หันมาทำธุรกิจออนไลน์ เริ่มเข้าใจถึงแนวทางในการสร้างรายได้มากขึ้น จากฐานของผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่แต่ละบุคคลก็จะมีความสนใจในเนื้อหา หรือเรื่องราวแตกต่างกัน

“สิ่งที่ทาบูล่าทำ คือ การนำข้อมูลของผู้บริโภคที่เข้าใช้งานเว็บไซต์มาวิเคราะห์ เพื่อแสดงผลโฆษณาที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่ผู้อ่านให้ความสนใจ และที่สำคัญ คือ เนื้อหาของโฆษณาที่แสดงผลทางผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถควบคุมได้ เพื่อให้คุณภาพของเนื้อหาในเว็บไซต์ไม่ได้รับผลกระทบ”


เปรียบเหมือนการที่สื่อหลักต้องสู้กับภัยคุกคามที่เกิดจากการมาของโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ดึงรายได้ของผู้ผลิตสื่อออกไป ดังนั้น การมีพันธมิตรอย่างทาบูล่าเข้ามา จะช่วยให้สื่อสามารถสร้างรายได้จากคอนเทนต์บนเว็บไซต์ โดยการนำพื้นที่ว่างบนเว็บไซต์มาให้ทางทาบูล่าบริหารจัดการ

จุดเด่นหลัก ๆ ของทาบูล่า คือ การเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแสดงผลคอนเทนต์ (Content Discovery Platform) ที่รองรับการแสดงผลคอนเทนต์หลายสิบภาษาทั่วโลก ที่มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรที่เป็นสื่อหลักจากทั่วโลกมากกว่า 23,000 สำนัก โดยสามารถสร้างรายได้แตะระดับ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากเริ่มให้บริการมาไม่ถึง 5 ปี

***สร้างรายได้ร่วมกับพันธมิตร

เมื่อสื่อหลักเริ่มเห็นช่องทางสร้างรายได้จากคอนเทนต์ในเว็บไซต์ จึงเห็นว่าเริ่มมีสื่อชั้นนำหลายสำนักเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับทางทาบูล่า โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่มีการตั้งสำนักงานของทาบูล่าขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย

โดยการทำงานของทาบูล่า จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ฝั่งที่ติดต่อกับทางผู้ผลิตคอนเทนต์ เจ้าของเว็บไซต์ สำนักข่าวต่าง ๆ ในการนำคอนเทนต์ที่เหมาะสมเข้าไปนำเสนอ ซึ่งแต่ละเว็บไซต์ก็จะมีแนวทางที่ต่างกัน เพื่อควบคุมคุณภาพของคอนเทนต์ที่เกิดขึ้น

อีกฝั่ง คือ การดีลกับเอเยนซีโฆษณา หรือแบรนด์ ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ที่เกิดจากการวิเคราะห์ผู้ใช้ของทางทาบูล่า ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพ และสร้างการรับรู้แบรนด์ได้ตรงกว่าการไปลงโฆษณาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ

“รูปแบบการสร้างรายได้ของทาบูล่า จะเกิดจากการคลิกอ่านไปรับชมคอนเทนต์ทั้งบทความ และวิดีโอ ที่ถูกนำเสนอบนหน้าเว็บไซต์ หลังจากนั้น ก็จะมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ผู้ผลิตคอนเทนต์”


***เบื้องหลัง คือ Machine Learning และ AI

ที่ผ่านมา ทาบูล่ามีการลงทุนในศูนย์วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแง่ของการลงทุนเกี่ยวกับการสร้างระบบวิเคราะห์ข้อมูล และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่จะส่งผลต่อการแสดงผลเนื้อหาหรือโฆษณาที่น่าสนใจกับกลุ่มเป้าหมาย

บัค ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในการนำเสนอเนื้อหาแก่ผู้บริโภคแต่ละรายจะถูกคำนวนจากชุดคำสั่งไม่ต่ำกว่า 110 ค่าตัวแปร จากกว่า 300 อัลกอริทึม เพื่อให้การแสดงคอนเทนต์เหล่านี้เข้าตรงถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ หรือสินค้าที่แท้จริง

แน่นอนว่า เมื่อมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเท่าใด ความแม่นยำของระบบก็จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จากฐานผู้ใช้งานของทาบูล่าทั่วโลก ทำให้ระบบของทาบูล่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโฆษณาผ่านคอนเทนต์ และยืนยันว่าจะมีการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ต่อไป

***รายได้ในภูมิภาคจ่ายภาษีให้ประเทศไทย

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจ คือ ราน บัค ถือเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจของทาบูล่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2014 และได้เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานเพื่อดูแลในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมองว่า ด้วยภูมิประเทศของไทยที่อยู่กึ่งกลางของภูมิภาค เหมาะที่จะใช้เดินทางเพื่อดูแลธุรกิจ

เมื่อมีการตั้งศูนย์กลางในประเทศไทย ก็จะทำให้เกิดรายได้จากการทำธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยทั้งหมด โดยยืนยันว่า รายได้ของทาบูล่าที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดจะถูกส่งเข้ามาที่ประเทศไทย และมีการชำระภาษีตามกฎหมายของประเทศไทย ต่างจากแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์เจ้าอื่นที่ปัจจุบันไม่มีการเสียภาษีที่เกิดจากโฆษณาออนไลน์ในไทย

“ตอนแรกที่เข้ามาตั้งสำนักงานทาบูล่าในไทย เกิดขึ้นจากความชื่นชอบที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย รู้สึกว่าคนไทยมีมิตรภาพที่ดี ประกอบกับค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ก่อนที่จะได้รับความร่วมมือจากทางบีโอไอที่เข้ามาช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย”

***เตรียมขยายทีมเพิ่มเท่าตัว

นอกจากเรื่องของการตั้งสำนักงานแล้ว สิ่งที่ทาบูล่า กำลังทำอยู่ในเวลานี้ คือ การขยายทีมงานเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาดูแลธุรกิจในภูมิภาคนี้ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายทีมงานเพิ่มเท่าตัว จากเดิมที่มีทีมงานดูแลรับผิดชอบในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจ ทีมดูแลเนื้อหาโฆษณาที่รับผิดชอบแต่ละประเทศหลัก ๆ ในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน เรื่องของการคัดเลือกบุคลากรก็เป็นสิ่งที่ทาบูล่าให้ความใส่ใจ และมองว่าเป็น 1 ใน 2 ทรัพยากรสำคัญของบริษัท นอกเหนือจากอัลกอริทึมที่ใช้ในการประมวลผลก็คือ ทีมงาน โดยทาบูล่า มองว่า ในการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมีการสื่อสารที่เข้าใจกัน

“ในการทำงานร่วมกันสิ่งสำคัญเลย คือ การปรับตัวรับวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ เพราะเมื่อเป็นบริษัทระดับชาติก็ต้องมีเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมเข้ามา ดังนั้น บุคลากรของทาบูล่า จึงมีความหลากหลาย และต้องมีแนวคิดที่ดีด้วย”

***อนาคตของแพลตฟอร์มแสดงผลคอนเทนต์อยู่ในทุกสิ่ง

สำหรับเป้าหมายในระยะเวลา 3-5 ปีข้างหน้าของทาบูล่า คือ การขึ้นเป็นผู้นำในแง่ของการให้บริการ Content Discovery Platform สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3-5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จากปัจจุบันที่รายได้แตะ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว แม้ว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากสื่อชั้นนำหลาย ๆ สำนักแล้วก็ตาม แต่ทาบูล่ายังมองถึงอนาคตที่ไกลกว่านั้น

“ในอนาคต รูปแบบการแสดงผลคอนเทนต์จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือหน้าเว็บไซต์บนคอมพิวเตอร์ แต่จะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเดินทางในรถยนต์ หรือแม้แต่จากตู้เสื้อผ้าที่จะคอยบอกสภาพอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่จะแสดงผลสูตรอาหารระหว่างเตรียมทำกับข้าว”

ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของทาบูล่าก็จะมุ่งต่อไปในแนวดังกล่าว ซึ่งการที่จะทำให้ระบบสามารถเรียนรู้ได้ และตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคก็ต้องใช้ความร่วมมือกับสำนักพิมพ์ หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ เพื่อให้เติบโตต่อไปด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น