xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กสทช. ไฟเขียวประมูล คลื่น 900/1800 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
บอร์ด กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อใช้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (8 พ.ย.) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และย่าน 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ของสำนักงาน กสทช. ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม และให้นำร่างประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ของกรรมการ กสทช. นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยมีเงื่อนไข ถ้ามีการออกประกาศสรรหา กสทช. ออกมาให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามบทเฉพาะกาล มีอำนาจในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งตามแผน คาดว่าน่าจะประกาศหลักเกณฑ์การประมูลได้ในเดือน ม.ค. 2561 และจะเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561 ก่อนจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ (1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 76 ล้านบาท

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย ก็จะเปิดให้มีการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง

การชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด ดังนี้

- งวดที่ 1 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล

- งวดที่ 2 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

- งวดที่ 3 ชำระ 2,010 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

- งวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

ทั้งนี้ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 80% ภายใน 8 ปี และต้องมีการจัดเก็บข้อมูล และลงทะเบียนผู้ใช้บริการ รวมถึงดูแลคุณภาพสัญญาณให้ได้มาตรฐานตามที่ กสทช. กำหนด

กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ

ฐากร กล่าวว่า ในส่วนของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ 15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่กำหนดตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 31/2558 ที่กำหนดให้นำราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี 2558 มาคำนวณเป็นพื้นฐานที่เป็นอัตราส่วนเดียวกัน ในส่วนของการเคาะราคา จะเพิ่มขึ้นรอบละ 0.2% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 75 ล้านบาท

กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 3 ราย จะประมูล 3 ชุดคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 2-3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลเท่ากับ N-1 ชุด โดย N = ผู้เข้าร่วมการประมูล นั่นคือ ถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 3 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 2 ชุด และถ้ามีผู้เข้าร่วมการประมูล 2 ราย จะนำคลื่นความถี่ออกมาประมูล 1 ชุด ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูล 1 ราย จะขยายเวลาเปิดรับผู้เข้าร่วมการประมูลไปอีก 30 วัน ถ้ายังไม่มีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่ม ให้เปิดการประมูล โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเคาะเพิ่มราคา 1 ครั้ง

สำหรับการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด ดังนี้

- งวดที่ 1 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 50% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล

- งวดที่ 2 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละราย พร้อมหนังสือค้ำประกันการชำระค่าเงินประมูลฯ ในส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

- งวดที่ 3 ชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 25% ของราคาการประมูลสูงสุดของผู้ชนะการประมูลแต่ละรายภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต

ทั้งนี้ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กสทช. ได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมประชากรมากกว่า 40% ภายใน 4 ปี และต้องครอบคลุมประชากรมากกว่า 50% ภายใน 8 ปี ในส่วนของอัตราค่าบริการ 4G จะต้องมีอัตราค่าบริการถูกกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้น ผู้รับใบอนุญาตจะต้องจัดให้มีแพกเกจราคาประหยัดสำหรับผู้พิการ และจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยให้ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ กรณีผู้ชนะการประมูลไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนรับอนุญาต สำนักงาน กสทช. จะริบหลักประกันการประมูล ซึ่งคิดเป็นเงิน 5% ของราคาขั้นต่ำ พร้อมทั้งคิดค่าปรับในอัตรา 15% ของราคาขั้นต่ำ.
กำลังโหลดความคิดเห็น