ถ้าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในธุรกิจการเงินชื่อของ 'สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท' ต้องเป็นชื่อแรกๆที่นึกถึง ถ้าจะพูดกันถึงสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ด้วยบทบาทการทำงานในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในการผลักดัน เอ็มเปย์ (mPay) กระเป๋าเงินออนไลน์ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อย่าง AIS
ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจการเงิน รวมถึงเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาในการวางยุทธศาสตร์ด้านเพย์เมนต์ และฟินเทค ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่รับผิดชอบโดยตรงกับโครงการที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสดในไทยอย่าง 'พร้อมเพย์' (Promptpay)
สุปรีชา เริ่มฉายภาพให้เห็นการมาของสังคมไร้เงินสดในไทย ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป จากการมาของโลกดิจิตอล ทำให้แบรนด์ หรือสินค้าต่างๆ ต้องมีการพัฒนาประสบการณ์ให้แก่ลูกค้า ประกอบกับการที่กลายเป็นสังคมเปิดมากขึ้น ในการรับฟังข้อมูลจากคนรอบข้าง ที่แชร์ประสบการณ์ผ่านหลายๆช่องทาง
ขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นไปในแนวทางที่กูรูการตลาดอย่าง ฟิลิป ค็อตเลอร์ คาดการณ์ไว้ ในยุคของการเป็นมาร์เก็ตติ้ง 4.0 ที่จะทำให้รูปแบบการทำตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการผูกขาด สินค้าจะทำได้ยากขึ้น เมื่อผู้ผลิตรายเล็กมีนวัตกรรมมาช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้างได้
'การมาของดิจิตอล จะทำให้หลายๆประเทศเข้าสู่ยุคที่ใครก็สามารถทำอะไรก็ได้ ผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างเดิมการกระจายสินค้าจะเน้นที่การใช้ช่องทางออฟไลน์ เมื่อเปลี่ยนเป็นออนไลน์การกระจายสินค้าสู่ทั่วโลกก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น ส่งผลให้นักการตลาดต้องทำงานในเชิงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการทำงานในเชิงลึก'
สิ่งที่จะได้เห็นคือการร่วมมือกันระหว่างหลายอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในยุคดิจิตอล เพราะผู้บริโภคเริ่มที่จะไม่เชื่อการสื่อสารจากแบรนด์ หรือกลุ่มผู้นำทางความคิด (Influrencer) แต่เลือกที่จะศึกษาจากแหล่งความรู้อื่นๆมากขึ้น
ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในการเลือกซื้อสินค้า แต่รวมถึงช่องทางในการชำระเงินค่าสินค้า และบริการด้วย อย่างการมาของรูปแบบการชำระเงินผ่าน QR Code ที่ไทยจะเป็นที่แรกในโลกที่มี QR Code มาตรฐานและทุกแบรนด์สามารถใช้งานร่วมกันได้
'ผู้บริโภคในไทยอยู่ในช่วงที่รู้จัก QR Code ผ่านการใช้งาน LINE มาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้เมื่อ QR Code ถูกนำมาใช้ในการชำระค่าบริการ จึงเกิดการยอมรับได้ง่ายกว่า และเชื่อว่าถ้าไทยนำ QR Code เข้ามาเร็วกว่านี้ก็จะไม่เกิด'
***มุมมองต่อดิจิตอลเพย์เมนต์
รูปแบบของการทำดิจิตอลเพย์เมนต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นเรื่องของการคอนเวอร์เจนซ์ในทุกภาคส่วน เริ่มจาก 'แหล่งเงิน' ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีธนาคาร 'ระบบรักษาความปลอดภัย' ทั้งการใช้รหัสยืนยันตัวตน (One Time Password) ลายนิ้วมือ หรือสแกนใบหน้าเข้ามารวมกัน
ต่อมาคือ 'ช่องทางในการใช้งาน' ที่แต่เดิมจะได้เห็นเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามร้านค้าต่างๆ ก็จะเริ่มมีช่องทางอื่นๆเพิ่มเข้ามาอย่างการนำ QR Code มาใช้เป็นช่องทางในการรับชำระสินค้า จนสุดท้ายทำให้เกิด 'Omni Channel' ในการชำระเงินที่แยกไม่ออกระหว่างออนไลน์ - ออฟไลน์
'ที่สำคัญคือระบบการชำระเงินจะถูกพัฒนาขึ้นอย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะทุกรูปแบบจะถูกประยุกต์มาผสมผสานในการใช้งาน เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้มากที่สุด ดังนั้นการที่จะเห็นร้านกาแฟ หรือร้านข้าวแกงวางป้าย QR Code เพื่อรับชำระค่าบริการ หรือเห็นร้านค้าต่างๆเพิ่มอุปกรณ์รับชำระเงินมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป'
***เงินสดมีต้นทุน
จากผลสำรวจของ มาสเตอร์การ์ด (Master Card) พบว่าปัจจุบันการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไทยกว่า 70% จะใช้เงินสด และอีกราว 30% จะมาจากการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต และการชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์เดียวกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ราว 28% และจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
'ในมุมของธุรกิจการเงินที่หลายประเทศต่างผลักดันให้เกิดการใช้งานดิจิตอลเพย์เมนต์ เพราะในการใช้เงินสดจะมีต้นทุนเสมอ ทั้งในมุมของผู้ใช้ ที่จะมีค่าใช้จ่ายจากการเดินทางไปฝากถอนเงินที่ธนาคาร รวมถึงเหตุสุดวิสัยอย่างการทอนเงินผิด หรือเงินหาย เพียงแต่ทุกคนไม่ได้มองถึงต้นทุนดังกล่าว'
ส่วนในมุมของธนาคาร ก็จะมีต้นทุนทั้งการหาสถานที่ตั้งตู้กดเงินสด (ATM) ค่าใช้จ่ายในการขนเงิน เพื่อไปเติมตามตู้กดเงินต่างๆทั่วประเทศ ที่สำคัญคือที่ผ่านมาธนาคารไม่เคยมีการคิดค่าบริการถอนเงินสด ทั้งที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการ แต่เลือกไปเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ระบบดิจิตอลที่มีต้นทุนต่ำกว่า
ขณะเดียวกันยังเทียบให้เห็นถึงต้นทุนของเงินสด เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ใช้จ่ายออกไป ในยุโรป จะพบค่าเฉลี่ยต้นทุนในการใช้เงินสดจะอยู่ที่ 2.3% ในขณะที่การใช้งานเครดิตการ์ดอยู่ที่ 1.7% เท่านั้น โดยผู้ที่แบกรับต้นทุนดังกล่าวคือธนาคาร และร้านค้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ที่เหลือก็จะเฉลี่ยกันไปในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
***เงินสดทำให้เกิดการ 'ทุจริต'
อีกมุมมองที่น่าสนใจต่อการใช้เงินสดคือ สังคมที่ใช้เงินสดคือสังคมที่เกิดการทุจริตได้ง่าย เพราะถ้าทุกการทำธุรกรรมขึ้นมาอยู่บนโลกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเส้นทางการเงินจะสามารถทำได้ง่ายขึ้น
'สังเกตได้ว่าถ้ามีการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น แทบทั้งหมดจะเป็นการชำระด้วยเงินสด ดังนั้นถ้าจะทำให้สังคมใสสะอาด ยิ่งลดปริมาณการใช้เงินสดมากเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้เป็นสังคมที่ปลอดการคอร์รัปชั่นมากขึ้น เพราะทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้'
***ไทยพร้อมแค่ไหนในการใช้ 'โมบายแบงกิ้ง'
หนึ่งในภาพจำที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคในประเทศไทยคือมองว่า ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ล้าหลัก เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หรือยุโรป แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ประเทศไทย ถือเป็นผู้นำทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากการลงทุนต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย
เช่นเดียวกับธนาคาร ที่มีการปรับตัวรับดิจิตอลกันมาสักพักแล้ว ทั้งการตั้งหน่วยงานของแบงค์เพื่อมาดูแลฟินเทคโดยเฉพาะ หรือการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัปที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค จนปัจจุบันธนาคารในประเทศไทยถือเป็นผู้นำในหลายๆนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับประเทศที่เป็นผู้นำในแง่ของการเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสวีเดน ประเทศไทยก็ยังมีในส่วนที่ตามอยู่อย่างจำนวนประชากรที่มีบัญชีธนาคาร ในสวีเดนประชาทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่ในไทยจะมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 75% เท่านั้น
อีกจุดหนึ่งก็คือจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเข้าสู่ยุคของ 3G และ 4G ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนเทียบกับฟีเจอร์โฟนยังอยู่ที่ 67% แต่ในสวีเดน สัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนสูงถึง 96%
แต่ก็ใช่ว่าประเทศไทยจะตามสวีเดนในทุกเรื่อง เพราะถ้ามองในแง่ของจำนวนผู้ใช้งานเลขหมายโทรศัพท์มือถือในไทยสูงถึง 139% แต่ในสวีเดนจะอยู่ที่ราว 125% เท่านั้น อีกส่วนที่ใกล้เคียงกันคือเรื่องของพื้นที่ในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่จะครอบคลุมประมาณ 98% ของประชากรเช่นเดียวกัน และถือเป็นความครอบคลุมที่ดีกว่าหลายๆประเทศในแถบยุโรปแล้ว
'เมื่อเปรียบเทียบจากปัจจัยทั้ง 4 เรื่อง ถ้ามองสวีเดนเป็นเป้าหมายที่ 100% ตอนนี้ประเทศไทยก็จะอยู่ที่ราว 40-50% เท่านั้น แต่ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถ้าทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน จากการวางความพร้อมพื้นฐานของระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย'
***เจาะยุทธศาสตร์ National e-Payment
สุปรีชา เริ่มเล่าให้ฟังต่อเกี่ยวกับ แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ว่า จริงๆแล้วจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การทำระบบชำระเงินแบบ AnyID (พร้อมเพย์) ที่ปัจจุบันไทยทำเสร็จแล้ว และเป็นต้นแบบให้อีกหลายประเทศนำไปทำตาม 2.การเพิ่มปริมาณการใช้บัตรเครดิต เพื่อช่วยลดต้นทุนของธนาคาร
3.การจัดทำระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถจัดทำระบบภาษีดิจิตอลได้ง่ายขึ้น 4.การจัดทำระบบอีเพย์เมนต์ของภาครัฐ ที่ภาครัฐต้องนำร่องให้เอกชนเห็น (ต้องมีการแก้กฎหมาย) และปรับค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม
เมื่อแผนทุกอย่างดำเนินการไปควบคู่กันแล้ว สิ่งสุดท้ายที่ต้องทำคืการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการให้ประโยชน์แก่ธนาคารให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีที่หันมาใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ส่วนผู้ให้บริการบัตรเครดิตก็สามารถทำแคมเปญใช้บัตรเครดิตลุ้นโชคมาช่วยกระตุ้นได้
'เป้าหมายจริงๆของยุทธศาสตร์นี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงิน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และบูรณาการสวัสดิการ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และส่งเสริมอีเพย์เมนต์ในทุกภาคส่วน'
***ย้อนดูแนวคิดในการทำ 'พร้อมเพย์'
แนวคิดแรกในการทำระบบ AnyID หรือ พร้อมเพย์ในปัจจุบัน เกิดจากความต้องการระบบชำระเงินที่รวดเร็ว ซึ่งเมื่อเป็นการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลักคือ ง่าย ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่าย
ความง่ายก็คือ ต้องเป็นตัวเลขหรือรหัสอะไรก็แล้วแต่ที่จำได้ไม่ว่าจะเป็นเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ รวมถึงในอนาคตมีแผนจะพัฒนาไปถึงการนำอีเมล หรือบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่ซ้ำกับใครมาใช้งานได้ และที่สำคัญคือต้องใช้งานผ่านช่องทางที่คุ้นเคยอยู่แล้ว และพร้อมที่จะรับกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง QRcode ก็สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้
ถัดมาเรื่องของความปลอดภัยระบบพร้อมเพย์ มีการเก็บข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ดาต้าเบสกลาง ที่จะระบุว่ามีการโอนเงินไปที่ธนาคาร ส่วนธนาคารจะเก็บรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเกิดการดักจับข้อมูล สิ่งที่ได้ก็จะเป็นแค่ข้อมูลการโอนเงินแต่จะไม่รู้ว่าโอนจากที่ใดไปที่ใด เพราะต้องเป็นธนาคารเท่านั้นถึงจะทราบข้อมูลดังกล่าว
สุดท้ายคือเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากในช่วงแรกใช้ในการรับเงินเป็นหลัก จึงสามารถคิดค่าธรรมเนียมได้ถูกกว่า ไม่มีข้อจำกัดในแง่ของการโอนข้ามธนาคาร หรือข้ามเขต ซึ่งถ้าใช้การโอนผ่านบัญชีปกติจะมีค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น
***คนลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วเกือบ 30 ล้านไอดี
จากข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมา พบว่า จำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนใช้งานระบบพร้อมเพย์ในปัจจุบัน ในส่วนของบุคคลธรรมดาจะอยู่ที่ราว 27.8 ล้านไอดี โดยเป็นการลงทะเบียนโดยใช้เลขบัตรประชาชน 21.3 ล้านบัญชี และเบอร์มือถือ 6.5 ล้านบัญชี
แต่คาดว่าปัจจุบันตัวเลขดังกล่าวจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 30 ล้านไอดีแล้ว เนื่องจากผู้ใช้งานเห็นประโยชน์ในกรณีที่สามารถรับเงินโอนได้ โดยผู้โอนเสียค่าธรรมเนียมถูกกว่าการโอนผ่านระบบบัญชีธนาคาร ซึ่งแนวโน้มการลงทะเบียนที่เพิ่มขึ้นจะอยู่กับหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่มีการเติบโตแบบต่อเนื่อง
ในขณะที่ยอดการโอนเงินในช่วง 1-3 เดือนแรกที่เปิดให้บริการจะอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 30-40% ในแต่ละเดือน โดยในช่วงที่มีการใช้งานมากที่สุดจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7-8 แสนรายการต่อวัน จากในช่วงปกติที่อยู่ระดับหลายแสนรายการ
อย่างไรก็ตาม สุปรีชา เชื่อว่ายอดการทำธุรกรรมเหล่านี้จะพุ่งสูงขึ้นอีก เมื่อเหล่าธนาคารเริ่มหันมาโปรโมทการใช้งานระบบ QR Code ในการรับโอนเงิน เพราะปัจจุบันเริ่มมีร้านอาหาร ร้านค้า เริ่มนำแนวทางดังกล่าวมาใช้งานแล้ว ดังนั้นที่จะเห็นต่อไปก็คือการพัฒนารูปแบบในการใช้บริการ จากนวัตกรรมต่างๆต่อไป
***เพิ่มปริมาณการใช้บัตร
อีกส่วนที่ธปท. อยู่ในแผนการเดินหน้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดคือ การเพิ่มปริมาณการใช้งานบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ในระบบ เพราะปัจจุบันคนไทยมีบัตรเครดิตพร้อมใช้งานถึง 23 ล้านใบ บัตรเดบิตกว่า 50 ล้านใบ แต่มีปริมาณการใช้งานจริงไม่มากเท่าที่ควร
ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นต่อจากนี้คือ ธนาคาร จะเร่งเพิ่มจุดรับชำระเงินผ่านเครื่องรูดบัตรเครดิต (EDC) จากกว่า 5 แสนจุดในปี 2016 เป็น 1 ล้านในปีนี้ และจะเป็น 2 ล้านจุดในปี 2020 ถัดมาคือการที่ผู้ให้บริการทางการเงินอย่าง Visa และ Master Card จะปรับลดค่าธรรมเนียมในการรับชำระผ่านบัตรเครดิตของร้านค้า
'การปรับลดค่าธรรมเนียมในการรูดบัตรแต่ละครั้ง ถ้ามองในระยะยาวผู้ให้บริการบัตรเครดิตก็จะได้ในแง่ของปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ารายได้จากการทำธุรกรรมต่อครั้งจะลดลง ซึ่งถ้าสุดท้ายแล้วมีการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากก็จะมาชดเชยค่าธรรมเนียมที่หักลดลงมาได้'
***QR Code มาตรฐาน ที่แรกในโลก
แม้ว่าจะระบบ QR Code จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่รู้ไหมว่า ประเทศไทย กลายเป็นประเทศแรกที่มีการนำระบบ QR Code มาตรฐาน มาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่สามารถใช้ QR Code เดียว แต่สามารถใช้งานได้ทุกธนาคาร ทุกบัตรเครดิต
'ด้วยแรงผลักดันของธปท. และธนาคารที่นำร่องสู่ดิจิตอล จะทำให้การใช้งาน QR Code มาตรฐานแพร่หลายสู่การใช้งานในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค และร้านค้า ที่ได้ช่องทางในการชำระค่าสินค้า และบริการที่รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น'
สุดท้าย เมื่อเห็นถึงแนวโน้มของการใช้งานทั้งระบบพร้อมเพย์ การนำ QR Code มาประยุกต์ใช้ในการชำระเงิน รวมถึงการผลักดันการใช้บัตรเครดิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าเงินสด ก็จะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมไร้เงินสดได้ง่ายขึ้น