ดีป้า ควานงบ 120 ล้านบาท ปั้นกองทุนหนุน ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ และดิจิทัลสตาร์ทอัป มีเงินทุนสร้างธุรกิจของตนเอง คาดปีแรกสนับสนุนผู้ประกอบการได้ 300 ราย
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้ามีนโยบายสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ และดิจิทัลสตาร์ทอัป ในรูปแบบการให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืน โดยในระยะสั้น 1 ปี ดีป้าจะสนับสนุนผ่าน 4 กองทุน ภายใต้วงเงิน 85 ล้านบาท โดยทุกกองทุนผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเองก่อน จากนั้น ค่อยนำมาเบิกทีหลัง จะไม่มีการให้เงินทั้งหมดไปก่อน เหมือนอย่างที่ผ่านมา ที่ไม่รู้แน่ชัดว่า เงินที่นำไปใช้สร้างประโยชน์จริงหรือไม่
สำหรับกองทุนดังกล่าว ประกอบด้วย กองทุน อินเตอร์เนชั่นแนลไลเซชั่น จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณเดิมของปี 2560 ของดีป้า ที่ยังใช้ไม่หมด เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ที่เดินทางไปเจรจาจับคู่ทางธุรกิจในต่างประเทศ โดยจะสนับสนุนเพียง 60% ให้รายละไม่เกิน 2 แสนบาท คาดว่าจะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ประมาณ 100 ราย
ส่วนอีก 3 กองทุน ดีป้า ได้งบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี จำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบคงค้างของกระทรวงดีอี ปีงบประมาณ 2560 ในลักษณะเบิกจ่ายแทนกัน โดยดีป้าจะนำงบประมาณดังกล่าวมาจัดสรรลง 3 กองทุน ภายใต้งบประมาณ 65 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการประมาณ 200 ราย ประกอบด้วย กองทุนเพื่อการสนับสนุนเงินสำหรับผู้ประกอบการในการเสนอแผนธุรกิจเพื่อจะเป็นผู้ประกอบการ โดยจะสนับสนุนเงินโครงการละ 50,000 บาท วงเงินทั้งสิ้น 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนสนับสนุนผู้ประกอบการในการตั้งบริษัท โดยดีป้าจะสนับสนุนเงินให้ 70% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพในการจับคู่ทางธุรกิจกับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นบริษัทที่มีรัฐบาลสนับสนุน โดยสนับสนุนให้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 20 ล้านบาท และกองทุนสนับสนุนให้เกิดจ่าฝูงดิจิทัลสตาร์ทอัป โดยดีป้าจะช่วยหากลุ่มผู้ลงทุนให้พร้อม ทั้งสนับสนุนเงินให้จ่าฝูงกลุ่มเป้าหมายที่ถูกคัดเลือก 5 ราย รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ภายใต้วงเงิน 25 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 35 ล้านบาท ดีป้าจะนำมาทำโครงการดีป้า ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยจะสนับสนุนกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยว อาหาร และเอสเอ็มอี ที่ต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันจากผู้ประกอบการดิจิทัลทั้งซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ได้รับการรับรองจากดีป้า โดยดีป้าจะนำงบประมาณมาสนับสนุนออกเงินค่าที่ปรึกษาในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันให้กับกลุ่มธุรกิจดังกล่าว
นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย มีการเติบโตในทิศทางเพิ่มสูงขึ้น โดยอุตสาหกรรมเกม และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยังอยู่ในกระแสความนิยม โดยในปี 2559 มีการนำเข้าและสร้างอนิเมชัน และเกม จำนวนมาก ทำให้มูลค่ารวมของปี 2559 อยู่ที่ 21,981 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าของอุตสาหกรรมอนิเมชัน 3,965 ล้านบาท อุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ 1,687 ล้านบาท อุตสาหกรรมเกม 16,328 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมและดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยในปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 24,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอนิเมชัน คาดว่าจะเติบโต 1.8% สาขาอุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ คาดว่าจะเติบโต 9.6% สาขาเกม คาดว่าจะเติบโต 12.2% ขณะที่ปี 2561 คาดว่าดิจิทัลคอนเทนต์จะมีมูลค่า 26,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเกมจะขยายตัวสูงสุด 12% อนิเมชัน 10% และอุตสาหกรรมคาแร็กเตอร์ 8.1%