ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย กูเกิล (Google) ยังไม่เกิด เครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) ยังไม่ตั้งไข่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านดิจิทัลและการสื่อสารเพราะทรงศึกษามุ่งมั่นจริงจัง และทรงนำเทคโนโลยีสาขาวิชาเหล่านั้นมาทรงประยุกต์ใช้เพื่อความร่มเย็นผาสุกของพสกนิกร
1. สมัยที่เครื่องรับวิทยุยังใช้แร่
พระราชอัจฉริยภาพด้านการสื่อสารปรากฎชัดตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาวิชาไฟฟ้าและวิทยุสื่อสาร สิ่งที่พระองค์ทรงประดิษฐ์และทดลองใช้คือเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง ซึ่งในสมัยนั้นเครื่องรับวิทยุยังใช้แร่อยู่ ดังความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เล่าให้ฟังว่า
'เครื่องวิทยุที่บ้านไม่ทรงมีสิทธิที่จะแตะต้อง มีไว้ฟังข่าวเท่านั้น แต่เมื่ออายุสัก 10 ปี ได้ ก็มีโอกาสสร้างของตนเองขึ้นมาได้ ที่โรงเรียนมีการขายสลากในงานของโรงเรียนงานหนึ่ง ท่านก็ได้สลากเป็น คอยล์ (Coil) ท่านก็ศึกษาถามผู้รู้ว่า จะต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นวิทยุออกมาได้ เขาก็บอกให้ท่านซื้อแร่ดำ (Galena หรือ galenite หรือ Pbs) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเครื่อง คือที่รับฟังไฟฟ้าในอากาศที่เป็นคลื่นวิทยุ และหูฟังอีกคู่หนึ่ง ทั้งหมดราคาประมาณ 10 แฟรงค์ มาต่อกันอย่างไรไม่ทราบ ทรงสามารถฟังวิทยุที่เขาส่งมาได้ ยังแบ่งกันฟังคนละหูกับพระเชษฐา ต่อไปพระเชษฐาก็ซื้อของพระองค์เอง'
'เมื่อเสด็จกลับจากเมืองไทยปี พ.ศ. 2480 มีบริษัทถวายเครื่องวิทยุ Phillips เครื่องหนึ่งแด่รัชการที่ 8 ทรงนำกลับมาที่โลซานน์ด้วย ตอนแรกๆก็ทรงฟังอยู่ด้วยกันเพราะบรรทมห้องเดียวกัน แต่ต่อมารัชการที่ 8 ทรงย้ายห้องและทรงทิ้งวิทยุให้พระอนุชา เลยทรงต่อลำโพงไปเพื่อส่งรายการวิทยุไปถวายพระเชษฐา วันหนึ่งข้าพเจ้าอยู่ในห้องของข้าพเจ้า เล่นแผ่นเสียงบนเครื่องไฟฟ้าซึ่งต้องนำเสียงไปออกลำโพงของวิทยุ พระอนุชาพอดีเปิดวิทยุของท่านและก็คิดว่าสถานีอะไรกันเล่นแผ่นเสียงของพี่เรา ตั้งแต่นั้นมาก็ทรงเข้าพระทัยว่าระบบไฟฟ้านั้นมันติดต่อกันได้หมด'
พระองค์ทรงเริ่มปฏิบัติการวิทยุสื่อสาร โดยทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุ VHF/FM FM-5 เพื่อติดต่อกับข่ายวิทยุตำรวจแห่งชาติ 'ปทุมวัน' โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน 'กส.9'และศูนย์รวมข่าวตำรวจนครบาล ข่าย 'ผ่านฟ้า' โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน 'น.9' พระองค์ทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุในการเฝ้าฟังและติดต่อกับเครือข่าย 'ปทุมวัน' และ 'ผ่านฟ้า' เป็นครั้งคราว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจอื่น โดยทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่ติดต่อกับพระองค์ท่านไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ พระองค์ทรงจำสัญญาณเรียกขาน ประมวลคำย่อ(โค้ด'ว') ได้อย่างแม่นยำและทรงใช้ได้อย่างถูกต้อง
พระองค์สนใจตรวจซ่อมและปรับแต่งเครื่องรับ-ส่งวิทยุสื่อสารที่ทรงใช้งานอยู่ด้วยพระองค์เอง เมื่อเครื่องรับ-ส่งวิทยุ FM-5 ที่ทรงใช้งานอยู่ในขณะนั้นเกิดขัดข้อง ทรงใช้เครื่องมือช่างต่างๆซ่อมและปรับแต่งในเวลากลางคืนหลังจากเสร็จสิ้นพระราชภารกิจประจำวันแล้ว โดยการปรับแต่งนั้นปรากฏผลบ่อยครั้งว่า เครื่องรับ-ส่งวิทยุที่ได้ทรงปรับแต่งแล้วนั้นมีขีดความสามารถเหนือกว่าที่ระบุไว้ในคู่มือมาก กล่าวคือ ทรงปรับแต่งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ FM-5ให้มีกำลังส่งสูงถึง 7 วัตต์ และภาคเครื่องรับมีความไวสูงถึง 0.35 ไมโครโวลท์ ขณะที่หนังสือคู่มือระบุไว้ว่ามีกำลังส่ง 5 วัตต์ และมีความไวทางภาครับ 0.5 ไมโครโวลท์ จึงนับว่าดีเยี่ยมเป็นประวัติศาสตร์สำหรับเครื่องรับ-ส่งวิทยุในยุคนั้น
2. ระบบฐานข้อมูลที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงสนทนาเรื่อง “พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับเทคโนโลยีสารสนเทศ” วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2538 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ว่า
“ท่านเป็นคนอย่างที่สมัยก่อนเรียกว่า เป็นคนทำ filing ละเอียดลออ ท่านมีระเบียบ มีวินัย มาถึงลูกๆ นี่แย่ สมัยก่อนตอนเล็กๆ ทำเลขตั้งแถวบวกลบต้องตรงกันเป๊ะ ท่องสูตรคูณ ท่านก็ไล่จากข้างล่างไปบน กลับถอยหลังช่วงตรงกลาง สมัยเด็กๆ แค่นี้ก็หนัก แล้วนับเลขที่ต้องตรงเป๊ะเขียนก็ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัว ท่านเข้มงวด”
“อย่างที่คุณแก้ว คุณขวัญ ทำเรื่อง filing รูปถ่ายต่างๆ นั้น ท่านก็เป็นคนสอน ตอนหลังนี่ท่านก็บ่นว่า มีคนมาหยิบโน่นหยิบนี่ไปจนเละ ของที่หยิบไม่ได้อย่างรูปถ่าย ต้องเอามาเรียงเป็นเบอร์ จัดแฟ้ม จัดอัลบั้ม ท่านสอนทั้งนั้น สอนให้คุณแก้ว คุณขวัญทำ เขียน film เบอร์อะไร การเรียง ทำอย่างไร สมัยนี้มันกลายเป็นเรื่องของ database ไป”
“สมัยก่อนเป็นเรื่องของ filing ไม่ว่าเรื่องอะไร เก็บข้าวเก็บของ ท่านทำเป็นระบบ อันนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นเรื่องของฐานข้อมูล อย่างสมัย telex เป็นปรุๆ เป็นม้วนๆ ท่านก็เก็บวางไว้เป็นม้วนๆ ให้เรียบร้อยกระดาษต่างๆ ก็จัดเรียงของท่านไว้เป็นแฟ้มๆ อย่างเป็นระเบียบ”
3. ไม่ต้อง digital mapping
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถา “เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ” เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2538 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ชัดเจนว่า ก่อนที่ทรงเริ่มศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชาที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ พระวิสัยทัศน์ และพระวิริยะ
“หรืออย่างเรื่องการทำแผนที่ ก็ไม่ได้ทรงทำเป็น digital mapping อย่างที่เดี๋ยวนี้นิยมทำกัน เท่าที่ทราบทรงใช้วิธีเสด็จไปที่สถานที่นั้นๆ ได้สัมผัส ได้เห็น ก็บันทึกไว้ในความทรงจำของท่าน”
“เวลาทรงขับรถไปถึงสะพาน มองดูลำธาร ทรงชะโงกดู เห็นน้ำไหลจากทางไหนไปทางไหน ก็ทราบความสูงต่ำของพื้นที่ ก็ทรงเอาข้อมูลมาบันทึก สร้างในสมอง แบบที่เราสร้างในคอมพิวเตอร์เป็น digital terrain model หรือเป็นภาพแผนที่ออกมา แล้วทรงบอก model ที่อยู่ในสมองนี้ให้คนอื่นทำในรายละเอียดต่อไปได้”
4. ฝีพระหัถต์ล้วน ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เหตุที่หม่อมหลวงอัศนี เลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บ และพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้ และการใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสําหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย
ตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วน พระองค์ทางดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลง และเนื้อร้อง
พระองค์ทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าในหนังสือ “ดุจดวงตะวัน” (ปี 2538) ว่า
“เวลานี้ก็ทรงอยู่ทุกวันเลย อย่างเขียนโน้ตดนตรีนี่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีนะ เขียนขึ้นมาเอง ใช้โปรแกรมธรรมดา คือ ของโบราณนั่นเอง เสร็จแล้วก็มาเขียน โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีสำเร็จรูปมาเขียนโน้ตเหมือนคนอื่น นั่งเขียนเอง เวลานี้คนทำงานถวายในเรื่องนี้ คือ คุณดิสธร ลูกชายคุณขวัญแก้ว อย่างตอนนี้เวลาเขียนเรื่องต่างๆ ท่านก็ใช้เครื่องพิมพ์ทั้งนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะเขียน จะแต่งเรื่องเล่นๆ คือ เป็นการทดลอง”
“ยุคแรกๆ นั้น ยังไม่ค่อยมีเรื่องเสียง ท่านก็ทำให้พูด สวัสดีครับ อะไรต่อมิอะไรตั้ง 10 กว่าปี นานแล้ว อีกอย่างที่ทำก็คือ วาดเป็นรูปต่างๆ ใช้วาดภาพ ท่านไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรใหม่ๆ ทำอย่างไรก็ไม่รู้ ใช้ของโบราณนี่แหละ แล้วเอามาทำเอง”
“อย่างที่ทรงเขียนเรื่องพระมหาชนก นี่ท่านวาดได้ภาพพระมหาชนกว่ายน้ำ แล้วมีนางมณีเมขลาเหาะมา (ทรงพระสรวล) อะไรนี่ วาดได้แล้วก็วาด วาดแผนที่ ก็ไม่ได้ใช้โปรแกรมแผนที่อะไรเขียน วาดเป็นแผนที่อินเดีย แล้วท่านก็กะเอาว่า ในชาดกพูดไว้อย่างนี้ ในสมัยใหม่นี้ plot ว่า มันควรจะอยู่ตรงไหน ว่ายน้ำจากตรงไหนไปถึงไหน คนโน้นคนนี้ในเรื่องเดินทางจากไหนไปที่ไหน ขีดในแผนที่สมัยใหม่ว่า มันจะอยู่ในที่ไหน แล้วท่านก็เอาแผนที่อุตุนิยมมา แล้วก็เอามาสันนิษฐานว่า อากาศในวันนั้นควรจะเป็นอย่างไร เทียบกับตอนนั้นที่มีพายุพัดชาวประมงไปขึ้นบังกลาเทศ ท่านบอกว่าลักษณะต้องอย่างนั้น ตอนที่ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ต่างๆ position มันคล้ายกันตรงไหน อะไรต่างๆ ท่านก็เอามาเทียบจากเรื่องชาดกมาเป็นเรื่องสมัยใหม่”
“ท่านก็ใช้ลงในเครื่องพวกนี้อย่างที่ทรงเพลงใหม่ ก็เห็นพิมพ์ในนั้น ดูเหมือนจะมี Word processor แต่ว่าใช้เขียน อย่างเขียนโน้ตเพลงรัก เพลงเมนูไข่ ที่เขียนใหม่ ก็ใช้เครื่องนั้น หรือพิมพ์หนังสืออะไร จะมีเรื่องมีราวอะไร ท่านก็ใช้พิมพ์ พิมพ์เองทั้งนั้น ไม่ต้องอาศัยเสมียนที่ไหน”
“แล้วก็เขียนเรื่องต่างๆ อย่างพระราชดำรัสตอนวันที่ 4 ธันวา ที่คนมาเฝ้าฯ พอเสร็จแล้ว ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านแปลของท่านเอง แล้วพิมพ์ลงในนั้น พิมพ์ไว้ เวลานี้ท่านแต่ง auto-biography อยู่ แต่งถึงไหนก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นของท่านเลย ท่านเขียนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์”.