xs
xsm
sm
md
lg

Artificial Intelligence (AI) จุดพลิกผันอุตสาหกรรม / เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Coding) ที่อยู่ในรูปแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาที่อธิบายเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนที่เราเรียกเป็นภาษาทางเทคนิคว่า Algorithm หรือ 'อัลกอริทึม' นั่นเอง

โดยรูปแบบที่ปรากฏอาจจะเป็นได้ใน 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่เราใช้สื่อสารกันทั่วไป (Natural Language), ลักษณะที่อธิบายด้วยรหัสจำลองหรือรหัสเทียมที่เป็นรหัสที่ได้ตกลงความหมายไว้แล้วตั้งแต่ต้น (Pseudocode) และลักษณะที่อธิบายด้วยแผนผัง (Flowchart)

หากจะยกตัวอย่างการทำงานของ AI อย่างง่าย ก็สามารถยกตัวอย่างที่ AI สามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกโลกด้วยการที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์นำเอาหลักการทำงานของ AI ไปใช้ในการเดินหมากรุกในรูปแบบอัลกอริทึม จนทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจกฎเกณฑ์การเดินหมากรุกทั้งหมด แต่แน่นอนในการรู้กฎเกณฑ์การเดินหมากรุกก็ไม่ได้หมายความว่า คอมพิวเตอร์จะสามารถเอาชนะการแข่งขันหมากรุกกับมนุษย์ในครั้งแรกๆได้ เพราะคอมพิวเตอร์ไม่มีประสบการณ์ที่เคยแพ้หรือชนะมาก่อน เมื่อได้แข่งในครั้งแรกก็ต้อง random การเดินด้วยการเดาแบบสะเปะสะปะจนเกิดประสบการณ์แพ้และชนะ และในการแพ้หรือชนะทุกครั้ง คอมพิวเตอร์จะบันทึกไว้ว่าเดินในรูปแบบใดจึงแพ้ เดินในรูปแบบใดจึงชนะเอาไว้ทุกครั้งในหน่วยความจำ

เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถของสมาร์ทโฟน ในการเชื่อมโยงกับมนุษย์และนำมนุษย์เข้ามาร่วมแข่งขันหมากรุกกับคอมพิวเตอร์นี้ได้จากทั่วทุกมุมโลก จนทำให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้และเก็บประสบการณ์ไว้ในหน่วยความจำอันมหาศาล

อีกทั้งยังมีการพัฒนาปรับปรุงอัลกอริทึมให้สามารถคิดต่อยอดด้วยการนำเอาเกมทุกเกมที่คอมพิวเตอร์พบว่าเป็นเกมส์ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ โดยนำเอามาเชื่อมโยงกันจนทำให้เกิดกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการเอาชนะมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้ง AI ยังมีคุณสมบัติที่โดดเด่นกว่ามนุษย์คือ มันไม่เคยเหนื่อย, ไม่หิว, ไม่โมโห, ไม่มีอารมณ์ใด ๆ จึงทำให้มันไม่มีสิ่งรบกวนในการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลอันมหาศาล (Big Data) อย่างแท้จริง โดยไม่มีการลำเอียงใด ๆ

ดังนั้น เมื่อมันมีฐานข้อมูลการแข่งขันนับล้านๆ ครั้ง จึงทำให้มันเริ่มเก่งกว่ามนุษย์ที่เก่งที่สุดในเกมหมากรุกนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม AI ไม่ได้มีขีดความสามารถหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่นักวิจัยด้าน AI ยังพยายามก้าวไกลออกไปด้วยการพยายามคิดค้นหาวิธีการที่จะออกแบบอัลกอริทึมที่ทำให้คอมพิวเตอร์เชื่อมโยงความรู้ใหม่ ๆ เช่น ด้วยการจับคู่ชุดความรู้ต่าง ๆ (ในทุก combination) แล้วทำการเชื่อมโยงเปรียบเทียบและเรียนรู้ pattern ที่เกิดขึ้นได้ใกล้ความสมบูรณ์แบบ (Machine Learning) จน AI สามารถที่จะวิเคราะห์เรียนรู้เชิงลึกและปรับอัลกอริทึมได้ด้วยตัวมันเอง (Deep Learning) โดยให้มันทำการทำงานประมวลผลตลอดเวลาบนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีข้อมูลมหาศาลที่เราเรียกว่า Big Data

Big Data Analytics ทำให้คอมพิวเตอร์ที่บรรจุอัลกอริทึม AI สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากข้อมูลทั่วทุกมุมโลกในทุกวินาที เมื่อมันได้เรียนรู้ปีแล้วปีเล่า จึงทำให้มันมีขีดความสามารถในการพยากรณ์อนาคตได้แม่นยำมากขึ้นเป็นลำดับ จนมีการคาดการณ์ว่า AI จะถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งจะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนาประเทศอีกด้วย แต่อีกด้านหนึ่งคือ การพลิกผันในทุกอุตสาหกรรม (Disruption) กำลังจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น