xs
xsm
sm
md
lg

ดีป้า เผยผลสำรวจชี้บรอดแบนด์โรงเรียนยังช้า-โรงเรียนขาดนักคอมพ์อย่างรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดีป้า เผยผลสำรวจครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ พบ ครู 65% บ่นเน็ตช้า ส่วนนักเรียนมัธยมมีสมาร์ทโฟนใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่โรงเรียนขาดนักคอมพิวเตอร์อย่างรุนแรง

นางกษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้าได้สำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมการศึกษา ระหว่างเดือน เม.ย.- ก.ค. 2560 ในโครงการ “ผลการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลในอุตสาหกรรมการศึกษา ประจำปี 2559” กับครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสังกัด กทม. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในระดับประถมและมัธยม จำนวน 920 โรงเรียน ทั้งรูปแบบสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 870 คน และสัมภาษณ์ตัวต่อตัว 50 ราย

พบว่าโรงเรียน 99% มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ใช้งาน แต่กลับไม่พอใจความเร็วของการใช้งานถึง 65% ซึ่งครูทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ไอทีได้หลายชนิด ได้แก่ สมาร์ทโฟน, พีซี และโน้ตบุ๊ก ในขณะที่นักเรียนประมาณครึ่งหนึ่งเข้าถึงได้เพียงสมาร์ทโฟนเท่านั้น โดยนักเรียนมัธยมมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้งานมาก แต่นักเรียนประถมยังขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ ยังพบว่าโรงเรียนมีความขาดแคลนนักคอมพิวเตอร์ที่จะให้ความช่วยเหลือบุคลากรในโรงเรียนอย่างรุนแรง โดยโรงเรียนถึง 55% ระบุว่าไม่มีนักคอมพิวเตอร์ในโรงเรียน และโรงเรียนที่เหลือ 45% ระบุว่าทั้งโรงเรียนมีนักคอมพิวเตอร์เพียง 1-2 คนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้พบว่ามีการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลที่ครูสร้างขึ้นเอง โดยมีการแบ่งปันเฉพาะภายในโรงเรียนเท่านั้น 57% แบ่งปันบนยูทูป 5% แบ่งปันบนเว็บไซต์ของหน่วยงานเอกชน 1% แบ่งปันบนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ 1% ไม่ได้แบ่งปัน 5% และไม่เคยสร้างเอง 31%

แม้ว่าครูวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินความสามารถด้านดิจิทัลของตนเองได้ในระดับค่อนข้างดี สามารถเข้าถึง และใช้งานสื่อและทรัพยากรดิจิทัลผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยตนเองได้ แต่ยังขาดการอบรมด้านนี้อย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง ส่วนด้านการใช้สื่อและทรัพยากรดิจิทัลในการเรียนการสอน พบว่าครูใช้สื่อดิจิทัลถึง 50% ของจำนวนคาบเรียนทั้งหมด และครู 55% สามารถสร้างสื่อดิจิทัลเอง และแบ่งปันให้ครูคนอื่น ๆ ในโรงเรียน แต่ยังขาดแพลตฟอร์มในการแบ่งปัน และคัดกรองสื่อที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ

“ครูมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานเพียงพอ ทรัพยากรดิจิทัลที่ครูใช้อย่างมาก ได้แก่ ยูทูป ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ รวมถึงสื่อจากเว็บไซต์ของ สพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ด้านความรู้ด้านไอทีของครูค่อนข้างดี แต่ยังขาดการอบรมที่เพียงพอ และสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการอบรมออนไลน์ หรือจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการที่โรงเรียน โดยวิทยากรผ่านระบบออนไลน์ ส่วนการสร้างทรัพยากรดิจิทัลด้วยตนเองของครูนั้น ยังขาดระบบการแบ่งปันทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการเรียนการสอน ดังนั้น จึงควรมีการพัฒนาระบบคลังทรัพยากรดิจิทัลสำหรับการแบ่งปัน และมีการตรวจสอบคุณภาพทรัพยากรดิจิทัลอย่างเป็นระบบ” นางกษิติธร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น